เลขที่หนังสือ
: กค 0811/พ.02289
วันที่
: 11 มีนาคม 2542
เรื่อง
: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายบัตรแลกรับบริการล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย
: มาตรา 3 เตรส, มาตรา 40, มาตรา 50, มาตรา 65, มาตรา 65 ตรี, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา
78/1, มาตรา 79, มาตรา 82/3, มาตรา 82/5, มาตรา 86, มาตรา 105, คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ
: 1. บัตรแลกรับบริการ (ValuePlus Package Coupon) ที่ลูกค้าได้ซื้อไปจะมีมูลค่า
ประมาณร้อยละ 70 ของราคาค่าบริการในการตรวจเช็คตามระยะในแต่ละครั้ง (ลูกค้าจะได้รับส่วนลด
ร้อยละ 30 จากการซื้อบัตรแลกรับบริการ) ดังนั้น หลังจากที่ลูกค้าได้ชำระมูลค่าบัตรแลกรับบริการพร้อม
ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต่อมาลูกค้าได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คสภาพตามเงื่อนไขในบัตรแลกรับบริการ และนำ
บัตรแลกรับบริการมาชำระแทนเงินสด
1.1 บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับสินค้า (Invoice) สำหรับค่าบริการที่เกิดขึ้น
จำนวนใด
1.2 บริษัทฯ จะต้องแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี ณ จุดที่เกิด
รายรับอีกหรือไม่ อย่างไร
1.3 บริษัทฯ จะต้องออกใบรับให้กับลูกค้าอีกหรือไม่
1.4 ในการชำระค่าบริการตรวจเช็คตามระยะตามปกติ ถ้าลูกค้าเป็นนิติบุคคลหรือ
หน่วยราชการจะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการดังกล่าวหรือไม่ และกรณีลูกค้าซื้อบัตรแลกรับ
บริการและนำมาใช้ ลูกค้าจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อใด ด้วยฐานรายรับใด
2. กรณีลูกค้าไปรับบริการตรวจเช็คตามระยะที่ศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) และใช้
บัตรแลกรับบริการชำระราคาค่าบริการตรวจเช็คระยะดังกล่าว ศูนย์บริการตัวแทนจะเรียกเก็บค่าบริการ
ตรวจเช็คระยะของลูกค้ารายนั้นเต็มตามราคาค่าบริการตามปกติมายังบริษัทฯ
2.1 ใบกำกับสินค้า (Invoice) ที่ศูนย์บริการตัวแทนออก ณ ขณะที่ลูกค้าชำระ
ค่าบริการด้วยบัตรแลกรับบริการนั้น จะออกในนามบริษัทฯ หรือในนามลูกค้า และจะต้องแสดงจำนวน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษีด้วยหรือไม่
2.2 ในกรณีที่ศูนย์บริการตัวแทนต้องออกใบกำกับสินค้าและใบกำกับภาษีให้บริษัทฯ
บริษัทฯสามารถที่จะถือเอาภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว เป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้หรือไม่ และบริษัทฯ มีหน้าที่
ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
3. กรณีบริษัทฯ นำบัตรแลกรับบริการใช้ในการส่งเสริมการขาย โดยใช้เป็นรางวัลใน
การชิงโชคในกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผู้รับรางวัล
โดยคำนวณภาษีจากฐานใด และบริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการที่แจก
เป็นรางวัลหรือไม่ และฐานที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเป็นฐานเดียวกับที่ใช้ในการคำนวณ
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่
4. กรณีบริษัทฯ ให้บัตรแลกรับบริการเป็นของแจกเพื่อการส่งเสริมการขายหรือนำไป
บริจาคให้แก่หน่วยงานราชการ บริษัทฯ จะถือเอามูลค่าของบัตรแลกรับบริการเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
และบริษัทฯ จะมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง
5. กรณีบริษัทฯ ใช้บัตรแลกรับบริการเป็นของแถมไปพร้อมกับการขายรถยนต์ บริษัทฯ
จะถือเอาบัตรแลกรับบริการเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
6. กรณีการขายบัตรแลกรับบริการโดยลดราคา เพื่อส่งเสริมการขายหรือการ
ให้บริการของบริษัทฯ ส่วนลดดังกล่าวอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
7. กรณีการขายบัตรแลกรับบริการผ่านผู้จำหน่ายของบริษัทฯ เมื่อผู้จำหน่ายส่งเงินค่า
ขายบัตรกลับมายังบริษัทฯ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อลูกค้าผู้ถือบัตรเข้ารับบริการตรวจ
เช็คสภาพรถยนต์จากศูนย์บริการของผู้จำหน่ายและชำระราคาค่าบริการด้วยบัตรแลกรับบริการ ผู้จำหน่าย
ก็จะเรียกเก็บค่าบริการเต็มราคามายังบริษัทฯ ในกรณีนี้ ผู้จำหน่ายจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก
หรือไม่
แนววินิจฉัย
: 1. ตามข้อ 1.1 ข้อ 1.2 และข้อ 1.3 การให้บริการในการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ตาม
ระยะตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) นั้น เนื่องจากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการ
ให้บริการดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่มีการให้บริการจริง กล่าวคือ เมื่อลูกค้าได้ชำระเงินเพื่อซื้อคูปอง อัน
เข้าลักษณะเป็นการชำระราคาค่าบริการล่วงหน้า ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
จึงต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการรับชำระค่าบริการล่วงหน้าคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตาม
มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยื่นแบบแสดงรายการในเดือนภาษีที่ได้รับชำระราคานั้น บริษัทฯ มี
หน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีทันทีที่ได้รับชำระเงินดังกล่าว ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และมี
หน้าที่ต้องออกใบรับ ตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ให้บริการจริงตาม
คูปองดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการดังกล่าวอีกแต่อย่างใด
2. ตามข้อ 1.4 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้จ่ายเงินได้ที่เป็น
ค่าจ้างทำของให้กับผู้รับซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหัก
ไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินค่าจ้างทำของล่วงหน้าที่ลูกค้าได้จ่ายไปขณะที่ลูกค้าได้ซื้อคูปองนั้น ทั้งนี้
ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
ส่วนกรณีผู้จ่ายเงินเป็นรัฐบาลองค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการ
ส่วนท้องถิ่นได้จ่ายเงินได้ที่เป็นค่าจ้างทำของให้กับผู้รับซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1 ของเงินค่าจ้างทำของล่วงหน้าที่ได้จ่ายไปในขณะที่
ลูกค้าได้ซื้อคูปองนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 69 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร
3. ตามข้อ 2. และข้อ 7. กรณีลูกค้าได้นำรถยนต์ไปรับบริการที่ศูนย์บริการตัวแทน
(Dealer) ที่อยู่ในโครงการบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) หรือศูนย์บริการของผู้จำหน่าย เนื่องจากการ
ให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) หรือศูนย์บริการ
ของผู้จำหน่าย โดยการให้บริการของศูนย์บริการดังกล่าว จะเป็นไปตามคำสั่งของบริษัทฯ และตาม
เงื่อนไขในบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ดังนั้น กรณีที่ลูกค้านำรถยนต์ไปรับบริการที่ศูนย์บริการตัวแทน
(Dealer) หรือศูนย์บริการของผู้จำหน่าย ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการ
ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าศูนย์บริการดังกล่าวจะได้รับชำระราคาค่าบริการจากบริษัทฯ ศูนย์บริการ
ดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าในขณะให้บริการ แต่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับ
บริษัทฯ เมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการจากบริษัทฯ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86 และมาตรา 78/1 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ใบกำกับภาษีดังกล่าว ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงิน
ที่เป็นค่าจ้างทำของให้กับศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) หรือศูนย์บริการของผู้จำหน่าย บริษัทฯ
ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 8
(2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
4. ตามข้อ 3. บัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลใน
การชิงโชค บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ในขณะที่
บริษัทฯ ได้มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลในการชิงโชคแต่ประการใด แต่ความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลในการชิงโชค
ดังกล่าวจะเกิดเมื่อได้ใช้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1
(1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้ให้บริการตามบัตรแลกรับบริการ
(คูปอง) ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยื่น
แบบแสดงรายการในเดือนภาษีที่ได้ใช้บริการตามคูปองนั้น และบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้
มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลในการชิงโชค บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตาม
มูลค่าที่ปรากฏบนบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.31/2534 ฯ
ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2534
5. ตามข้อ 4. และข้อ 5. กรณีบริษัทฯ แจกบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) เพื่อส่งเสริม
การขาย หรือนำไปบริจาคให้แก่ส่วนราชการ หรือแถมพร้อมกับการจำหน่ายรถยนต์ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่
ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ในขณะที่บริษัทฯ ได้แจกหรือบริจาคหรือ
แถมแต่อย่างใด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้
แจกหรือบริจาคหรือแถมดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) นั้น ทั้งนี้
ตามมาตรา 78/1 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้ให้บริการตาม
คูปองดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยื่น
แบบแสดงรายการในเดือนภาษีที่ได้ใช้บริการตามคูปองนั้น และเนื่องจากคูปองที่แจกหรือบริจาคหรือแถม
ดังกล่าวมิใช่รางวัลจากการประกวด การแข่งขันหรือการชิงโชค บริษัทฯ ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ
ที่จ่าย และนำส่ง ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และรายจ่าย
ที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปสำหรับการให้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) เพื่อส่งเสริมการขายดังกล่าว
บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 65 และมาตรา 65
ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
6. ตามข้อ 6 กรณีบริษัทฯ ได้ขายบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) โดยลดราคาเพื่อส่งเสริม
การขายเนื่องจากการจ่ายเงินเพื่อแลกซื้อบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) เป็นการชำระราคาค่าบริการ
ล่วงหน้า แม้จะไม่เป็นส่วนลดให้ในขณะให้บริการแต่ก็เป็นส่วนลดที่บริษัทฯ ได้ลดให้ก่อนการให้บริการ
ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้หักส่วนลดออกจากราคาค่าบริการที่เรียกเก็บล่วงหน้าดังกล่าว โดยได้แสดงให้เห็น
ไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ส่วนลดที่บริษัทฯ ได้ลดให้ทันที
ดังกล่าวไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีจากการให้บริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้
: 62/27634
เลขที่หนังสือ
: กค 0811/พ.13044
วันที่
: 4 กันยายน 2541
เรื่อง
: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายบัตรแลกรับบริการล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย
: มาตรา 65, มาตรา 77/1(10), มาตรา 78/1(1), มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ฯ
ข้อหารือ
: บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจัดจำหน่ายรถยนต์ ยี่ห้อ A. อะไหล่ และให้บริการซ่อม ผ่าน
โชว์รูมและศูนย์บริการซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของเอง และศูนย์บริการซึ่งดำเนินการโดยนิติบุคคลอื่น และ
ผู้จำหน่าย (dealers)ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจถดถอย บริษัทฯ
จึงได้จัดทำโครงการบัตรแลกรับบริการ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของลูกค้าในส่วนของค่าใช้จ่ายตรวจ
เช็คสภาพรถตามระยะ (value plus package) โดยลูกค้าในโครงการฯ จะจ่ายเพียงประมาณ
ร้อยละ 70 ของราคาปกติเท่านั้น ลูกค้าสามารถซื้อบัตรแลกรับบริการได้จากโชว์รูมและศูนย์บริการ A.
ทั่วประเทศ โดยเลือกซื้อตามช่วงระยะทางที่ลูกค้าเห็นว่าเหมาะสมกับสภาพการใช้รถของตน และ
ชำระเงินตามราคาที่ปรากฏในตารางพร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กับพนักงานของโชว์รูมหรือศูนย์บริการนั้น ๆ
เงินที่โชว์รูมหรือศูนย์บริการนั้นรับมาก็จะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทฯ บริษัทฯ ก็จะออกบัตรแลกรับ
บริการพร้อมใบเสร็จรับเงินส่งไปยังโชว์รูมหรือศูนย์บริการเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าต่อไปบัตรแลกรับบริการ
หนึ่งชุดจะประกอบด้วยคูปองย่อยหกฉบับแต่ละฉบับใช้แลกบริการ ตรวจเช็คเมื่อครบระยะทาง คูปองย่อย
แต่ละฉบับจะปรากฏข้อความ เลขที่ ระยะตรวจเช็ค ชื่อลูกค้า รุ่น แบบ สี หมายเลขตัวถัง และ
หมายเลขทะเบียนของรถ วันที่ออกบัตรแลกรับบริการ วันที่บัตรหมดอายุ (ประมาณ 4 ปี) เมื่อลูกค้านำ
รถมารับบริการและแสดงบัตรรับแลกบริการ หากเป็นรถที่อยู่ในระยะประกันผลิตภัณฑ์ (warranty
period) ลูกค้าไม่ต้องจ่ายค่าแรง คงจ่ายเฉพาะค่าอะไหล่เท่านั้น หากซ่อมนอกเหนือจากนี้ลูกค้าต้อง
จ่ายเงินเพิ่มโดยได้รับส่วนลดร้อยละ 10 สำหรับค่าบริการและอะไหล่ โดยศูนย์จะออกใบสั่งซ่อมอีกใบ
หนึ่งต่างหาก ในกรณีที่ลูกค้าซื้อบัตรแลกรับบริการจากศูนย์บริการมอบอำนาจหรือจากผู้จำหน่าย (
dealers) บริษัทฯ จะให้ค่านายหน้าร้อยละ 10 จ่ายให้เดือนละครั้ง โดยคำนวณจากใบสั่งซื้อที่ส่งมา
สำหรับคูปองที่ลูกค้านำไปใช้ บริษัทฯจะจ่ายคืนให้แก่ศูนย์บริการมอบอำนาจและศูนย์บริการของผู้จำหน่าย
(dealers) ตามมูลค่าของบริการและอะไหล่เต็มเดือนละครั้ง ส่วนในกรณีส่วนลดร้อยละ 10 ที่ให้แก่
ลูกค้าสำหรับค่าบริการและอะไหล่ที่เกิดจากรายการซ่อมเพิ่มเติม บริษัทฯ จะจ่ายชดเชยให้ครึ่งหนึ่งของ
ส่วนลดที่เกิดขึ้น โดยศูนย์บริการเหล่านั้นจะส่งใบแจ้งหนี้พร้อมใบสั่งซ่อม ใบกำกับภาษี และ
ใบเสร็จรับเงิน สำหรับรายการซ่อมดังกล่าวมาเพื่อเรียกเก็บเงินเดือนละครั้ง
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายบัตรแลกรับบริการ เป็นเงินรับล่วงหน้าทั้งจำนวน (รวม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อใดที่ลูกค้านำคูปองในชุดบัตรแลกรับบริการมาใช้ บริษัทฯ จะดำเนินการตามวิธีรับรู้
รายได้ โดยบริษัทฯ จะออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี ณ เวลาที่ลูกค้ามารับรถและชำระค่าบริการ
และอะไหล่ในราคาปกติของการตรวจเช็คระยะด้วยคูปอง หลังจากนั้น แผนกบัญชีของบริษัทฯ จะโอนเงิน
รับล่วงหน้าจากการขายบัตรแลกรับบริการมาเพื่อตัดลูกหนี้ออกจากบัญชีตามมูลค่าของคูปอง ส่วนลูกหนี้ที่
เหลือจะปรับปรุงเป็นค่าใช้จ่าย ในส่วนของศูนย์บริการมอบอำนาจและศูนย์บริการของผู้จำหน่าย
(dealers) หลังจากดำเนินกรรมวิธีในการรับรู้รายได้และออกใบกำกับภาษีเช่นเดียวกันแล้วศูนย์บริการ
มอบอำนาจและศูนย์บริการของผู้จำหน่าย (dealers) จะส่งใบแจ้งหนี้มายังบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ
ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ แผนกบัญชีก็จะบันทึกรายการปรับปรุงเงินรับล่วงหน้าและปรับปรุงค่าใช้จ่าย
เช่นเดียวกัน
2. เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าในการจำหน่ายชุดบัตรแลกรับบริการและเงินชดเชยส่วนลด
จากการซ่อมเพิ่มเติม ให้แก่ศูนย์บริการมอบอำนาจหรือผู้จำหน่าย (dealers) ศูนย์บริการมอบอำนาจ
หรือผู้จำหน่าย (dealers) นั้น ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ หรือไม่ และในส่วนของบริษัทฯ
เมื่อจ่ายค่านายหน้าและเงินชดเชยดังกล่าว จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ในอัตราเท่าใด
แนววินิจฉัย
: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง เงินที่ได้จากการจำหน่ายบัตรแลกรับบริการตามโครงการตรวจ
เช็คตามระยะในราคาประหยัด โดยแพคเกจหนึ่ง ๆ จะมีระยะการให้บริการ 50,000 กิโลเมตร หรือ
เป็นระยะเวลา 2 - 4 ปี บริษัทฯ มีภาระภาษี ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากคูปองที่บริษัทฯ ขายให้แก่ลูกค้าจะใช้แทนการชำระเงิน
สำหรับค่าบริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ดังนั้น รายได้ที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายคูปองดังกล่าว จึงเป็น
รายได้จากการได้รับชำระค่าบริการล่วงหน้า บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการขายคูปองมารวมคำนวณเพื่อ
เสียภาษี ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้เกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร กล่าวคือบริษัทฯ ต้องเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นตามส่วนของงานที่ให้บริการแล้วเสร็จใน
แต่ละรอบระยะเวลาบัญชี มารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิ ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.30/2534 ฯ ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2534
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากคูปองที่บริษัทฯ ได้ขายให้แก่ลูกค้าดังกล่าว จะใช้แทนการ
ชำระเงินสำหรับค่าบริการในการตรวจเช็ครถยนต์ ดังนั้น เงินที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายคูปองดังกล่าว
เข้าลักษณะเป็นเงินค่าบริการล่วงหน้าก่อนที่ลูกค้าจะใช้บริการ ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะ
เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำ
มูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการขายคูปองคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นในขณะได้รับ
ชำระเงินดังกล่าว
2. เงินค่านายหน้าจากการจำหน่ายชุดบัตรแลกรับบริการที่ศูนย์บริการมอบอำนาจ หรือ
ผู้จำหน่าย (dealers) ได้รับ เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนหรือมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับจากการให้บริการ
ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ศูนย์บริการมอบอำนาจหรือผู้จำหน่าย
(dealers) ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากบริษัทฯ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร และเงินชดเชยส่วนลดจากการซ่อมนอกเหนือจากคูปองที่
ลูกค้านำไปใช้ ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายชดเชยให้แก่ศูนย์บริการมอบอำนาจและศูนย์บริการของผู้จำหน่าย
(dealers) เงินดังกล่าวมิใช่มูลค่าที่บริษัทฯ ได้รับจากการให้บริการ จึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับ
การให้บริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประการใด
สำหรับกรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่านายหน้าจากการจำหน่ายชุดบัตรแลกบริการและ
เงินชดเชยให้แก่ศูนย์บริการมอบอำนาจและศูนย์บริการของผู้จำหน่าย (dealers) บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่
ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ประการใด
เลขตู้
: 61/27055
เลขที่หนังสือ |
: กค 0706/7571 |
วันที่ |
: 8 กันยายน 2548 |
เรื่อง |
: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบธุรกิจบัตรเงินสด |
ข้อกฎหมาย |
: มาตรา 65 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 78/1(1) และข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ |
ข้อหารือ |
: บริษัท อ. จะออกบัตรที่ใช้แทนเงินสดออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้บัตรดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่น ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ ชำระค่าใช้บริการ Internet เป็นต้น ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธุรกิจดังกล่าวได้จากกระทรวงการคลัง ในการจำหน่ายบัตรเงินสดดังกล่าว บริษัทฯ จะจำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเหล่านั้นจะนำบัตรไปจัดจำหน่ายต่อ ๆ ไป จนถึงมือลูกค้าผู้ใช้บัตร โดยบริษัทฯ จะให้ค่าตอบแทนการจำหน่ายบัตรแก่ตัวแทนจำหน่ายที่คำนวณจากมูลค่าหน้าบัตรในอัตราตามที่จะตกลงกัน เมื่อลูกค้านำบัตรมาใช้ซื้อหรือชำระค่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ได้มีข้อตกลงการรับบัตรของบริษัทฯ ล่วงหน้า บริษัทฯ ก็จะจ่ายคืนค่าสินค้าหรือค่าบริการที่ลูกค้าใช้บัตรชำระให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านั้นตามมูลค่าหน้าบัตร โดยบริษัทฯ จะเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรจากผู้ประกอบการนั้น ๆ ตามอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านั้นจะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี (ถ้ามี) ของค่าสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่ลูกค้าต่อไป บริษัทฯ จึงขอหารือภาระภาษีในการประกอบธุรกิจบัตรเงินสดดังนี้ 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.1 ในการขายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่าย บริษัทฯ จะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งบริษัทฯ มีความเห็นว่า บริษัทฯ เป็นเพียงผู้ขายบัตรเงินสดให้แก่ลูกค้าเพื่อที่ลูกค้าจะได้นำบัตรนั้นไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด โดยที่สินค้าหรือบริการที่จะได้มีการชำระราคานั้น เป็นของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีข้อตกลงร่วมกับบริษัทฯ มิใช่สินค้าหรือบริการของบริษัทฯ เพราะบริษัทฯ ไม่สามารถประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ บริษัทฯ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่เรียกเก็บจากลูกค้า (ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเรียกเก็บ) และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากบรรดาผู้ประกอบการที่ยอมรับการชำระราคาด้วยบัตรเงินสดที่ออกโดยบริษัทฯ อีกทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547 ในข้อ 4.4 กำหนดให้บริษัทฯ ต้องนำเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากลูกค้าซึ่งก็คือค่าบัตรเงินสดที่จำหน่ายได้ฝากเป็นเงินสดไว้ที่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่ายอดคงค้างของเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากลูกค้า โดยจะต้องเปิดเป็นบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากอื่น ๆ ของบริษัทฯ ปราศจากภาระผูกพันและใช้เฉพาะสำหรับการชำระบัญชีอันเนื่องมาจากการให้บริการบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น รายได้การขายบัตรเงินสดจึงมิใช่รายได้จากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด 1.2 บริษัทฯ จะต้องนำค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดของบริษัทฯ ไปใช้ชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะต้องบันทึกรายได้ค่าธรรมเนียมเมื่อบัตรนั้นได้ถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการใช่หรือไม่ 1.3 ในส่วนของค่าดำเนินการที่บริษัทฯ ต้องชำระให้แก่ตัวแทนจำหน่ายที่ซื้อบัตรเงินสดไปจำหน่ายต่อ บริษัทฯ จะต้องนำค่าดำเนินการดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อมีการขายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายใช่หรือไม่ 2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 2.1 ในการจัดจำหน่ายบัตรเงินสด บริษัทฯ จะขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวเต็มตามมูลค่าบัตรหน้าบัตร เช่น บัตรราคา 300 บาท ก็จะขายในราคา 300 บาท และตัวแทนจำหน่ายก็จะขายให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยๆ ในราคาที่เต็มมูลค่าเช่นเดียวกันจนกระทั่งถึงมือลูกค้าก็จะซื้อในราคา 300 บาท ตามมูลค่าที่ระบุไว้ที่หน้าบัตร รายได้จากการจำหน่ายบัตรเงินสดดังกล่าวข้างต้นไม่ว่าจะเป็นการขายบัตรเงินสดในช่วงที่บริษัทฯ ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรวมถึงในช่วงที่ตัวแทนจำหน่ายได้จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ รายอื่นๆ อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่ 2.2. ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่ 2.3 ค่าดำเนินการขายบัตรที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่ 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.1 การจำหน่ายบัตรเงินสดตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ หรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้ซื้อบัตรและนำไปจำหน่ายต่อให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยหรือลูกค้า จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการจำหน่ายบัตรเงินสดหรือไม่ หากต้องเรียกเก็บจะต้องเรียกเก็บจากมูลค่าตามราคาหน้าบัตรหรือมูลค่าที่ได้ขายให้โดยหักส่วนลดแล้ว และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อใด 3.2 ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้า และค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ จัดเป็นการให้บริการ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคา ใช่หรือไม่ 3.3 บัตรเงินสดจัดเป็นสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ |
แนววินิจฉัย |
: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ได้จำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายตามข้อเท็จจริง มิได้เป็นการจำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ลูกค้าเพื่อนำมาใช้ซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัทฯ เองแต่อย่างใด ซึ่งลูกค้าผู้ซื้อบัตรจะนำไปใช้ชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ตามที่มีข้อตกลงร่วมกันกับทางบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะได้รับค่าธรรมเนียมการใช้บัตรจากลูกค้าและผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการ เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายบัตรดังกล่าว แม้จะเป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับมาก็ตาม แต่ก็เป็นเงินที่มีภาระผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าผู้ซื้อบัตรที่จะนำบัตรนั้นไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในอนาคต ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการอื่นใดได้ นอกจากนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรไปใช้เท่านั้น ดังนั้น รายได้จากจำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายจึงมิใช่รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการที่จะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด แต่บริษัทฯ จะต้องนำค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากผู้ประกอบการเมื่อบัตรเงินสดนั้นได้ถูกนำไปใช้ชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการและต้องนำค่าดำเนินการที่จ่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายบัตรเมื่อมีการขายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายมาถือเป็นรายได้และรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วแต่กรณี 2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 2.1 ลูกค้าผู้ซื้อบัตรเงินสดสามารถนำบัตรนั้นไปใช้ชำระราคาสินค้าและบริการต่างๆ แทนที่จะชำระเป็นเงินสดได้นั้น การขายบัตรเงินสดดังกล่าวจึงเป็นการขายสิทธิการซื้อสินค้าหรือบริการตามมูลค่าที่กำหนดในบัตร จึงจัดเป็นการขายทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายบัตรเงินสดในช่วงที่บริษัทฯ ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรวมถึงในช่วงที่ตัวแทนจำหน่ายได้จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ รายอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม การที่ตัวแทนจำหน่ายและตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ ได้จำหน่ายบัตรเงินสดในทอดต่างๆ โดยได้รับค่าดำเนินการจากผู้ขายบัตรให้นั้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในการจัดจำหน่ายบัตรให้แก่บริษัทฯ หรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้ขายบัตรให้แก่ตน ค่าดำเนินการที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นค่าบริการที่อยู่ในบังคับที่ผู้จ่าย ซึ่งผู้ขายบัตรที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 2.2 ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้า และค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ค่าบริการ หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.1 การจำหน่ายบัตรเงินสดตามข้อเท็จจริง เป็นการจำหน่ายสิ่งที่จะนำไปแทนตัวเงินที่จะนำไปซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการต่างๆ เปรียบเสมือนสิ่งที่ใช้แทนเงินสด
เท่านั้น เมื่อมีการใช้บัตรเงินสดชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือบริการซึ่งเป็น ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือบริการมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น การจำหน่ายบัตรเงินสดในขั้นตอนการขายต่าง ๆ จึงมิใช่เป็นการขายสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ค่าดำเนินการที่ตัวแทนจำหน่ายได้รับถือเป็นค่าบริการ ตัวแทนจำหน่ายมี หน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร 3.2 ค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ จัดเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร 3.3 บัตรเงินสดมิใช่สินค้าตามคำนิยามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด |
เลขตู้ |
: 68/33576 |