การออกใบหุ้นและการโอนหุ้น
การออกใบหุ้น เป็นหน้าที่ของบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น ใบหุ้นของบริษัทจำกัดจะต้องให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงชื่อและประทับตราบริษัทเป็นสำคัญ และต้องมีข้อความคือชื่อบริษัท เลขหมายหุ้นที่ระบุในใบหุ้นมูลค่าหุ้น จำนวนเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้ว ชื่อผู้ถือหุ้น หรือข้อความที่ระบุว่าเป็นหุ้นที่ออกให้แก่ผู้ถือ สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด ต้องจัดทำใบหุ้นมอบให้แก่ผู้ซื้อภายในสองเดือนนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัท หรือนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าหุ้นครบในกรณีจำหน่ายหุ้นที่เหลือ หรือจำหน่ายหุ้นที่ออกใหม่ภายหลังจดทะเบียนบริษัท และในใบหุ้นอย่างน้อยต้องระบุชื่อบริษัท เลขทะเบียนบริษัท และวันที่นายทะเบียนรับจดบริษัท ชนิดมูลค่า เลขที่ใบหุ้น จำนวนหุ้น ชื่อผู้ถือหุ้น ลายมือชื่อกรรมการซึ่งลงหรือพิมพ์ไว้อย่างน้อยหนึ่งคนแต่สามารถมอบหมายให้นายทะเบียนหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ลงหรือพิมพ์ลายมือชื่อแทนก็ได้
ใบหุ้นของบริษัทจำกัดชนิดออกให้ผู้ถือนั้น จะทำได้หากข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้และออกให้ได้เฉพาะเพื่อหุ้นที่ชำระเต็มมูลค่าเท่านั้น ส่วนใบหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดต้องเป็นชนิดระบุชื่อเท่านั้น
บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัดมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานใหญ่ และผู้ถือหุ้นมีสิทธิตรวจดูได้ สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้นกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง มีประเด็นข้อพิพาทระหว่าง นาย ก. และนาย ข. ต่างก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่ง กรณีนี้หากในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ถือหุ้น ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถือหุ้นคือบุคคลตามที่ระบุในสมุดทะเบียน แต่กรณีเช่นนี้เป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาด อีกฝ่ายหนึ่งสามารถนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างได้
การโอนหุ้น หุ้นของบริษัทจำกัดสามารถโอนกันได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท เว้นแต่เป็นใบหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือที่มีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามที่ข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้ อาทิเช่น ข้อบังคับกำหนดว่าการโอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมจากกรรมการบริษัทก่อน ถ้ากรรมการไม่ยินยอมก็จะโอนหุ้นไม่ได้ กรณีนี้เคยมีประเด็นที่มีการยกขึ้นพิจารณา คือ กรรมการบริษัทไม่ให้ความยินยอมในการโอนหุ้น แต่ที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบให้โอนหุ้นได้ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ กรรมการจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติ คือ ต้องยินยอมให้โอนหุ้นได้
ส่วนบริษัทมหาชนจำกัด กฎหมายกำหนดไว้เลยว่าบริษัทจะกำหนดข้อจำกัดใด ในการโอนหุ้นไว้ไม่ได้ เว้นแต่กรณีเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของบริษัทที่จะพึงได้รับตามกฎหมาย หรือเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยกับคนต่างด้าว
วิธีการโอนหุ้น ใบหุ้นชนิดที่ออกให้ผู้ถือสามารถโอนกันได้เพียงการส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้รับโอนก็เป็นอันใช้ได้ สำหรับใบหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือนั้น หากเป็นหุ้นของบริษัทจำกัดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนไว้และต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อไว้ด้วย และการโอนจะสมบูรณ์ใช้ยันกับบริษัทและบุคคลอื่นๆ ได้ต่อเมื่อแจ้งการโอนและระบุชื่อผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว การโอนหุ้นที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือแต่ไม่มีพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การโอนหุ้นจะกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้การโอนเป็นโมฆะ แต่ถ้าหากผู้รับโอนไม่ได้โต้แย้งและรับหุ้นนั้นไว้ครอบครองโดยเจตนายึดถือไว้เป็นของตนเอง เมื่อครอบครองเกินกว่าห้าปี หุ้นนั้นก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับโอนที่ครอบครองแล้ว หากเป็นหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบผู้รับโอนที่ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวต้องรับผิดชอบค่าหุ้นที่ยังจ่ายไม่ครบ
การโอนหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด ไม่ต้องทำเป็นหนังสือแต่ให้ผู้โอนสลักหลังใบหุ้นโดยระบุชื่อผู้รับโอนและลงลายมือชื่อผู้โอนไว้พร้อมส่งใบหุ้นให้ผู้รับโอน การโอนใช้ยันบริษัทได้เมื่อบริษัทได้รับคำร้องขอให้ลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้ว และเมื่อบริษัทลงทะเบียนการโอนหุ้นแล้วจึงใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้
ปัญหาการโอนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมา มีคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มากหลายคดี ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์จำเลย ยกขึ้นโต้เถียงกันเสมอ คือ การโอนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ตามมาตรา 1129 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้หลายคดีสอดคล้องกัน ว่า ไม่ต้องบังคับตามมาตรา 1129 เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2532 วินิจฉัยว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีระเบียบวิธีปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ และการซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการเก็งกำไรมากกว่าการประสงค์โอนหุ้นกันจริงจัง และมีคำพิพากษาศาลฎีกาในปีต่อๆ มาวินิจฉัยในทำนองดังกล่าวอีกหลายคดี แต่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการโอนหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดในส่วนนี้วางไว้เป็นบรรทัดฐาน
ความรับผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับหุ้นที่สำคัญที่ควรทราบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ไม่มีบทบังคับหรือบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ไว้ จึงต้องมีการตรากฎหมายเพื่อเป็นบทบังคับไว้ต่างหาก นั่นคือ พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 ในส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นที่สำคัญ คือ
๐ ผู้ใดโฆษณาชวนให้เข้าชื่อซื้อหุ้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท (ในกรณีเป็นบริษัทจำกัด กฎหมายห้ามมิให้ชี้ชวนให้ประชาชนซื้อหุ้น)
๐ บริษัทใดไม่ทำใบหุ้นมอบเป็นคู่มือให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือทำใบหุ้นโดยไม่มีกรรมการลงชื่อหรือไม่มีข้อความครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
๐ บริษัทใดไม่มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่เก็บรักษาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่เปิดให้ผู้ถือหุ้นตรวจดูตามที่ร้องขอ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
๐ บริษัทใดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเองหรือรับจำนำหุ้นของตนเองต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (กฎหมายห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเองหรือรับจำนำหุ้นของตนเอง)
สำหรับกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีบทบัญญัติที่เป็นบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกำหนดไว้ ส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นที่สำคัญ คือ
๐ บริษัทมหาชนจำกัดบริษัทใดไม่ทำใบหุ้นให้แก่ผู้ซื้อภายในเวลาที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
๐ บริษัทมหาชนจำกัดบริษัทใดไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือไม่เก็บรักษาทะเบียนผู้ถือหุ้นและหลักฐานประกอบการลงทะเบียนไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
๐ บริษัทมหาชนจำกัดใดกำหนดข้อจำกัดในการโอนหุ้นซึ่งไม่ใช่กรณีเข้าข่ายยกเว้นที่ให้กระทำได้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท