ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับ
ความหมายของภาษีการรับมรดก
คำว่า “มรดก” ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที โดยมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สินเพื่อความเป็นธรรม จึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา
กองมรดกของผู้ตาย ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม
1. ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลําดับที่กฎหมายกําหนดไว้
2. ทายาทโดยพินัยกรรม ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรม
ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีการรับมรดก
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาตรา 1599 - มาตรา 1755
- พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558
- พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559
|
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับผู้รับมรดก ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้
(1) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย
(2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
(3) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
บุคคลธรรมดาตาม (1) (2) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ
บุคคลตาม (3) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
2. นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ นิติบุคคลที่ถือว่าเป็นบุคคลมี่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้
(1) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ
(2) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย หรือ
(3) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือ
(4) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด
นิติบุคคลตาม (1) – (4) ให้เสียภาษีการรับมรดกจากมรดกที่ได้รับเป็นทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ
3. กรณีผู้ที่ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคลที่มิได้ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตาม 2. แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก มีดังต่อไปนี้
1. อสังหาริมทรัพย์
2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
การคำนวณมูลค่าทรัพย์วันที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
1. อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณมูลค่า ดังนี้
(1) กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งมีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายของประเทศนั้น
(2) กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศซึ่งไม่มีราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้ใช้ราคาที่รับรองโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับการรับรองหรือความเห็นชอบให้เป็นผู้มีสิทธิประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
(3) กรณีอื่น ๆ ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก
3. หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก (2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
4. หลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ใช้มูลค่าดังต่อไปนี้
4.1 หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น เว้นแต่ ในกรณีทรัพย์มรดกที่เป็นหุ้นนั้นเป็นหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งไปถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ให้ถือมูลค่าหุ้นดังนี้
(1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอามูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก ระหว่างมูลค่าดังต่อไปนี้
(ก) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ข) มูลค่าทางบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก ระหว่างราคาหรือมูลค่าดังต่อไปนี้
(ก) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ข) ราคาหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นนั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก
(3) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น เกินกว่า 1 แห่ง ให้ถือเอาราคาหรือมูลค่าที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณมูลค่าของทรัพย์มรดก ระหว่างราคาหรือมูลค่าดังต่อไปนี้
(ก) ให้นับรวมราคาหรือมูลค่าหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ๆ
(ข) มูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
4.2 ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้มูลค่าดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่มีการจำหน่ายครั้งแรกต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายครั้งแรก
(2) กรณีที่มีการจำหน่ายครั้งแรกไม่ต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ให้ใช้ราคาไถ่ถอน
4.3 หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้นในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก
4.4 หลักทรัพย์อื่น ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าในวันที่ได้รับมรดก
5. ยานพาหนะ
(1) รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ให้ใช้ราคาประเมินราคารถสำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้คำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ย ระหว่างราคาประเมินสูงสุด และราคาประเมินต่ำสุดของราคาประเมินรถ ในกรณีไม่มีมูลค่าตามราคาประเมินให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
สำหรับมูลค่าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้น ๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
(2) เรือ หรือเครื่องบิน ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้น ๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
(3) กรณีนอกเหนือจาก (1) และ (2) ให้ถือตามราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก
6. เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน หรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ การคำนวณมูลค่าให้ถือเอามูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้น
กรณีมูลค่ามรดกที่ได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย โดยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ซื้อขายกับลูกค้า ซึ่งเป็นอัตราซื้อถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศและเผยแพร่เมื่อสิ้นวันทำการของแต่ละวัน ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย เพื่อคำนวณภาษีการรับมรดกสำหรับมรดกที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศ
การยกเว้นภาษีการรับมรดก
การยกเว้นภาษีการรับมรดกตามประเภทหรือรายชื่อที่กำหนดในกฎกระทรวง มีดังนี้
1. บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
2. หน่วยงานของรัฐ และนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
3. บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญา หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
การคำนวณภาษีและอัตราภาษีการรับมรดก
อัตราภาษี
ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดกสุทธิที่ต้องเสียภาษี
วิธีการคำนวณภาษี
1.
|
มูลค่ามรดกที่ได้รับทั้งสิ้น |
X X X , X X X , X X X . –
|
2.
|
หัก ภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดก |
X X X , X X X , X X X . –
|
3.
|
หัก มูลค่ามรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี |
1 0 0 , 0 0 0 , 0 0 0 . –
|
4.
|
มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี |
X X X , X X X , X X X . –
|
เบี้ยปรับ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียเบี้ยปรับในกรณี ดังนี้
1. กรณีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ
2. กกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.50 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ
เงินเพิ่ม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.50 ต่อเดือนโดยไม่รวมเบี้ยปรับ สำหรับการคำนวณเงินเพิ่ม ให้เริ่มนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ยื่นแบบและชำระภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ
การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการรับมรดก
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษี โดยให้พิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และสามารถยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งหรือ ณ สถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกำหนด
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายก่อนครบกำหนดเวลายื่นแบบ โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.50 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แทนผู้ตายภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายเมื่อครบกำหนดเวลา โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.50 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แทนผู้ตายภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โดยเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน
ในกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.50 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน
การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาดำเนินการแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษี ให้กระทำภายใน 180 วัน หากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาดำเนินการแทน ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี ภายใน 150 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 180 วัน ในกรณีที่มีทายาทหลายคน ให้ทายาทตกลงมอบให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป
การผ่อนชำระภาษีการรับมรดก
ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นคำร้องขอผ่อนชำระ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ณ สถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกำหนด
การผ่อนชำระภาษี มีดังนี้
1. การขอผ่อนชำระภาษี ภายใน 2 ปี ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม สำหรับเงินเพิ่มที่อาจคำนวณได้ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระภาษีนั้น
2. การผ่อนชำระที่เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.50 ต่อเดือน
3. การผ่อนชำระภาษี สามารถผ่อนชำระภาษีให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดเวลาที่ขอผ่อนชำระภาษีได้
4. กรณีผู้ผ่อนชำระภาษี ผิดนัดชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง ให้ผู้ผ่อนชำระภาษีหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษีและต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งจำนวนพร้อมเงินเพิ่ม
กรณีห้ามผ่อนชำระภาษี หากพบว่ามูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 หรือพบว่ามีรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีหรือแสดงไว้เป็นเท็จ
การยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษี ต้องแจ้งรายละเอียดการผ่อนชำระภาษีในคำร้องขอผ่อนชำระ มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. จำนวนปีที่จะผ่อนชำระภาษีต้องไม่เกิน 5 ปี
2. จำนวนงวดที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี โดยกำหนดเป็นงวดรายเดือน งวดราย 3 เดือน งวดราย 6 เดือน หรืองวดราย 12 เดือน
3. จำนวนเงินที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี
4. จำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวด โดยมีจำนวนเงินเท่ากันทุกงวด ซึ่งเฉลี่ยตามจำนวนที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี
5. หลักประกันการผ่อนชำระภาษี ต้องไม่มีภาระผูกพันและมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ได้แก่
(1) หนังสือค้ำประกัน ของสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยให้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันต่อกรมสรรพากร
(2) ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ผ่อนชำระภาษี หรือของบุคคลอื่นโดยจดทะเบียนจำนองไว้ต่อกรมสรรพากร
(3) กรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดของผู้ผ่อนชำระภาษีหรือของบุคคลอื่น โดยจดทะเบียนจำนองไว้ต่อกรมสรรพากร
(4) พันธบัตรรัฐบาลของผู้ผ่อนชำระภาษี หรือของบุคคลอื่น โดยทำสัญญาจำนำไว้ต่อกรมสรรพากร
ผู้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระต้องจัดให้มีหลักประกัน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ยื่นคำร้อง หากไม่มีหลักประกันอย่างครบถ้วนตามที่แจ้งไว้ภายในกำหนดเวลา ให้สิทธิการผ่อนชำระภาษีสิ้นสุดลง
การขอคืนภาษีการรับมรดก
ในกรณีผู้ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ชำระภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือได้ชำระไว้เกินกว่าที่ต้องเสีย ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษี
ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดกที่ยื่นคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก โดยใช้คำรองขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เป็นแบบคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก ภายใน 5 ปีนับแต่วันชำระภาษีทั้งหมดต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
1. ใบเสร็จรับเงินภาษีการรับมรดก
2. หลักฐานแสดงการเสียภาษีการรับมรดกไว้เกิน
3. หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน
กรมสรรพากรจะพิจารณาคืนเงินภาษี พร้อมกับหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) ตามที่อยู่ที่ระบุในคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) และในการขอรับเงินคืนภาษีไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่คืน
การอุทธรณ์ภาษีการรับมรดก
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหากไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี โดยยื่นแบบคำอุทธรณ์ (ภ.ม.6) โดยให้พิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และสามารถยื่นแบบคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. สำนักอุทธรณ์ภาษี กรมสรรพากร
2. สำนักงานสรรพากรภาคแห่งใดแห่งหนึ่ง
3. สำนักงานสรรพากรพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (อาจขยายได้แต่ไม่เกิน 90 วัน) โดยจัดทำคำวินิจฉัยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย แต่หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากร ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์
บทกำหนดโทษ
1. บุคคลธรรมดา
(1) หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
(2) หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(3) หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
(4) หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. นิติบุคคล
หากผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคล ต้องรับโทษ โดยถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
ที่มา : กรมสรรพากร http://www.rd.go.th/publish/27614.0.html