เงินได้พึงประเมินบางประเภท ประมวลรัษฎากร ให้สิทธิผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวสามารถแยกคำนวณภาษี โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วย โดยกำหนดไว้ในมาตรา ๔๘ ( ๓ ) ถึง ( ๕ ) ทั้งนี้ เนื่องจาก มาตรา ๕๐ แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติให้ผู้ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย แล้ว ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้ผู้มีเงินได้ เพราะการนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมารวมกับเงินได้อื่น ทำให้เงินได้สุทธิมีจำนวนมากขึ้น และอาจต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้ที่จ่าย เงินได้พึงประเมินดังกล่าว คือ
๑ ) กรณีตามมาตรา ๔๘ ( ๓ ) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา ๔๐ ( ๔ ) ( ก ) และ ( ช ) ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๘ ( ๓ ) ( ก ) ( ข ) และ ( ค ) เท่านั้น เงินได้ดังกล่าวคือ ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ส่วนดอกเบี้ยตั๋วเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเท่านั้น รวมถึงดอกเบี้ยที่ได้รับจากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก และผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
จะเห็นได้ว่า เงินได้ตามมาตรา ๔๐ ( ๔ ) ( ช ) ที่เลือกเสียภาษีได้ตามมาตรานี้ ไม่รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนการเป็นหุ้นส่วนด้วย
สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรตามมาตรา ๔๐ ( ๔ ) ( ข ) จะเลือกเสียภาษีได้ในอัตราร้อยละ ๑๐ ได้เฉพาะเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับการให้กู้ยืมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เท่านั้น ตามมาตรา ๔๘ ( ๓ ) วรรคสอง
หากผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๔๐ ( ๔ ) ( ข ) นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็จะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา ๔๗ ทวิตามที่ได้ศึกษามาแล้ว
ผู้มีเงินได้ตามมาตรานี้ จะถูกผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้ว เมื่อได้รับเงินได้ในอัตราเดียวกัน ตามมาตรา ๕๐ ( ๒ ) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรนั้น พระราชกฤษฎีกา ฯ ( ฉบับที่ ๒๙๐ ) พ.ศ. ๒๕๓๘ มาตรา ๓ ลดอัตราภาษีสำหรับเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่เป็นเงินฝากประจำตั้งแต่ ๕ ปี ขึ้นไป และเมื่อครบกำหนดฝากแล้วได้ถอนเงินฝากเพื่อใช้สำหรับการศึกษาของตนเองและครอบครัว หรือเพื่อใช้สำหรับที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัว หรือเมื่อผู้ฝากมีอายุครบ ๕๕ ปี บริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องเป็นบัญชีฝากประจำที่มีสมุดเงินฝากโดยเฉพาะเพื่อการเสียภาษีอัตราพิเศษนี้ แยกต่างหากจากเงินฝากประเภทอื่น และต้องไม่นำเงินฝากดังกล่าวไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินของตนเองหรือผู้อื่น โดยให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๑๐ โดยธนาคารมีหน้าที่หักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ ( ๒ ) ( ข ) และผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราดังกล่าวโดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น ตามมาตรา ๔๘ ( ๓ ) ( ก )
สิทธิของผู้เสียภาษีตามมาตรา ๔๓ ( ๓ ) นี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดเวลาการใช้สิทธิ หรือห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิไว้ ผู้มีเงินได้จึงมีสิทธิที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นใหม่ โดยไม่ต้องนำเงินได้ตามมาตรา ๔๘ ( ๓ ) ( ก ) ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นได้ ( คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ ๑๙ / ๒๕๓๓ )
๒) กรณีตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๔๐ ( ๘ ) จากการขายอสังหาริมทรัพย์อ้นเป็นมรดก หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีเงินได้โดยคำนวณภาษีตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) และไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแยกเป็น ๒ กรณี คือ
( ก ) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา การได้อสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าโดยทางมรดก หรือได้รับการยกให้โดยเสน่หานั้น เป็นการได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร และไม่มีต้นทุน หากต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมกับเงินได้อื่นในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะทำให้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะนำไปหักตามความจำเป็นและสมควร แต่เนื่องจากผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยวิธีดังกล่าวมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไป ประมวลรัษฎากรจึงให้สิทธิที่จะเลือกไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น และกำหนดวิธีคำนวณภาษีที่จะต้องเสียจากเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดย ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ในอัตราร้อยละ ๕๐ เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ แล้วคูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์เป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย
สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณเสียภาษีนั้น มาตรา ๔๙ ทวิ ให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งใช้อยู่ในวันโอน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจะเป็นเท่าใดก็ตาม ดังนั้น หากราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ที่ขายไปเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ขายอสังหาริมทรัพย์ไปในราคา ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีตามมาตรานี้ คือ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น
ส่วน จำนวนปีที่ถือครอง มาตรา ๔๘ ( ๔ ) วรรคท้าย หมายถึงจำนวนปีที่ได้กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าเกิน ๑๐ ปี ให้นับเพียง ๑๐ ปี และเศษของปีให้นับเป็น ๑ ปี เช่น ได้ที่ดินมรดกมาในเดือน ธันวาคม ๒๕๔๕ และขายที่ดินไปในเดือน มกราคม ๒๕๔๙ จำนวนปีที่ถือครองคือ ๕ ปี หากที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายร้อยละ ๕๐ แล้วจะเหลือเป็นเงินได้สุทธิ ๕๐๐,๐๐๐ บาท หารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ๕ ปี เหลือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษี ๑๐๐,๐๐๐ บาท คำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีเงินได้ร้อยละ ๕ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท แล้วนำจำนวนปีที่ถือครองคือ ๕ มาคูณ คงเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ ๒๕,๐๐๐ บาท การคำนวณตามมาตรานี้ จะไม่นำพระราชกฤษฎีกา ฯ ( ฉบับที่ ๔๓๐ ) พ.ศ. ๒๕๔๘ มาใช้บังคับ เพราะไม่ใช่การคำนวณตามมาตรา ๔๘ ( ๑ )
( ข ) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากทางอื่นนอกจาก ( ก ) หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรนั้น มิได้มาโดยไม่มีต้นทุนเหมือนกรณีตาม มาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ก ) เช่น ซื้อบ้านพร้อมที่ดินมาใช้อยู่อาศัย หรือซื้อที่ดินมาใช้ในการทำเกษตรของตนเอง หรือได้รับโอนมาเป็นการชำระหนี้จากลูกหนี้ เป็นต้น ดังนั้น กรณีนี้ ประมวลรัษฎากรจึงให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้แก่ พระราชกฤษฎีกา ฯ ( ฉบับที่ ๑๖๕ ) พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามระยะเวลาที่ถือครอง หากถือครองเป็นระยะเวลาสั้น ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้มาก โดยกำหนดว่า ถือครอง ๑ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๙๒ ถือครอง ๒ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๘๔ ถือครอง ๓ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๗๗ ถือครอง ๔ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๗๑ ถือครอง ๕ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๖๕ ถือครอง ๖ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๖๐ ถือครอง ๗ ปี หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๕๕ และ ถือครอง ๘ ปีขึ้นไป หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๕๐ หากผู้มีเงินได้มีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ต้องมีหลักฐานมาแสดง และหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยต้องนำมาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ แล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ได้ผลลัพธ์เท่าใดนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ แล้วคูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลที่ได้คือจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งวิธีการคำนวณหลังหักค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกาแล้ว ก็เหมือนกับกรณีตาม ข้อ ( ก ) นั้นเอง
การคำนวณภาษีตามข้อ ( ก ) และ ( ข ) ดังกล่าว หากเกินกว่าร้อยละ ๒๐ ของราคาขายคือประเมินตามมาตรา ๔๙ ทวิ แล้ว จะต้องเสียเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้น ตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) วรรคสอง หากผู้มีเงินได้นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น มาตรา ๔๘ ( ๔ ) วรรคสาม ให้หักค่าใช้จ่ายได้ ตามที่กำหนดไว้ใน ( ก ) หรือ ( ข ) แล้วแต่กรณี แล้วนำเงินได้ที่เหลือไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น
การเลือกเสียภาษีตามมาตรานี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๒๓ / ๒๕๓๔ วินิจฉัยว่า สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีตามมาตรานี้ มิได้มีข้อจำกัดว่าจะหมดไปเมื่อใด ดังนั้นจึงต้องถือว่าสิทธิของผู้เสียภาษีคงมีอยู่ตลอดเวลาที่ภาระในการเสียภาษียังคงมีอยู่ เมื่อเห็นได้ว่าการที่เสียยื่นเสียภาษีโดยวิธีนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) มารวมคำนวณนั้น เกิดจากความสำคัญผิด เมื่อภาระหน้าที่ในการชำระภาษีของโจทก์ยังคงมีอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเสียใหม่ โดยใช้วิธีการไม่นำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษี เพื่อบรรเทาภาระภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรให้สิทธิไว้ได้
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ ( ๘ ) จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่บุคคลธรรมดาได้รับนั้น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ก็ตาม มาตรา ๕๐ ( ๕ ) กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ด้วย โดยกรณีที่ได้อสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือได้มาจากการให้โดยเสน่หา ต้องคำนวณภาษีตามวิธีการในมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ก ) คือ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๕๐ เหลือเท่าใดหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง แล้วนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ผลลัพธ์เท่าใด คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลที่ได้คือจำนวนภาษีที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่าย ส่วนกรณีที่ได้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมาโดยทางอื่น ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวิธีการในมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ข ) คือ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งได้แก่พระราชกฤษฎีกาฯ ( ฉบับที่ ๑๖๕ ) พ.ศ. ๒๕๒๙ ที่กล่าวมาแล้ว และคำนวณภาษีโดยนำจำนวนปีที่ถือครองมาหาร เหลือเท่าใด คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลที่ได้คือจำนวนภาษีที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่าย
ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ แม้จะถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ในขณะจดทะเบียนโอนขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๕๐ ( ๕ ) ก็จะเลือกเสียภาษีตามวิธีการในมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ไม่ได้ แต่จะต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจริงจากการขายอสังหาริมทรัพย์ และต้องนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหัก ตามความจำเป็นและสมควรโดยนำมาตรา ๖๕ ทวิ และ ๖๕ ตรี มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ตามมาตรา ๕๖ ทวิ ด้วย และต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับที่ได้รับจากการขายค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรด้วย
การเลือกเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ข ) นี้ หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจเข้าใจว่า เมื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มาแล้วขายไปหลังจากการขายไม่นานจะเสียภาษีเงินได้น้อย เพราะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้มาก ทั้งยังคำนวณราคาขายตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มิได้คำนวณตามราคาขายจริง แต่อย่าลืมว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ที่ได้กระทำภายใน ๕ ปี นับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์นั้นมา ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา ๙๑ / ๒ ( ๖ ) ประกอบพระราชกฤษฎีกา ฯ ( ฉบับที่ ๓๔๒ ) พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔ ( ๖ ) ซึ่งมีข้อยกเว้นเพียงไม่กี่กรณี ดังนั้น เมื่อจะขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นที่มิใช้มรดก หรือการให้โดยเสน่หา จึงต้องพิจารณาถึงเรื่องของภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย
มีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องหนึ่ง ซึ่งอธิบายถึงความแตกต่างของอสังหาริมทรัพย์ที่ขายว่าเป็นกรณีตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ก ) หรือ มาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ข ) แห่งประมวลรัษฎากร คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๙๕ / ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ เป็นบิดาและผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายได้ฟ้อง อ. กับพวกให้โอนขายที่ดิน ๓ แปลงให้แก่ผู้ตาย และจำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตายในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ต่อมา ศาลฎีกาพิพากษาให้ อ. กับพวกโอนที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่ผู้ตาย และรับเงินค่าที่ดินจำนวนหนึ่ง โดยกำหนดให้โจทก์ในคดีดังกล่าวนำเงินไปวางศาลภายใน ๒๘๐ วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากไม่วางเงินภายในกำหนดถือว่าผิดสัญญา และ อ. มีสิทธิริบเงินที่ผู้ตายชำระแล้วทั้งหมด หาก อ. ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้นำเงินไปชำระและจดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้งสามแปลงตามคำพิพากษาแล้วจดทะเบียนขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวในวันเดียวกัน และขายที่ดินแปลงอื่นของผู้ตายอีก ๒ แปลงในเวลาต่อมา เงินได้จากการขายที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าว จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ ( ๘ ) แห่งประมวลรัษฎากร ของกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในชื่อกองบมรดกผู้ตาย ตามมาตรา ๕๗ ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกองมรดกมีเงินได้ตาม มาตรา ๔๐ ( ๘ ) จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ ( ๕ ) ( ก ) โดยคำนวณตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ก ) สำหรับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยเสน่หา หรือหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ ( ๕ ) ( ข ) โดยคำนวณตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ข ) สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่น แล้วแต่กรณี แล้วนำส่งต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน
สำหรับที่ดิน ๓ แปลง ที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนรับโอนมาตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วจดทะเบียนขายไปในวันเดียวกัน ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กองมรดกที่ยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท ได้มาหลังการตายของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกขายที่ดินที่กองมรดกได้มาดังกล่าวไป เงินได้จากการขายที่ดินจึงมิใช่เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ก ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้มีเงินได้อันเป็นมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา แต่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่กองมรดกได้มาโดยทางอื่น ตามมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ข ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนจำนวนปีที่ถือครองนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมาเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ จึงต้องนับจำนวนปีที่ถือครองมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ หาใช่นับมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นปีที่ผู้ตามถึงแก่ความตายไม่ การที่เจ้าพนักงานที่ดินคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ของที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ตามมาตรา ๕๐ ( ๕ ) ( ข ) ประกอบกับมาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ข ) แห่งประมวลรัษฎากร และนับจำนวนปีที่ถือครองจึงถูกต้องแล้ว
ส่วนที่ดินอีก ๒ แปลงนั้น เป็นที่ดินที่ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกมีอยู่แล้วก่อนตาย เงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก ซึ่งต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ ( ๕ ) ( ก ) ประกอบ มาตรา ๔๘ ( ๔ ) ( ก ) แห่งประมวลรัษฎากร
๓ ) กรณีตามมาตรา ๔๘ ( ๕ ) เป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงาน และเงินได้จากการรับทำงานให้ หรือเนื่องจากตำแหน่งงานที่ทำ ตามมาตรา ๔๐ ( ๑ ) และ ( ๒ ) แห่งประมวลรัษฎากร ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ( ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ ๔๕ ) ) ซึ่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้มีเงินได้ประเภทนี้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น เนื่องจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ ( ๑ ) และ ( ๒ ) จะนำมาหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้น้อยเพียงร้อยละ ๔๐ แต่ไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หากต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากนายจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน มารวมคำนวณกับเงินได้อื่น จะทำให้มีภาระภาษีจำนวนมาก เพราะเงินได้ที่ได้รับจากนายจ้างเพราะเหตุออกจากงานดังกล่าวจะมีจำนวนสูง รัฐประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างที่ต้องออกจากงานดังกล่าวใช้เงินก้อนที่ได้รับในการดำรงชีพในขณะที่ไม่มีงานทำ หรือใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพอื่น จึงต้องการบรรเทาภาระภาษีสำหรับผู้ที่มีเงินได้ประเภทนี้ โดยให้แยกคำนวณภาษีได้ และมีวิธีคำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นพิเศษสำหรับเงินได้ดังกล่าว จึงกำหนดไว้ในมาตรา ๔๘ ( ๕ ) และกำหนดให้นายจ้างที่จ่ายเงินได้ดังกล่าวหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ตามมาตรา ๕๐ ( ๑ ) วรรคสาม โดยให้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๔๘ ( ๕ )
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ ๔๕ ) ข้อ ๑. กำหนดหลักเกณฑ์ว่า เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน หมายถึงเงินได้ดังต่อไปนี้
( ก ) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จ ตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
( ข ) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรอบเลี้ยงชีพ หรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
( ค ) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
( ง ) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม ( ก )
และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว กำหนดเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นไว้ ๓ ข้อ คือ
( ก ) เป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า ๕ ปี
( ข ) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ ๑ จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ ( ๕ ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ ๑ ให้แก่ข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการ ตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ
( ค ) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในกรณีนี้ได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษี ตามมาตรา ๔๘ ( ๑ ) ( ๒ ) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
นอกจากนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวยังกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ อีกหลายประการ สำหรับผู้ที่จะเลือกแยกคำนวณภาษีตามมาตรานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓ / ๒๕๔๗ โจทก์ได้รับเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ เป็นเงินชดเชยการเลิกจ้าง จำนวน ๑,๐๒๒,๘๒๕ บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ถือว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ ๔๕ ) ข้อ ๑ ( ค ) โดยนายจ้างจ่ายให้โจทก์ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ ประเภทที่ ๒ เป็นเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน
๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท โดยจ่ายในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ ๔๕ ) ข้อ ๑ ( ข ) ผู้จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โนวาร์ตีส ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย จึงเห็นได้ว่าเงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ ( ๕ ) แห่งประมวลรัษฎากรได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายให้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคนละภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโนวาร์ตีส จำนวน ๑,๕๒๗,๘๕๕ บาท ที่ได้รับในปีภาษี ๒๕๔๒ มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา ๔๘ ( ๕ ) แห่งประมวลรัษฎากรได้