คำวินิจฉัยย่อ
การขีดฆ่าแสตมป์ไม่จำต้องลงวันเดือนปีกำกับไว้ เพียงแต่ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ก็ใช้ได้ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่มิให้นำไปใช้ได้อีก.
คำพิพากษา
โจทก์ก็ฟ้องว่าโจทก์ก็เป็นนิติบุคคลประเภทวัดอาราม มีพระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจกระทำการแทน และมอบอำนาจให้นายสันติฟ้องคดีแทน โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ /3898แขวงกัลยาณ์ เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 14 ตารางวา เพื่อปลูกสร้างบ้านเลขที่ 566 และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว ต่อมาโจทก์ก็มีความประสงค์จะใช้พื้นที่ที่จำเลยเช่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงมีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลย โดยให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่า แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 566 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์หากจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 566 แขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 แขวงวัดกัลป์ยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีพระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าอาวาสโจทก์มอบอำนาจให้นายสันติฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ตำบลวัดกัลป์ยาณ์ (บางกอกใหญ่ฝั่งใต้) อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์ โดยทำสัญญาเช่าปีต่อปี โจทก์ขยายเวลาเช่าให้ครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แต่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนบ้านเลขที่ 566 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ของโจทก์ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ก็ไม่ได้ลงวัน เดือน ปีกำกับบนอากรแสตมป์หลังจากขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จึงไม่อาจรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 103 ให้ความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” หมายความว่า “การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกโดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงรายชื่อห้างร้านบนแสตมป์หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปีที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย...” ดังนั้น การระบุวัน เดือน ปี พร้อมขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็เพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใดเท่านั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์มิให้นำไปใช้ได้อีก เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันที่ เดือน ปี กำกับด้วย ก็ถือว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก็มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ไม่มีกฎกระทรวงฉบับใดให้เจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับศาสนสมบัติของวัด ดังนั้น การฟ้องขับไล่คดีนี้จึงต้องดำเนินการโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมิใช่โจทก์ เห็นว่า โจทก็เป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการทั่วไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505มาตรา 31 แม้กฎกระทรวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 จะมิให้กำหนดวิธีการจัดการศาสนสมบัติของวัดเกี่ยวกับการฟ้องคดีไว้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบแล้วว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก็กับจำเลยระงับลงโดยโจทก์แจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลย อันเป็นการปฏิบัติตามพะราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 40 วรรคสาม ว่าด้วยการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในเรื่องการเช่าแล้วและเมื่อสัญญาเช่าที่ดินเลิกกัน โจทก์ในฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการทั่วไป ผู้แทนของโจทก์ย่อมมีอำนาจดำเนินการกิจการใดๆอันเกี่ยวกับการจัดการศาสนสมบัติของวัดแทนโจทก์ได้ ดังนั้น การจัดการทรัพย์สินของวัดซึ่งรวมทั้งการฟ้องขับไล่จำเลยเป็นดคีนี้จึงเป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัดโจทก์ที่จะดำเนินการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืนยัน
(ธงชัย เสนามนตรี – อภิรัตน์ สัดพลี –กฤษฎิ์จิรัฐ คุณาจิรภรณ์)
หมายเหตุ
ตราสารที่ระบุไว้ในอัตราบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีอัตราอากรแสตมป์และขีดฆ่าแล้ว (ประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และ มาตรา 118)
ขอให้สังเกตว่าการที่จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ นอกจากจะต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วยังต้องขีดฆ่าด้วย คำว่า “ขีดฆ่า” หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกโดยในกรณีปิดแสตมป์ทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านั้นด้วย ( ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 ) กฎหมายใช้คำว่า “และ” แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นกรณีลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ต้องมีการลงวันเดือนปีเสมอ เหตุที่ต้องมีการลงวันเดือนปีในแสตมป์เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้รู้ว่ามีการปิดแสตมป์บริบูรณ์ก่อนหรือในทันทีที่ทำตราสารหรือไม่ หากมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ก่อนหรือในทันทีที่ทำตราสาร พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากร ซึ่งอาจเป็น 6 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสีย ฉะนั้น ที่ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ไม่ได้ลงวันเดือนปีในแสตมป์ก็ถือว่าหนังสือมอบอำนาจรับฟ้งเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 118 ด้วยความเคารพผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วย ความเห็นดังกล่าวอาจเปิดช่องให้ไม่ปิดแสตมป์ก่อนหรือในทันทีที่กระทำตราสาร ทำให้รัฐเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่มา : สรรพากรสาสน์