ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ?
ผู้สอบบัญชีภาษีอากร หมายถึง ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรที่ขอขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร โดยสามารถ ตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับ ยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 (ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นดังกล่าว มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท)
ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจึงเป็นวิชาชีพอิสระ บุคคลที่จะขอขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการทดสอบตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2544 เรื่องกำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้ที่จะขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1.1 สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี หรือประกาศนียบัตรทางการบัญชี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการหรือทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรับรองเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าปริญญาดังกล่าว
1.2 มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
1.3 มีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สอบบัญชีในประเทศนั้นได้
1.4 ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
1.5 ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีเกี่ยวกับภาษีอากรหรือคดีอื่นที่อธิบดีเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
1.6 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
1.7 ไม่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต
2. ต้องผ่านการทดสอบตามที่อธิบดีกำหนด
บุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตาม 1 และมีความประสงค์จะขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องผ่านการทดสอบในวิชาดังต่อไปนี้
2.1 วิชาการบัญชี
2.2 วิชาการสอบบัญชี
2.3 ความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
ดังนั้น ผู้ที่ผ่านการทดสอบ 3 วิชา คือ วิชาการบัญชี วิชาการสอบบัญชี และความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากรและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สามารถมาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่ออธิบดีกรมสรรรพากรได้
ในการขอเข้ารับการทดสอบ ผู้ขอเข้ารับการทดสอบต้องชำระค่าธรรมเนียมในการ
ทดสอบวิชาละ 500 บาทและไม่จำเป็นต้องสอบทั้ง 3 วิชาในคราวเดียวกัน โดยสามารถสะสมผลการทดสอบของแต่ละวิชาที่สอบผ่านได้ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ผ่านการทดสอบ ซึ่งเกณฑ์การตัดสินวิชาที่ถือว่าผ่านการทดสอบจะต้องได้คะแนนในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ผู้ขอเข้ารับการทดสอบจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในการทดสอบ กรมสรรพากรได้กำหนดขอบเขตของวิชาที่ต้องทดสอบ โดยมีเนื้อหาสาระครอบคลุมในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งท่านสามารถศึกษาจากขอบเขตดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเข้าทดสอบ โดยเข้าเว็ปไซต์ กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th
ปัจจุบันกรมสรรพากรจะทำการเปิดให้ผู้ที่มีความสนใจยื่นคำขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเปิดรับสมัครประมาณเดือนมกราคมและทดสอบประมาณเดือนมีนาคม ครั้งที่สองจะเปิดรับสมัครเข้ารับการทดสอบประมาณเดือนกรกฎาคมและทดสอบประมาณเดือนกันยายน ของทุกปี
ในการสมัครเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร เดิมกรมสรรพากรได้เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอเข้าทดสอบได้ 2 วิธี คือ สมัครด้วยตนเองที่กรมสรรพากร และสมัครทางไปรษณีย์ แต่ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุค IT เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการสมัครเข้ารับการทดสอบครั้งที่ 5(2/2546) กรมสรรพากรจึงได้เปิดรับสมัครเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรทางอินเทอร์เน็ตเพียงทางเลือกเดียว โดยผู้ขอเข้ารับการทดสอบที่จบการศึกษาในประเทศ ไม่ต้องนำส่งเอกสารหลักฐานในการยื่นคำขอเข้าทดสอบใด ๆ จนกว่าจะเป็นผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร สำหรับผู้ขอเข้ารับการทดสอบที่จบการศึกษาจากต่างประเทศและขอเข้ารับการทดสอบครั้งแรกต้องนำส่งสำเนาเอกสารปริญญาบัตร ใบแสดงผลการศึกษารายวิชา (Transcript) และคู่มือการศึกษาตามหลักสูตรอย่างละ 3 ชุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร คุณวุฒิการศึกษาและขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ต้องทดสอบ กรมสรรพากรจะมีการ ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเสมอ ดังนั้น หากท่านต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมขอให้เข้าเว็ปไซต์กรมสรรพากรในช่วงระยะเวลาที่มีการเปิดรับสมัครเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
3. การขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร
เมื่อท่านมีคุณสมบัติและผ่านการทดสอบครบทั้ง 3 วิชาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด จะต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรด้วยตนเองด้วยแบบคำขอขึ้นทะเบียนผู้สอบบัญชีภาษีอากร (แบบ บภ.02) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจำนวน 200 บาท ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบ โดยจะต้องนำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ยื่นพร้อมกับแบบคำขอขึ้นทะเบียน ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (แบบ บภ.02) ดังนี้
3.1 ใบปริญญาบัตร
3.2 ใบแสดงผลการศึกษารายวิชา (Transcript)
3.3 ใบรับรองคุณวุฒิการศึกษาจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและ
ทบวงมหาวิทยาลัย (กรณีจบการศึกษาจากต่างประเทศ)
3.4 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการที่มีเลขบัตรประชาชนพร้อมทั้ง
ทะเบียนบ้าน
3.5 บัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
3.6 ใบเปลี่ยนแปลงชื่อ – ชื่อสกุล (ถ้ามี)
3.7 ใบสำคัญการจดทะเบียนสมรส หรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี)
3.8 รูปถ่ายปกติ หน้าตรง แต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ถ่ายในคราวเดียวกัน ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป และขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป
3.9 บัตรประจำตัวสอบ (ถ้ามี)
3.10 เอกสารของผู้ให้คำรับรองตามแบบคำขอขึ้นทะเบียนผู้สอบบัญชีภาษีอากร
(1) ผู้รับรองเป็นข้าราชการระดับ 7 ขึ้นไป หรือผู้รับรองเป็นข้าราชการทหารตั้งแต่ยศพันเอกขึ้นไป หรือผู้รับรองเป็นข้าราชการตำรวจตั้งแต่ยศพันตำรวจเอกขึ้นไป
ให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ กรณีบัตรข้าราชการไม่ระบุระดับ (ข้าราชการครู) ให้รับรองสำเนาบัตรว่าเป็นระดับใดในปัจจุบัน
(2) ผู้รับรองเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ให้แนบสำเนาใบทะเบียนของผู้สอบบัญชีและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
(เอกสารข้อ 3.1 – 3.7 ให้นำตัวจริงพร้อมสำเนาภาพถ่ายอย่างละ 1 ฉบับ ยกเว้นข้อ 3.2 ให้นำสำเนามา 2 ฉบับ)
เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรได้อนุมัติให้รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรแล้ว ใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 5 ปี
ที่มา : http://www.rd.go.th/publish/20751.0.html