ในสรรพากรสาส์นฉบับเดือนเมษายน 2549 ผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษีอากรสำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการดำเนินกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน สามารถนำผลขาดทุนจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปใช้ได้ภายใน 5 ปีนับแต่พ้นกำหนดเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของประมวลรัษฎากร หรือการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ประเภทค่าสิทธิที่กิจการได้จ่ายให้แก่บุคคลอื่น การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกร้อยละ 50 การสามารถหักรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้าและค่าประปาได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้เสียไป หรือแม้กระทั่งมีสิทธิจะวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีจากการนำเข้าสินค้า ซึ่งนับว่าการส่งเสริมการลงทุนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี แม้กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย แต่ก็พบว่าในทางปฏิบัติผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก บทความนี้จึงได้นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับภาษีสรรพากรที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ โดยได้รวบรวมจากแนวคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เทียบเคียงกับทางปฏิบัติต่อไป
ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีสรรพากร
1. ปัญหาเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
1.1 วันที่เริ่มมีรายได้
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 ได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนซึ่งต้องมีกำหนดเวลาไม่เกินแปดปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจะพบว่า วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ จึงเป็นประเด็นปัญหาต่อผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวันเริ่มต้นแห่งสิทธิในการเริ่มนับระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามจำนวนปีที่คณะกรรมการกำหนด หากเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการแล้วกำหนดเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเริ่มทันที อันเป็นผลทำให้ผู้ได้รับส่งเสริมการจะสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเร็วขึ้น แต่หากยังไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการก็ยังไม่เริ่มกำหนดเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอันส่งผลทำให้วันที่สิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนยืดเวลาออกไป กรณีจึงเกิดเป็นประเด็นข้อสงสัยมากว่าวันใดควรจะถือว่าเป็นวันที่เริ่มมีรายได้ ซึ่งกรมสรรพากรได้เคยมีแนววินิจฉัยเกี่ยวกับ วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการไว้หลายกรณี เช่น
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาแปดปี ได้เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2543 ข้อเท็จจริงพบว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2542 บริษัทได้ทดสอบการทำงานของระบบเครื่องจักรที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าและส่งพลังงานไฟฟ้าที่ได้ตามสายไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่ระบบการจ่ายไฟฟ้าของผู้ซื้อ โดยบริษัทเรียกเก็บเงินค่าชดเชยค่าก๊าซเฉพาะในส่วนของการทดสอบแล้วได้มาตรฐานและคุณภาพตามที่ผู้ซื้อกำหนด และผู้ซื้อได้ตกลงจ่ายเงินชดเชยค่าก๊าซในเดือนธันวาคม 2542 โดยลงบัญชีเป็นรายจ่ายค่าบำรุงดำเนินงานผันแปรตามที่กำหนดในสัญญา ดังนี้ วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัทเริ่มมีรายได้จากการผลิตพลังงานไฟฟ้าตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน การที่บริษัทมีรายได้จากเงินค่าก๊าซในส่วนของการทดสอบการเดินเครื่องจักรแล้วได้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้ตามข้อตกลงกับผู้ซื้อ ถือว่าเงินชดเชยค่าก๊าซเป็นรายได้จากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า บริษัทจึงเริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 (หนังสือที่ กค 0706/1918 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2549)
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะส่วนที่ส่งออกเป็นเวลา 8 ปี ดังนี้ แม้ว่าบริษัทจะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศ แต่สำหรับวันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นวันที่เริ่มใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ถือวันที่มีรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจริง กล่าวคือ วันที่มีรายได้จากการส่งออกตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าจะได้รับชำระราคาแล้วหรือไม่ แต่ทั้งนี้การประกอบกิจการดังกล่าวต้องไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ได้รับอนุมัติให้ได้สิทธิและประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม (หนังสือที่ กค 0811/16548 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2541)
รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้า แม้จะเป็นเพียงการขายสินค้าตัวอย่างหรือขายสินค้าที่ได้จากการทดลองการผลิตของกิจการ โดยสินค้าเหล่านั้นต้องไม่เป็นสินค้าที่ผลิตไว้ก่อนวันที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม ให้ถือวันที่มีรายได้จากการขายสินค้าดังกล่าวเป็นวันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริม
1.2 รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิ
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 ประกอบกับประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 ได้กำหนดให้รายได้จากการประกอบกิจการซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหมายความถึงรายได้ต่างๆ ดังนี้
(1) รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลิตผล หรือการให้บริการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมไม่เกินปริมาณการผลิตต่อปีหรือไม่เกินขนาดของกิจการที่ให้บริการตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม
(2) รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามชนิดและปริมาณ ตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม
(3) รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และทรัพย์สินบรรดาที่ใช้ในการประกอบกิจการ ตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป ทั้งนี้ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากร
(4) รายได้ประเภทดอกเบี้ยหรือรายได้อย่างอื่นที่เกิดจากการใดอันเป็นปกติธุระในการประกอบกิจการ ทั้งนี้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากร
กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้หลายกรณีดังนี้
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ในการดำเนินกิจการ บริษัทจะก่อสร้างท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติไปถึงหน้าโรงงานของลูกค้าแต่ละราย และจะจำหน่ายก๊าซธรรมชาติพร้อมกับการบริการขนส่งทางท่อให้ลูกค้า ดังนี้ ระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพย์สินของบริษัท เมื่อบริษัทจำหน่ายก๊าซธรรมชาติพร้อมบริการขนส่งทางท่อให้แก่ลูกค้า กรรมสิทธิ์ในก๊าซธรรมชาติยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าจะมีการส่งมอบและตรวจวัดปริมาณก๊าซ ณ จุดส่งมอบ ที่ปลายท่อซึ่งอยู่หน้าโรงงานลูกค้า การขนส่งผ่านทางท่อจึงเป็นการให้บริการตนเองเพื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า ค่าขนส่งจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินค้า มิใช่เป็นการขนส่งเพื่อบุคคลภายนอกโดยเรียกเก็บค่าขนส่งแต่ประการใด บริษัทจึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการให้ บริการขนส่งผ่านท่อ (หนังสือที่ กค 0706/2622 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2549)
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2547 และได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติมีกำหนด 5 ปี บริษัทจะจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ เมื่อบริษัทจำหน่ายทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในขณะที่พ้นกำหนดเวลาตามบัตรส่งเสริมฯ แล้ว จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่รายได้ดังกล่าวถือเป็นรายได้ที่มีสิทธินำไปรวมคำนวณกับรายได้ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 50 ของอัตราปกติ (หนังสือที่ กค 0706/2207 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2549)
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซหรือส่วนประกอบรวมทั้งการติดตั้ง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการมีกำหนดเวลา 3 ปีของกำลังการผลิตปีละไม่เกิน 18,000 ตัน ทั้งนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นมีมูลค่าไม่เกิน 248,120,000 บาท ดังนี้ ในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ บริษัทจะต้องนำรายได้ที่ส่วนที่เกินไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0706/พ./1175 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549)
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุน มีรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบที่ไม่สามารถนำไปผลิตเพื่อขายได้ และรายได้ที่ได้รับการชดเชยเนื่องมาจากความเสียหายจากการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า ไม่ถือเป็นรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน บริษัทต้องนำรายได้จากการจำหน่ายวัตถุดิบดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือที่ กค 0706/766 ลงวันที่ 30 มกราคม 2549)
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตฝาสูบเครื่องยนต์โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 7 ปี บริษัทได้นำฝาสูบเครื่องยนต์ซึ่งได้รับส่งเสริมการลงทุนมาประกอบเป็นชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ ซึ่งไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและขายเครื่องยนต์ให้ผู้ซื้อ ดังนี้ หากสามารถแยกได้ชัดเจนว่าในการขายสินค้าดังกล่าวส่วนใดเป็นเครื่องยนต์ ส่วนใดเป็นฝาสูบ ตลอดจนสามารถแยกราคาการขายฝาสูบเครื่องยนต์ได้ รายได้จากการขายฝาสูบเครื่องยนต์จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0706/10750 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2548)
- บริษัทประกอบกิจการผลิตเลนส์แว่นตา ได้รับส่งเสริมการลงทุนในการผลิตสินค้าดังกล่าวหลายบัตรส่งเสริม บริษัทไม่สามารถแยกรายได้ของแต่ละโครงการได้ ว่าสินค้าที่ขายไปเป็นสินค้าตามบัตรส่งเสริมใด เพราะสินค้าของบริษัทมีลักษณะเหมือนกัน ดังนั้น ในการคำนวณรายได้ว่ารายได้ส่วนใดเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และรายได้ส่วนใดไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ให้ถือว่ารายได้จากการขายสินค้าเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามจำนวนชิ้นที่ได้รับการส่งเสริมก่อน ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนตามจำนวนชิ้น ที่ได้รับการส่งเสริม และหรือ ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ตามจำนวนชิ้นที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ (หนังสือที่ กค 0811/3898 ลงวันที่ 25 เมษายน 2544)
- ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในรอบระยะเวลาบัญชีของปี 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่บริษัท A เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ถึงแม้บริษัท A มีสิทธิเลือกนำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ทป.72/2540ฯ ก็ตาม รายจ่ายดังกล่าวจึงถือเป็นรายจ่ายจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0811/ก.1325 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2543)
- บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำโดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้มีกำหนดเวลา 8 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้ บริษัทได้เรียกร้องค่าชดเชย การขาดรายได้จากบริษัทประกันภัยที่บริษัทได้เอาประกันภัยเพื่อประกันรายได้ที่สูญเสียอันเป็นผลมาจากเครื่องจักรหยุดการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุต่อทรัพย์สิน เครื่องจักร และอุปกรณ์ ดังนี้ รายได้ที่บริษัทได้รับชดเชยตามสัญญาประกันภัยไม่ถือเป็นรายได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0811/7832 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2543)
ดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งเกิดจากการนำเงินสดหมุนเวียนที่เกินความต้องการในการบริหารกิจการที่ได้รับการส่งเสริมในบางช่วงเวลาไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมไว้ว่า ต้องเป็นรายได้ประเภทดอกเบี้ยที่เกิดจากการใดอันเป็นปกติธุระในการประกอบกิจการดังนี้
(1) ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เฉพาะที่ต้องจ่ายคืน เมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ซึ่งใช้สมุดคู่ฝากในการฝากถอนและไม่ใช้เช็คในการถอนเท่านั้น และไม่รวมถึงดอกเบี้ยรับจากตั๋วสัญญาใช้เงิน
(2) จำนวนดอกเบี้ยรวมกันต้องไม่เกิน ร้อยละสองของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และ
(3) ต้องเป็นดอกเบี้ยที่ได้รับหลังวันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม (หนังสือที่ กค 0802/399 ลงวันที่ 12 มกราคม 2536 และที่ กค 0802/9180 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2533)
- รายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ต้องเป็นรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินต่างๆ ของผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริม ทั้งทรัพย์สินที่นำเข้ามาตามบัตรส่งเสริมและที่จัดหาซื้อเองภายในประเทศ แล้วผู้ได้รับการส่งเสริมจำหน่ายออกไป เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวบุบสลาย หมดสภาพ ไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไปโดยที่ทรัพย์สินต่างๆดังกล่าวต้องมีไว้ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องตกแต่งสำนักงานของผู้ได้รับการส่งเสริม (หนังสือที่ กค 0802/6911 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2532)
- รายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ และมีอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาตามกลไกของตลาดเงินตรา โดยผู้ได้รับการส่งเสริมไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ การเปลี่ยนแปลงและขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานี้ จึงก่อให้เกิดกำไรหรือขาดทุนจากการปริวรรตเงินตรา ดังนั้น รายได้จากการปริวรรตเงินตราดังกล่าวจึงถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0802/6911 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2532)
รายได้จากการปริวรรตเงินตราคือ รายได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามปกติธุระทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมักจะมีการกำหนดราคาซื้อขายเป็นเงินตราสกุลต่างๆ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นก็จะได้รับกำไร จึงเป็นรายได้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมโดยตรง โดยเฉพาะการผลิตสินค้าส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ และเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นปกติธุระของการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม กรมสรรพากรได้วินิจฉัยไว้ว่า รายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ และมีอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาตามกลไกของตลาดเงินตรา โดยผู้ได้รับการส่งเสริมไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ การเปลี่ยนแปลงและขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานี้ จึงก่อให้เกิดกำไรหรือขาดทุนจากการปริวรรตเงินตรา ดังนั้น รายได้จากการปริวรรตเงินตราดังกล่าวจึงถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0802/6911 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2532 และที่ กค 0811/16103 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540)
1.3 การคำนวณกำไรสุทธิ
ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริม การลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการทั้งที่ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกัน ในเรื่องนี้ได้มีแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรดังนี้
บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวน 4 ฉบับ กรณีที่บริษัท มีรายได้จากกิจการส่งเสริมการลงทุนโดยบัตรส่งเสริมบางฉบับมีกำไรและบัตรส่งเสริมบางฉบับมีผลขาดทุน บริษัทต้องนำผลกำไรสุทธิและผลขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนทุกบัตร มาหักกลบเพื่อรวมเป็นยอดกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพียงยอดเดียว ถ้ายังมีกำไรเหลืออยู่ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าขาดทุนสุทธิก็มีสิทธิยกไปหักจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พ้นกำหนดเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0706 (กม.03)/408 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2548)
บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นเวลา 7 ปี มีผลประกอบการดังนี้
- ดังนี้ กำไรจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปี 2544 และปี 2545 จำนวน 4,671,864.85 บาท (3,358,495.60 + 1,313,369.25) บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนจากกิจการที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ในปี 2540 จำนวน 15,055,879.53 บาท มาหักเป็นรายจ่ายได้ จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด (หนังสือที่ กค 0706/8939 ลงวันที่ 28 กันยายน 2547)
- บริษัทประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2 บัตร เนื่องจากทั้ง 2 บัตร มีขั้นตอนการผลิตและวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเหมือนกัน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ให้บริษัทรวมบัญชีวัตถุดิบของทั้ง 2 บัตร โดยอนุมัติให้บริษัทจัดทำบัญชีสต็อกสูงสุด สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ดังนี้ ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทมีสิทธิจัดทำบัญชีสต็อกวัตถุดิบดังกล่าวรวมเป็นบัญชีสต็อกเดียวกันได้ (หนังสือที่ กค 0706/1249 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547)
- บริษัทประกอบกิจการทั้งประเภทได้รับส่งเสริมการลงทุนและประเภทไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ยังคงต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 โดยจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการของทั้งกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกัน และคำนวณภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ กรณีบริษัทประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ หากปรากฏว่าเป็นการประมาณการกำไรสุทธิสำหรับกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไป ไม่ว่าจะขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ บริษัทต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเป็นกรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไป ไม่เกินร้อยละ 25 บริษัทไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แม้จะปรากฏว่าประมาณการ กำไรสุทธิในส่วนกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ตาม (หนังสือที่ กค 0802(กม.)/1354 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2536)
2. ปัญหาเกี่ยวกับรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดในกรณีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น ในการนำรายจ่ายของกิจการมาหักออกจากรายได้ จึงต้องแยกว่ารายจ่ายใดเป็นรายจ่ายสำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และรายจ่ายใดเป็นรายจ่ายสำหรับกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งกรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยหลายประการ เช่น
บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในการผลิตเอทานอล แต่ได้ขายน้ำมันเบนซิน 91 ซึ่ง ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุนด้วย ดังนี้ ต้นทุนการซื้อน้ำมันเบนซิน 91 เป็นรายจ่ายที่สามารถแยกออกได้ชัดเจนว่าเป็นของกิจการที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น บริษัทจึงต้องนำรายได้จากการขายน้ำมันเบนซิน 91 และรายจ่ายจากการซื้อน้ำมันเบนซิน 91 มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0706/2935 ลงวันที่ 10 เมษายน 2549)
บริษัทประกอบกิจการทั้งประเภทได้รับส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและประเภทไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ได้กู้ยืมเงินมาซื้อทรัพย์สินและเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ ดังนี้ บริษัทจะต้องเฉลี่ยรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามส่วนของรายได้ของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่การคำนวณเฉลี่ยรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามวิธีการที่บริษัทถือปฏิบัติเป็นวิธีการเฉลี่ยรายจ่ายตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปบริษัทก็มีสิทธิเฉลี่ยรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามที่ถือปฏิบัติได้ (หนังสือที่ กค 0706/648 ลงวันที่ 25 มกราคม 2548)
บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ทำสัญญาประกันภัยเพื่อประกันรายได้ที่สูญเสียไปอันเป็นผลจากเครื่องจักรหยุดการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุกับทรัพย์สิน เครื่องจักร และอุปกรณ์ ดังนี้ รายจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เป็นรายจ่ายที่บริษัทจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดแก่ทรัพย์สิน ที่ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และประกันความเสียหายอันเกิดจากการขาดรายได้ที่ควรจะได้รับในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจึงเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะ บริษัทต้องนำรายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0811/7749 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2544)
ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในรอบระยะเวลาบัญชีของปี 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่บริษัทเริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ถึงแม้บริษัทมีสิทธิเลือกนำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ก็ตาม รายจ่ายดังกล่าวจึงถือเป็นรายจ่ายจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0811/ก.1325 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2543)
ผู้ได้รับการส่งเสริมประกอบกิจการทั้งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน สำหรับการเฉลี่ยรายจ่าย หากปรากฏว่ารายจ่ายรายการใดที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง และไม่มีเกณฑ์อื่นที่จะเฉลี่ยรายจ่ายนั้นได้เป็นการเฉพาะแล้ว ก็ให้เฉลี่ยตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0811/7774 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2540)
3. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผลขาดทุนจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 ได้บัญญัติให้ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้รับอนุญาตให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้น ในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้
สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการนำผลขาดทุนของผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปหักจากกำไรสุทธิที่เกิดภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้เป็นสิทธิประโยชน์ที่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ให้สิทธิแตกต่างไปจากบทบัญญัติมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า ให้นำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกี่ยวกับกรณีนี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการนำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร และการนำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
(1) ตัวอย่างการนำผลขาดทุนสุทธิมาเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
ตามตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2547 แม้กิจการจะยังมีผลขาดทุนสุทธิคงเหลือหลังจากรอบระยะเวลาบัญชี 2546 จำนวน 2 ล้านบาท แต่ก็สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวมาใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เพียง 1 ล้านบาท เนื่องจากผลขาดทุนสุทธิคงเหลือ 2 ล้านบาทนั้น เป็นผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 2541 จำนวน 1 ล้าน และเป็นผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 2542 อีกจำนวน 1 ล้าน และเมื่อผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 2541 เป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเกินกว่า 5 ปี จึงไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชี 2547 ได้
(2) ตัวอย่างการนำผลขาดทุนจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปใช้ในการคำนวณภาษี
(โดยสมมติว่ากิจการได้รับส่งเสริมการลงทุนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี)
จะเห็นได้ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2541 และ 2542 กิจการประกอบกิจการมีผลขาดทุน แต่ในรอบระยะเวลาบัญชี 2543 - 2545 กิจการประกอบกิจการมีผลกำไรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากได้รับส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ กิจการมีสิทธินำผลขาดทุนที่เกิดสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2541 - 2542 ไปหักจากกำไรที่เกิดภายหลังเมื่อพ้นเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ (รอบระยะเวลาบัญชี 2546) ได้มีกำหนดไม่เกิน 5 ปีได้
จากตัวอย่างทั้ง 2 กรณีจะเห็นได้ว่าการนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปใช้ภายหลังเป็นกรณีที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 วินิจฉัยว่า ผลขาดทุนดังกล่าวหมายความถึงผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่ต้องนำไปหักออกจากกำไรประจำปีที่เกิดขึ้น ในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี(12) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยไว้ดังนี้
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะชนิดผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากเหล็กแผ่นไร้สนิม ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 ต่อมาได้โอนกิจการพร้อมสิทธิและใบอนุญาตต่างๆให้บริษัทอื่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติให้โอนกิจการและแจ้งยกเลิกบัตรส่งเสริมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 ดังนี้ บริษัทจึงหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนับแต่วันที่คณะกรรมการอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริมโดยไม่มีผลย้อนหลังไปในปีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ไปแล้ว และบริษัทมีสิทธินำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่พ้นกำหนดเวลาได้รับส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0706/10550 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2548)
- บริษัทประกอบกิจการทั้งประเภทที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน และประเภทได้รับส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวน 4 ฉบับ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีที่บริษัทมีรายได้จากกิจการส่งเสริมการลงทุนแล้ว โดยบัตรส่งเสริมบางฉบับมีกำไรและบัตรส่งเสริมบางฉบับมีผลขาดทุน บริษัทต้องนำผลกำไรสุทธิและผลขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนทุกบัตร มาหักกลบเพื่อรวมเป็นยอดกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพียงยอดเดียว ถ้ายังมีกำไรเหลืออยู่ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าขาดทุนสุทธิก็มีสิทธิยกไปหักจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พ้นกำหนดเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (หนังสือที่ กค 0706(กม.03)/408 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2548)
4. ปัญหาเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับ
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 34 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไว้ว่า เงินปันผลซึ่งจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น จะต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายและผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หากเป็นการจ่ายเงินปันผลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแม้จะเป็นเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ผู้รับก็ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้แต่ประการใด ในเรื่องนี้กรมสรรพากรได้มีแนวคำวินิจฉัยดังนี้
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนโดยมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี สิ้นสุดระยะเวลาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 บริษัทได้จ่ายเงินปันผล 2 ครั้ง จากกำไรสะสมทางบัญชีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 และมิถุนายน 2548 ดังนี้ เมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทผู้ถือหุ้นซึ่งได้รับเงินปันผลจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือที่ กค 0706/1625 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549)
- บริษัทจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นโดยระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายว่า เงินปันผลที่จ่ายเป็นเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัทย่อยที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 (หนังสือที่ กค 0706/1040 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549)
- ปันผลที่ผู้รับเงินปันผลได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ ต่อเมื่อเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และจะต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายและผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น กรณีที่บริษัทประสงค์จะนำกำไรสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับเดิม มาจ่ายเป็นเงินปันผลให้ปีอื่นที่มิใช่ระยะเวลาที่บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฉบับดังกล่าว เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในกรณีดังกล่าว ย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ และผู้รับเงินปันผลจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (หนังสือที่ กค 0811/5834 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543)
5. ปัญหาเกี่ยวกับการลดอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคล
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 35 ให้สิทธิและประโยชน์แก่ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ไปแล้ว ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้นั้นอาจได้รับสิทธิและประโยชน์การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุน อีกร้อยละ 50 มีกำหนดไม่เกิน 5 ปีก็ได้ ซึ่งกรมสรรพากร ได้มีแนววินิจฉัยในเรื่องนี้ดังนี้
- บริษัทประกอบกิจการทั้งที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจะมีหลายกิจการ และแต่ละกิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน ดังนี้ การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ตามมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 บริษัทจะต้องคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้นำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการ ทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกันก่อน แล้วจึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ (หนังสือที่ กค 0706/1357 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549)
ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนเป็นบริษัท ที่ตั้งตามกฎหมายไทยซึ่งปกติจะต้องเสียภาษี เงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 แต่ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงทำให้ได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 25 ดังนี้ เมื่อบริษัทดังกล่าวได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน บริษัทจะต้องคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งเป็นอัตราปกติของบริษัทๆ จึงมีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 12.50 ของกำไรสุทธิ (หนังสือที่ กค 0706(กม.03)/627 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2547)
6. ปัญหาเกี่ยวกับการหักรายจ่ายได้มากกว่าปกติ
ในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 บัญญัติให้ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนมีสิทธินำค่าใช้จ่ายประเภทค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปามาเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจริง ซึ่งในทางปฏิบัติพบว่ากรมสรรพากรได้มีแนวคำวินิจฉัยดังนี้
- บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยได้รับส่งเสริมการลงทุนทั้งกิจการ ดังนี้ ค่าไฟฟ้า ค่าประปาที่เกิดจากการดำเนินงานทั้งส่วนแผนกผลิต และส่วนแผนกสำนักงานของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ จึงไม่ต้องห้ามนำไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ บริษัทจึงมีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป (หนังสือที่ กค 0706/1849 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2549)
- บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และได้รับสิทธิประโยชน์ในการหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่าในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ บริษัทต้องนำรายจ่าย ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่รายจ่ายนั้นเกิดขึ้น โดยจะเลือกใช้สิทธิในบางปีและไม่ใช้สิทธิในบางปีก็ได้ แต่หากปีใดไม่นำรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวนสองเท่าของรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายแล้ว ก็ไม่มีสิทธินำไปหักเพิ่มเติมในปีต่อไปได้อีก (หนังสือที่ กค 0706/10543 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2548)
7. ปัญหาเกี่ยวกับการหักเงินได้อีก ร้อยละ 5
ตามมาตรา 36 (4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 บัญญัติให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยอนุญาตให้หักเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบ ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้ได้มีแนววินิจฉัยของกรสรรพากรดังนี้
ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนจะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามระยะเวลาที่กำหนดในบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยถือเอารายได้จากการ ส่งออกในรอบปีแรกที่ได้สิทธิและประโยชน์เป็นปีฐาน ไม่ว่ารายได้จากการส่งออกที่ได้รับส่งเสริมนั้นจะเต็มรอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่ และไม่ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นจะมีการส่งออกหรือไม่ก็ตาม ซึ่งปีแรกหรือปีฐานนี้ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนไม่มีสิทธิหักเงินได้พึงประเมินในกรณีนี้ได้ เนื่องจากไม่อาจหารายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ สำหรับปีที่ 2 และปีที่ 3 ให้นำรายได้จากการส่งออกในรอบปีถัดไป มาเทียบกับการหารายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนปีที่ 4 ถึงปีที่ 10 รายได้ของปีนั้นๆ จะต้องไม่น้อยกว่ารายได้จากการส่งออกเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยให้นำผลจากการคำนวณตามวิธีดังกล่าวไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับสิทธิและประโยชน์เท่านั้น (กค 0802/12550 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2537)
8. ปัญหาเกี่ยวกับการวางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ ผู้เขียนอยากจะขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ประกอบการขายสินค้า ให้บริการ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุนทุกประการ หากนำเข้าสินค้าก็มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรณีการนำเข้าเหมือนกับบุคคลอื่นที่นำเข้า มิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประการใด เนื่องจากมีผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนหลายรายยังเข้าใจสับสนว่าตนเองได้รับยกเว้นทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
สิทธิประโยชน์ที่มีก็คือ ผู้ได้รับการส่งเสริมมีสิทธิจะวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีก็ได้ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ในเรื่องนี้กรมสรรพากรได้มีแนวคำวินิจฉัยดังนี้
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเลได้นำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ดังนี้ บริษัทเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าว บริษัทต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ เจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นใบกำกับภาษี บริษัทมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (หนังสือที่ กค 0706/พ./9218 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545)
- บริษัทที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุนได้ซื้อเรือจากต่างประเทศ แม้ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีสิทธิได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าอยู่แล้วก็ตาม ไม่มีสิทธิวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษี ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากรได้ เนื่องจากการวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีนั้น กรณีต้องเป็นการนำเข้าสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเป็นการนำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกของผู้ได้รับการส่งเสริม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น (หนังสือที่ กค 0811/10043 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544)
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการเดินเรือทะเล ได้จำหน่ายเครื่องจักรเรือเดินทะเลที่นำเข้าก่อนครบกำหนดเวลาที่ได้รับส่งเสริม การลงทุน ซึ่งในขณะนำเข้าได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและใช้หนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนวางประกันและถอนประกันภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเครื่องจักร ดังนี้ จึงถือเป็นการผิดเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมฯ บริษัทไม่มีสิทธิในการวางเงินประกัน หลักประกันหรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีได้ ตามมาตรา 83/8 แห่ง ประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 78/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีนี้ถือได้ว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในกำหนดเวลา จึงต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียและเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตามมาตรา 89 (2) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการคำนวณเงินเพิ่มนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้าตามมาตรา 78/2 (1) และมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือที่ กค 0811/พ.07214 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2542)
ปัญหาเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิและประโยชน์
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ไว้ในมาตรา 55/1 ให้ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษี เงินได้นิติบุคคล หมดสิทธิได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่ถูกเพิกถอน หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอาจพิจารณาให้เพิกถอนย้อนหลังได้ด้วย ซึ่งผล ของการเพิกถอนย้อนหลังทำให้ผู้ถูกเพิกถอนจะต้องมาแจ้งและชำระภาษีอากรที่ได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอน โดยใช้อัตราภาษีที่เป็นอยู่ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในเรื่องนี้ได้มีแนวคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรอยู่บ้างดังนี้
- บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะชนิดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากเหล็กแผ่นไร้สนิม ตั้งแต่ วันที่ 18 เมษายน 2543 ต่อมาได้โอนกิจการพร้อมสิทธิและใบอนุญาตต่างๆ ให้บริษัทอื่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติให้โอนกิจการและแจ้งยกเลิกบัตรส่งเสริมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 ดังนี้ บริษัทจึงหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนับแต่วันที่คณะกรรมการอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม โดยไม่มีผลย้อนหลังไปในปีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ไปแล้ว (หนังสือที่ กค 0706/10550 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2548)
สรุป
ในทางปฏิบัติจะพบว่าสิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษีอากรสำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนยังคงมีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนควรจะต้องทำการศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ก็เนื่องจากเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว จะได้ปฏิบัติการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องและไม่เสี่ยงต่อการถูกเจ้าพนักงานทำการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในภายหลัง
ที่มา : สรรพากรสาส์น