ภาษีสำหรับกิจการนายหน้าประกันภัย
กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทน ประกันชีวิต และนายหน้าประกันชีวิต ลงวันที่ 17 กันยายน 2545 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2545 เป็นต้นไป ไขปัญหาภาษีจึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ในคำสั่งที่ ป.115/2545 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคำว่า "บริษัทประกันชีวิต" "ตัวแทน" "นายหน้า" "หัวหน้าตัวแทน" และคำว่า "ค่าตอบแทน" ไว้อย่างไร
วิสัชนา เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 ได้กำหนดนิยามศัพท์ของแต่ละคำดังกล่าวไว้ดังนี้
1.คำว่า "บริษัทประกันชีวิต" หมายความว่า บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
2.คำว่า "ตัวแทน" หมายความว่า ตัวแทนประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับตัวแทนประกันชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ
3.คำว่า "นายหน้า" หมายความว่า นายหน้าประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และหมายความรวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่งานลักษณะทำนองเดียวกับนายหน้าประกันชีวิตให้แก่บุคคลใดๆ
4.คำว่า "หัวหน้าตัวแทน" หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อตกลง หรือข้อผูกพันกับบริษัทประกันชีวิตให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้นำกลุ่มซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือด้วยประการอื่นใด แก่ตัวแทนที่อยู่ในกลุ่ม หรืออยู่ในทีม หรือในลักษณะทำนองเดียวกับกลุ่ม หรือทีม ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าเขต หรือหัวหน้าภาค หรือเรียกเป็นอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิต
5.คำว่า "ค่าตอบแทน" หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่คำนวณได้เป็นเงิน รวมทั้งค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นค่าบำเหน็จ ค่าธรรมเนียม ส่วนลด รางวัล โบนัส หรือเรียกเป็นอย่างอื่นที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเนื่องจากการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน เช่น
(1) ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทประกันชีวิตได้ให้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือไปสัมมนาที่ต่างประเทศ มูลค่าของประโยชน์ที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากการไปท่องเที่ยวหรือสัมมนาในต่างประเทศ ดังกล่าวถือเป็นค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัทประกันชีวิตที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย
(ข) บริษัทประกันชีวิตมีนโยบายให้รางวัลแก่ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิต หรือหัวหน้าตัวแทน ที่ทำผลงานได้ดีเด่น หรือทำรายได้ได้ตามเป้า ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดไว้ โดยให้รางวัลเป็นเงินหรือทรัพย์สิน รางวัลดังกล่าวย่อมถือเป็นค่าตอบแทนของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีด้วย
ปุจฉา ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทนได้รับถือเป็นเงินได้ประเภทใด
วิสัชนา ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้า หรือหัวหน้าตัวแทน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทดังต่อไปนี้
1.โดยทั่วไป ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และในกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จากนายจ้างอื่นด้วย ให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ที่ได้รับ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
2.กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้
(1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
(2) ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน
(3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน
(4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด.1 ก.
(5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า
(6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต ว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้
ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในการประกอบกิจการตามข้อ 2 เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ หากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายและไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ