ความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้
เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นวิธีการจัดเก็บภาษีล่วงหน้าอย่างหนึ่ง โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่ตนจ่ายให้แก่ผู้รับทุกคราวที่มีการจ่ายเงินได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด แล้วจึงนำเงินนั้นส่งรัฐ เงินภาษีที่ได้หักและนำส่งถือเป็นเครดิตภาษีที่ผู้มีเงินได้สามารถนำไปใช้เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีกลางปีหรือสิ้นปีมีผลเท่ากับว่าเสียล่วงหน้าไปแล้ว ก็มีสิทธินำมาเครดิตทันทีเพื่อยื่นรายการ และถ้าปรากฏว่าภาษีที่หักไว้สูงกว่าภาษีที่ต้องชำระเมื่อยื่นรายการ ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอคืน แต่ถ้าภาษีที่หักไว้ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระก็ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม นอกจากนี้ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ยังทำให้เกิดสิทธิที่จะไม่ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ตอนสิ้นปี เช่น กรณีดอกเบี้ย เงินปันผล และเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในบางกรณี เป็นต้น[1]
สาระสำคัญความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
ความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
ประมวลรัษฎากร มาตรา 54 บัญญัติว่า “ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักเงินภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว”
จากบทบัญญัติดังกล่าว กรณีความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณาดังนี้
1. หน้าที่ของผู้จ่ายเงิน[2] กฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย มีหน้าที่ดังนี้
(1) หักภาษีจากเงินที่จ่าย เมื่อจ่ายให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้
(2) นำส่งภาษีพร้อมกันการยื่นแบบแสดงรายการ
(3) หน้าที่อื่นๆ เช่น ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และใช้เลขประจำตัวภาษี แจ้งข้อความอื่นๆ เกี่ยวกับผู้มีเงินได้
2. ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกกรณีจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้นำประเมินที่จ่ายและนำส่งเป็นค่าภาษีก่อนเสมอ ไม่ว่าการจ่ายเงินนั้นจะเกิดขึ้นจากคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หรือตามกฎหมาย หรือเหตุอื่นใดก็ตาม หมายความว่า จะอ้างคำสั่งหรือคำบังคับของศาลหรือสิทธิตามกฎหมายหรือเหตุใดๆ เพื่อไม่หักภาษีจากเงินที่จ่ายไม่ได้ ]3
ข้อสังเกต ถ้าเป็นกรณีผู้จ่ายเงินมีข้อตกลงออกภาษีให้ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนโดยไม่ต้องหักภาษีจะนำมาตรา 3 จตุทศ แห่งประมวลรัษฎากร มาอ้างในกรณีไม่ได้[4]
3. การจ่ายเงินได้ที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดจะมีหลักในการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร
(1) กรณีที่จ่ายเป็นเช็ค ต้องหักภาษีตามวันที่ที่ลงในเช็ค ดังนั้น ถ้าเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ควรเขียนยอดสุทธิหลังจากหักภาษีแล้ว พอเช็คถึงกำหนดก็นำภาษีไปส่งได้
(2) กรณีที่จ่ายด้วยทรัพย์สิน กฎหมายได้ระบุไว้ว่า “เงินได้พึงประเมิน” หมายความรวมถึง เงินสด ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ ผู้จ่ายต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นเป็น “เงิน” แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย
4. ถ้าผู้จ่ายเงินได้ไม่ได้หักภาษีจะต้องนำส่งภาษีหรือไม่ กรณีดังกล่าวกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากรว่า “ต้องนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง.....ไม่ว่าตนจะได้หักภาษีไว้แล้วหรือไม่” ดังนั้น ผู้จ่ายเงินต้องนำเงินภาษีไปส่งเสมอ แม้จะไม่ได้หักภาษีไว้หรือหักขาด
5. ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งอำเภอตามบทบัญญัติดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
5.1 ความรับผิดทางแพ่ง
กรณีผู้จ่ายเงินได้ต้องร่วมรับผิดกับผู้มีเงินได้
(1) กรณีมิได้หักและนำส่งภาษีเลย
(2) กรณีหักและนำส่งภาษีไว้ไม่ครบถ้วน
ความรับผิดร่วมตามข้อนี้ หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้ต้องร่วมรับผิดกับผู้มีเงินได้ในฐานะลูกหนี้ร่วม กล่าวคือ ถ้าเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ไม่ได้ก็ให้เรียกเก็บจากผู้จ่ายเงินได้ตามจำนวนภาษีที่มิได้หักและหรือหักแล้วแต่นำส่งไม่ครบถ้วน กรณีที่ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เลย หรือหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วน ให้ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้รับผิดร่วมกันในจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่มิได้หักและมิได้นำส่ง
กรณีผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดแต่ผู้เดียว
(1) กรณีหักภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้วแต่ไม่นำส่ง
(2) กรณีหักภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้วแต่นำส่งไม่ครบถ้วน
ความรับผิดตามข้อนี้ หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้จะต้องรับผิดในจำนวนภาษีที่หักไว้แล้วแต่ไม่นำส่งและหรือนำส่งไม่ครบถ้วน สำหรับผู้มีเงินได้จะพ้นความรับผิดในจำนวนเงินภาษีเท่าจำนวนที่ถูกหักไว้ กรณีนี้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนั้นแต่ฝายเดียว
กรณีความรับผิดเกี่ยวกับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
เงินภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่าย ถ้าไม่หักหรือหักแล้วไม่นำส่งภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันจ่ายเงินหรือภายใน 7 วันนับแต่สิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องนำส่ง แต่เงินเพิ่มดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่นำส่ง
ข้อสังเกต กรณีที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย แม้ต่อมา ผู้เสียภาษีได้นำภาษีไปชำระแล้วก็ตาม ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามาตรา27 แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวอย่าง กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับเงินเนื่องจากการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรทุกคราวที่มีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้จ่ายเงินไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำเงินส่งกรมสรรพากรต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินที่มิได้หักและนำส่งตามมาตรา 54 อย่างไรก็ดี หากผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้พึงประเมินซึ่งได้รับจากผู้จ่ายเงินและชำระเงินภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว ผู้จ่ายเงินได้จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ภาษีเฉพาะที่เป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักและนำส่งเท่านั้น แต่การที่ผู้จ่ายเงินได้มิได้หักและนำเงินภาษี ณ ที่จ่ายภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (1) ผู้จ่ายเงินได้จึงยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ตามมาตรา 27 โดยการคำนวณเงินเพิ่มนั้น ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดนำส่งภาษีจนถึงวันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีครบถ้วนถูกต้องแล้ว[5]
5.2 ความรับผิดทางอาญา
[1] อาภรณ์ นารถดิลก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ศูนย์ศึกษากฎหมายภาษีอากร มีนาคม 2541 หน้า 3-1
[3]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2530
[5]หลักที่ได้จากธงคำตอบข้อสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ. 2558 วิชากฎหมายภาษีอากร ข้อ 7 (ข) สอบวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2559
ที่มา : สรรพากรสาสน์