ปีหนึ่ง ๆ ท่านที่มีรายได้จากการให้เช่าบ้าน อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รวมทั้งการให้เช่าที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ขอเรียนตอบตามระยะเวลาในแต่ละปีดังนี้ 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับเงินได้ระหว่างเดือน ม.ค.- ธ.ค. 2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประ จำปี สำหรับเงินได้ตลอดปีภาษี 3. ภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตรา 12.5% ของค่ารายปีภายในเดือน ก.พ.ของปีถัดไป ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีสรรพากร การมีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดมีเงินได้ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังต่อไปนี้ ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ภายในเดือน ก.ย. ของปีภาษี กรณีที่ท่านไม่มีคู่สมรส หรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ต้องมีเงินได้เกินกว่า 30,000 บาท กรณีที่ท่านมีคู่สมรส ต้องมีเงินได้เกินกว่า 60,000 บาท ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ท่านผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ เลือกหักค่าใช้จ่ายจริง หรือค่าใช้ จ่ายความจำเป็นและสมควรตามหลักฐาน หรือสำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะเลือก หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ซึ่งมีอัตราแตกต่าง กันในแต่ละประเภททรัพย์สินที่ให้เช่าก็ได้ในกรณี สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้จากการขนส่งด้วยกันทั้งคู่ ให้แยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 คนละฉบับ โดยให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ตามอัตราข้างต้นทั้งสองฝ่าย จากนั้นนำมา หักค่าลดหย่อนจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนประจำปี แล้วคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีก้าวหน้าของเงินได้สุทธิ โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 100,000 บาท แรก แล้วเปรียบเทียบกับภาษีเงินได้ในอัตรา 0.5% ของเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ใด ๆ ทั้งนี้เฉพาะกรณีมีเงินได้จากการแสดงถึง 60,000 บาท จำนวนใดมากกว่าให้เสียตามนั้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีที่ภริยาชำระไว้แล้วดังกล่าว เมื่อสิ้นปีหากความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ตามกฎหมายให้ถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี สามีจึงต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 สำหรับเงินได้ทั้งหมดของทั้งตนเองและของภริยา โดยให้นำจำนวนภาษีที่ได้ชำระไว้ตาม ภ.ง.ด.94 ไปถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด. 90 ของสามีได้.
ได้รับคำถามจากท่านผู้อ่านที่ใช้นามว่า ผู้สมัครใจเสียภาษี ถามว่า ในปี 2550 นี้มีรายได้จากค่าแป๊ะเจี๊ยะจำนวน 30 ล้านบาท จากคู่สัญญาที่เป็นบริษัทจำกัด ตั้งแต่ต้นปี 2550 และค่าเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารอีกเดือนละ 200,000 บาท จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไรบ้าง ต้องเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีหรือไม่ ช่วยไขข้อข้องใจให้ด้วยขอขอบคุณล่วงหน้าอย่างแรง ขอเรียนด้วยความเคารพว่า ในเบื้องต้นท่านต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% ของเงินได้ทั้งที่เป็นเงินแป๊ะเจี๊ยะจำนวน 30 ล้านบาท และค่าเช่ารายเดือนละ 200,000 บาท สำหรับเงินแป๊ะเจี๊ยะนั้น ให้ท่านเฉลี่ยเงินได้เป็นปีตามอายุการเช่า เศษของปีให้เฉลี่ยเป็นรายวันต่อ 365 วัน เฉพาะในส่วนของปี 2550 ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้ครึ่งปี สำหรับส่วนของปีต่อ ๆ ไป ให้นำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.93 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นไปในปีที่ได้รับเงินได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้ มีปัญหาว่า จะสามารถเฉลี่ยจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ กรมสรรพากรอนุโลมให้เฉลี่ยจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้ถูกหักไว้ ในลักษณะเดียวกับเงินได้ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ก็จะทำให้มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด.93 ลดน้อยลงตามส่วน หรือในบางกรณีทำให้มีภาษีที่ชำระเกินไป ผู้มีเงินได้จะยังไม่มีสิทธิขอคืนจนกว่าจะถึงปีที่ต้องรับรู้เป็นเงินได้จริง สำหรับค่าเช่ารายเดือนที่ได้รับอีกเดือนละ 200,000 บาท เฉพาะในระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ให้นำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี และเมื่อถึงสิ้นปีภาษีก็ให้นำค่าเช่ารายเดือนตลอดทั้งปี และค่าแป๊ะเจี๊ยะที่เฉลี่ยได้สำหรับปี 2550 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในปีภาษีต่อ ๆ ไป ก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับปี 2550 กล่าวคือ เมื่อถึงปีให้นำค่าเช่ารายเดือนที่ได้รับเดือนละ 200,000 บาท เฉพาะในระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ให้นำมายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี และเมื่อถึงสิ้นปีภาษี ก็ให้นำค่าเช่ารายเดือนตลอดทั้งปี และค่าแป๊ะเจี๊ยะที่เฉลี่ยได้สำหรับปี 2550 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี แล้วนำจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้ที่ชำระล่วงหน้าตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาถือเป็นเครดิตในแต่ละปีภาษี โดยสรุป ท่านผู้ใช้นามว่า ผู้สมัครใจเสียภาษี ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับปี 2550 จากเฉพาะค่าเช่ารายเดือนเท่านั้นครับ.
ที่มาของข้อมูล : อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ |