1. จำนวนผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด เหลืออย่างน้อย ๓ คน
จำนวนผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด (มาตรา ๑๐๑๒ มาตรา ๑๐๙๗ มาตรา ๑๑๐๐ มาตรา ๑๒๓๗)
เดิม - ผู้เริ่มก่อการ / ผู้ถือหุ้น ต้องมีอย่างน้อย ๗ คน กรณีผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึง ๗ คนเป็นเหตุให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้
ใหม่ - หลักการเหมือนเดิม ลดแต่จำนวนผู้เริ่มก่อการ/ผู้ถือหุ้น เหลืออย่างน้อย ๓ คน
2. จดทะเบียนตั้งบริษัทได้ภายในวันเดียว
ขั้นตอนและระยะเวลาในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด (มาตรา ๑๐๙๗ มาตรา ๑๑๑๑ และมาตรา ๑๑๑๑/๑)
เดิม - การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมี ๑๐ ขั้นตอน และใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด ๙ วัน
ใหม่ - จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและตั้งบริษัทพร้อมกันในวันเดียวกันได้ แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ในการประชุมตั้งบริษัทผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นชอบในกิจการที่ประชุม (เดิมมติประกอบด้วย ๑/๒ ของผู้จองหุ้นทั้งหมด + ๑/๒ ของหุ้นทั้งหมด)
3. แปรสภาพห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นบริษัทจำกัดได้
การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด (เพิ่มส่วนที่ ๑๒ ในหมวด ๔ มาตรา ๑๒๔๖/๑ ๑๒๔๖/๗)
เดิม - การเปลี่ยนสถานะจากห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นบริษัทจำกัด ต้องจดทะเบียนเลิกห้าง แล้วทำการจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นใหม่
ใหม่ - กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน / ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนให้ความยินยอมสามารถแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้
4. ผลของการแปรสภาพ
(1) ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมหมดสภาพ
(2) บริษัทได้รับทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของห้างทั้งหมด
(3) ความรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการแปรสภาพ ให้เจ้าหนี้เรียกให้บริษัทชำระหนี้ก่อน หากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างตามที่ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องรับผิดในหนี้ในขณะที่เป็นห้างหุ้นส่วน
5. ใบสำคัญการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท
ใบสำคัญการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (แก้ไข ป.พ.พ.มาตรา ๑๐๒๐ วรรคสอง)
เดิม - ใครก็ได้ที่เสียค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง สามารถให้นายทะเบียนออกใบสำคัญได้
ใหม่ - นายทะเบียนจะออกให้เฉพาะผู้มีส่วนได้เสียของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น
6. การอ้างสัญญา เอกสารหรือข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนต่อบุคคลภายนอก
การอ้างสัญญา เอกสารหรือข้อความที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนต่อบุคคลภายนอก (แก้ไขมาตรา ๑๐๒๓ เพิ่มมาตรา ๑๐๒๓/๑)
เดิม - ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท จะอ้างได้เมื่อจดทะเบียนและลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ใหม่ - ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท จะอ้างได้เมื่อจดทะเบียนแล้ว แต่บุคคลภายนอกอ้างได้แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียน
- ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับชำระหนี้ก่อนจดทะเบียนไม่ต้องคืน และเมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่าบุคคลทุกคนไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่ ได้รู้แล้ว
การยกข้อต่อสู้บุคคลผู้สุจริตเกี่ยวกับอำนาจกระทำการ
เดิม - จะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้เมื่อจดทะเบียนและลงประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ใหม่ - หลักการเหมือนเดิม แต่บัญญัติให้ชัดเจนขึ้นว่า ที่กำหนดให้อ้างสัญญา เอกสาร หรือข้อความกับบุคคลภายนอกได้เมื่อจดทะเบียนแล้วนั้น จะยกขึ้นต่อสู้กับบุคคลภายนอกเรื่องผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการ เพื่อมิให้ต้องรับผิดไม่ได้จนกว่าจะได้โฆษณาแล้ว
7. หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์
หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์ (ยกเลิกมาตรา ๑๑๑๑ วรรคห้า มาตรา ๑๑๔๗ )
เดิม - การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ต้องส่งหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์อย่างละ ๑๐ ฉบับ
- การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ ต้องส่งฉบับตีพิมพ์อย่างละ ๑๐ ฉบับ
ใหม่ - ยกเลิกไม่ต้องส่งฉบับตีพิมพ์
8. วิธีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น
วิธีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น (มาตรา ๑๑๗๕)
เดิม - ลงพิมพ์โฆษณาสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า ๗ วัน หรือส่งไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นก่อนประชุม ๗ วัน
ใหม่ - ลงพิมพ์โฆษณาหนึ่งคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า ๗ วัน และส่งไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นก่อนประชุม ๗ วัน ถ้าเป็นมติพิเศษต้องส่งก่อนประชุม ๑๔ วันและต้องระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติไว้ด้วย
9. วิธีการลงมติพิเศษ
วิธีการลงมติพิเศษ (มาตรา ๑๑๙๔)
เดิม - มติพิเศษ ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและลงมติ ๒ ครั้ง
- ประชุมครั้งแรกลงมติเสียงข้างมาก ๓/๔ จำนวนเสียงทั้งหมด
- ประชุมครั้งหลังต้องห่างจากประชุมครั้งแรกไม่น้อยกว่า ๑๔ วันแต่ไม่เกิน ๖ สัปดาห์ / หนังสือนัดประชุมต้องระบุข้อความที่ลงมติครั้งแรกไว้ด้วย / มติครั้งหลังต้องยืนตามมติครั้งแรกและมีคะแนนเสียงข้างมาก ๒/๓ จำนวนเสียงทั้งหมด
ใหม่ - มติพิเศษ ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพียงครั้งเดียว และต้องลงมติโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
10. วิธีการแจ้งการจ่ายเงินปันผล
วิธีการแจ้งการจ่ายเงินปันผล (มาตรา ๑๒๐๔)
เดิม - โฆษณาหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งสองครั้งเป็นอย่างน้อย หรือ มีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน
ใหม่ - มีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน และในกรณีมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย
11. ลดภาระในการลดทุนและควบบริษัท
ลดภาระในการลดทุนและควบบริษัท (มาตรา ๑๒๒๖ และ มาตรา ๑๒๔๐)
การลดทุน
เดิม - โฆษณาหนังสือพิมพ์ ๗ ครั้ง
- มีหนังสือแจ้งบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อให้สิทธิคัดค้านภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่แจ้ง
ใหม่ - โฆษณาหนังสือพิมพ์ ๑ ครั้ง
- มีหนังสือแจ้งบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อให้สิทธิคัดค้านภายใน ๓๐ วัน
การควบบริษัท
เดิม - โฆษณาหนังสือพิมพ์ ๗ ครั้ง
- มีหนังสือแจ้งบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อให้สิทธิคัดค้านภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่แจ้ง
ใหม่ - โฆษณาหนังสือพิมพ์ ๑ ครั้ง
- มีหนังสือแจ้งบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อให้สิทธิคัดค้านภายใน ๖๐ วัน
12. ลดภาระในการเลิกห้างหุ้นส่วนบริษัท
ลดภาระในการเลิกห้างหุ้นส่วนบริษัท (แก้ไขมาตรา ๑๒๕๓)
เดิม - โฆษณาหนังสือพิมพ์ ๒ ครั้ง
ใหม่ - ลดการโฆษณาหนังสือพิมพ์เหลือ ๑ ครั้ง
13. การถอนทะเบียนร้าง
การถอนทะเบียนร้าง (ยกเลิกส่วนที่ ๑๑ มาตรา ๑๒๔๖ ของหมวด ๔ และเพิ่มหมวด ๖ มาตรา ๑๒๗๓/๑ มาตรา ๑๒๗๓/๔)
เดิม - ถอนทะเบียนร้างได้เฉพาะบริษัทจำกัด
ใหม่ - ถอนทะเบียนได้ทั้งบริษัทและห้างหุ้นส่วน