มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 40 การบัญชีเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน (วิธีการบันทึกบัญชี)
การปฏิบัติทางการบัญชี ของมาตรฐานการบัญชี ในเรื่องนี้พอสรุปได้พอสังเขปดังนี้
เงินลงทุน จำแนกออกได้ 2 ประเภท คือ
- เงินลงทุนชั่วคราว
เงินลงทุนชั่วคราว หมายถึง เงินลงทุนที่กิจการตั้งใจจะถือไว้ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่
1.1 หลักทรัพย์เพื่อค้า หมายถึง เงินลงทุนในตราสารหนี้ ทุกชนิดหรือ ตราสารทุน ในความต้องการของตลาดที่กิจการถือไว้โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะขายในอนาคตอันใกล้
1.2 หลักทรัพย์เผื่อขาย หมายถึง เงินลงทุนในตราสารหนี้ ทุกชนิด หรือ ตราสารทุน ในความต้องการของตลาด ซึ่งไม่ถือเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้าและในขณะเดียวกันไม่ถือเป็น ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด หลักทรัพย์ประเภทนี้กิจการถือไว้โดยมิได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้า แต่อาจจะขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทันทีที่โอกาสอำนวย
1.3 ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปี
- เงินลงทุนระยะยาว
เงินลงทุนระยะยาว หมายถึง เงินลงทุนที่กิจการตั้งใจจะถือไว้เกิน 1 ปี ได้แก่
2.1 หลักทรัพย์เผื่อขาย
2.2 ตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด
2.3 เงินลงทุนทั่วไป
ต้นทุนของเงินลงทุน
จะต้องรวมรายจ่ายทั้งหมดที่จ่ายไปเพื่อให้ได้เงินลงทุนนั้นมา ซึ่งได้แก่
1.1 ราคาจ่ายซื้อเงินลงทุน
1.2 ค่านายหน้า
1.3 ค่าธรรมเนียมและค่าภาษี
1.4 ต้นทุนทางการเงิน
1.5 ต้นทุนในการบริหาร
1.6 ต้นทุนในการจัดทำรายการ ฯลฯ
วิธีการบันทึกบัญชี
1. หลักทรัพย์เพื่อค้า
หลักทรัพย์เพื่อค้า ต้องแสดงในงบดุลด้วย มูลค่ายุติธรรม กิจการต้องบันทึกการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์เพื่อค้านี้ เป็นรายการกำไรหรือขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยให้ถือเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนทันทีในงวดนั้น
- บันทึกการซื้อ
เดบิต หลักทรัพย์เพื่อค้า XX
เครดิต เงินสด/ธนาคาร XX
- รายการ ณ วันสิ้นปี
2.1 กรณี ราคายุติธรรมของหลักทรัพย์สูงกว่าราคาตามบัญชี (มีกำไร)
เดบิต หลักทรัพย์เพื่อค้า XX
หรือ เดบิต ค่าเผื่อการปรับมูลค่าหลักทรัพย์เพื่อค้า XX
เครดิต รายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในงบกำไรขาดทุน)XX
2.2 กรณี ราคายุติธรรมของหลักทรัพย์ต่ำกว่าราคาตามบัญชี (ขาดทุน)
เดบิต รายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในงบกำไรขาดทุน) XX
เครดิต หลักทรัพย์เพื่อค้า XX
หรือ เครดิต ค่าเผื่อการปรับมูลค่าหลักทรัพย์เพื่อค้า XX
2. หลักทรัพย์เผื่อขาย
หลักทรัพย์เผื่อขาย ต้องแสดงในงบดุลด้วย มูลค่ายุติธรรม กิจการต้องบันทึกการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์เผื่อขายนี้ เป็นรายการกำไรหรือขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยแสดงแยกต่างหากในส่วนของผู้ถือหุ้น(เจ้าของ) จนกว่าจะได้มีการจำหน่ายออกไป จึงจะถือเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน
- บันทึกการซื้อ
เดบิต หลักทรัพย์เผื่อขาย XX
เครดิต เงินสด/ธนาคาร XX
- รายการ ณ วันสิ้นปี
2.1 กรณี ราคายุติธรรมของหลักทรัพย์สูงกว่าราคาตามบัญชี (มีกำไร)
เดบิต หลักทรัพย์เผื่อขาย XX
หรือ เดบิต ค่าเผื่อการปรับมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขาย XX
เครดิต รายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในส่วนของผู้ถือหุ้น) XX
2.2 กรณี ราคายุติธรรมของหลักทรัพย์ต่ำกว่าราคาตามบัญชี (ขาดทุน)
เดบิต รายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในส่วนของผู้ถือหุ้น) XX
เครดิต หลักทรัพย์เผื่อขาย XX
หรือ เครดิต ค่าเผื่อการปรับมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขาย XX
3. ตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด
เงินลงทุนประเภทนี้ เช่น หุ้นกู้ จะต้องแสดงรายการในงบดุลด้วย ราคาทุนตัดจำหน่าย
ตราสารหนี้นี้ จะต้องมีการปรับปรุงส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่า ตัดจำหน่ายทุกครั้งที่มีการบันทึก รายได้ดอกเบี้ย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด ปรากฏราคาตามมูลค่า ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน
การแสดงราคาในงบดุลของตราสารหนี้นี้จะแสดงด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย ดังนั้นจึงไม่ต้องทำรายการปรับปรุง รายการกำไรหรือขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ไม่เหมือนหลักทรัพย์เพื่อค้าหรือหลักทรัพย์เผื่อขาย
- บันทึกการซื้อ
เดบิต ตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด-หุ้นกู้(ราคาซื้อ) XX
เครดิต เงินสด/ธนาคาร XX
- รายการ ณ วันบันทึกดอกเบี้ยรับ
2.1 กรณี เกิดส่วนต่ำกว่ามูลค่า (จ่ายเงินซื้อน้อยกว่าราคา Par)
เดบิต เงินสด/ธนาคาร XX
เดบิต ตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด-หุ้นกู้ XX
เครดิต ดอกเบี้ยรับ XX
2.2 กรณี เกิดส่วนเกินกว่ามูลค่า (จ่ายเงินซื้อมากกว่าราคา Par)
เดบิต เงินสด/ธนาคาร XX
เครดิต ตราสารหนี้ที่จะถือไว้จนครบกำหนด-หุ้นกู้ XX
เครดิต ดอกเบี้ยรับ XX
3. เงินลงทุนทั่วไป
เงินลงทุนทั่วไป หมายถึง เงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด ต้องแสดงรายการในงบดุลด้วย ราคาทุน
บันทึกการซื้อ
เดบิต เงินลงทุนทั่วไป XX
เครดิต เงินสด/ธนาคาร XX
การโอนเปลี่ยนหลักทรัพย์จากประเภทหนึ่งไปเป็นหลักทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง
- การโอนเปลี่ยนจากหลักทรัพย์เพื่อค้าไปเป็นเงินลงทุนประเภทอื่น
กิจการต้องใช้ราคายุติธรรม ในวันที่โอน ในการบันทึกบัญชี โดยรับรู้ผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันนั้น ในงบกำไร(ขาดทุน)ทันที
เช่น การโอนหลักทรัพย์เพื่อค้าไปเป็นหลักทรัพย์เผื่อขาย
เดบิต หลักทรัพย์เผื่อขาย-หุ้นบริษัท..... XX
**เดบิต(เครดิต) รายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในงบกำไร(ขาดทุน) XX
เครดิต หลักทรัพย์เพื่อค้า-หุ้นบริษัท..... XX
- การโอนเปลี่ยนจากเงินลงทุนประเภทอื่นไปเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้า
กิจการต้องใช้ราคายุติธรรม ในวันที่โอน ในการบันทึกบัญชี โดยรับรู้ผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันนั้น ในงบกำไร(ขาดทุน)ทันที
เดบิต หลักทรัพย์เพื่อค้า-หุ้นบริษัท..... XX
*เดบิต(เครดิต) รายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในงบกำไร(ขาดทุน) XX
เครดิต หลักทรัพย์เผื่อขาย-หุ้นบริษัท..... XX
** หากมีบัญชีรายการกำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น (แสดงในส่วนของผู้ถือหุ้น) ของหลักทรัพย์เผื่อขายค้างอยู่ในบัญชี ต้องปิดหรือล้างออกไปให้หมดด้วย