กรณี ขับรถชนคนตาย เหมือนที่พระเอกหนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์ เพิ่งประสบ แน่นอนว่าเป็นกรณีที่ทั้งฝ่ายถูกชน-ญาติมิตร และฝ่ายคนใช้รถ-คนขับรถทุกคนย่อมไม่อยากให้เกิด ซึ่งก็น่าเห็นใจทุกฝ่าย และก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำรายวันในยุคที่รถยนต์กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในชีวิตผู้คนทั่วโลก รวมถึงในไทยเรา โดยที่ใครไม่เจอกับตัวมักไม่ได้ใส่ใจ ข้อ กฎหมาย...
หลายคนอาจไม่เคยสนใจว่าถ้าเกิดขึ้นแล้วจะยังไง ?
ตามข้อกฎหมายกรณีขับรถชนคนมีเนื้อหาอย่างไร ?
ทั้งนี้ กับ ข้อกฎหมายกรณีขับรถชนคน นี้ วันชัย สอนศิริ ทนายชื่อดังซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม คณะนิติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความรู้ว่า...กรณีเช่นนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดเกี่ยวกับร่างกายและชีวิต, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ความผิดในการขับรถ, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความเสียหายและการชดเชยค่าเสียหาย
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีมีผู้เสียชีวิตผู้ก่อเหตุก็จะมีความผิดอาญา ตามมาตรา 291 ที่ระบุว่า...ผู้ใดกระทำโดยประมาท และ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
และยังอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานขับรถโดยประมาท อย่างมาตรา 78 ระบุไว้ว่า...ผู้ใดขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสีย หายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้ง ชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่รถหลบหนีไป ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดง ตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุด หรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบ ครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือ ว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำ ความผิด และให้ตกเป็นของรัฐ
ส่วนความผิดทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อ.วันชัยแจงว่า...หากตกลงชดใช้ชดเชยค่าเสียหายกันได้ก็ไม่ต้องนำกฎหมายนี้มาใช้ เว้นเสียแต่ผู้เสียหายไม่ได้รับการชดใช้หรือมีการทำผิดไปจากข้อตกลง ก็มีความผิดฐานละเมิด ซึ่งมาตรา 420 ระบุว่า...ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้น ทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น อย่างนี้เป็นต้น
อ.วันชัยระบุต่อไปว่า...คดีแบบนี้นั้น เมื่อเกิดความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา กระบวนการต่อไปก็คือทางพนักงานสอบสวนก็จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ส่งให้กับพนักงานอัยการ จากนั้นพนักงานอัยการก็จะทำการตรวจรับคำฟ้อง ก่อนส่งขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาคดี
กรณีขับรถชนคนตาย ศาลท่านจะพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ถ้าไม่เคยทำความผิด ไม่เมา และยอมชดใช้ค่าเสียหาย ในสำนวนการสอบสวน ฝ่ายผู้เสียหายได้แสดงการยอมความไม่ติดใจเอาเรื่อง เนื่องจากทางฝ่ายผู้กระทำผิดยินยอมชดใช้ และผู้เสียหายได้มีการแถลงต่อหน้าศาลไว้ ศาลท่านก็ มักจะพิจารณาโทษให้จำคุก 1 ปี 2 ปี 3 ปี หรือแล้วแต่ ที่สำคัญหากคู่กรณี ยอมความ ไม่ติดใจเอาเรื่อง ศาลก็มักจะปรานีลดโทษจำคุกให้เหลือเพียงการรอลงอาญา โดยต้องรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือขึ้นกับดุลพินิจของศาล...อ.วันชัยกล่าว
สำหรับบางกรณีที่อาจมีหลายคนสงสัย เช่นเป็นกรณีที่ขับรถมาโดยปกติ และเกิดมีคนกระโดดพุ่งชนรถ หรือพุ่งออกมาจนถูกรถชนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบหรือไม่-อย่างไร ? อ.วันชัยอธิบายข้อกฎหมายกรณีนี้ว่า...ตามกฎหมายระบุไว้ในชั้นแรกว่าผู้ขับขี่เป็น ผู้กระทำผิด เว้นแต่มีการพิสูจน์ได้ว่าเหตุนั้นเกิดจากผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บเป็นผู้กระทำกฎหมายก็จะถือว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และพิสูจน์ได้ว่าเหตุเกิดจากอีกฝ่าย คดีก็จะพลิกไปกลายเป็นว่าคนที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเป็นผู้กระทำผิด และคนขับรถเป็นผู้เสียหาย ซึ่งถึงแม้คนที่เป็นเหตุจะเสียชีวิต แต่ทายาทที่อยู่ก็อาจจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายแทน...อ.วันชัยระบุ
ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรหากขับรถเฉี่ยวชนผู้อื่น หลักที่ควรปฏิบัติคือ...1.หยุดรถช่วยเหลือผู้ถูกเฉี่ยวชน, 2.แจ้งตำรวจทันที, 3.มอบตัวแล้วให้การตามจริง, 4.ถ้ามีผู้รู้เห็นให้ขอจดชื่อที่อยู่ไว้ เพื่อใช้อ้างเป็นพยาน, 5.ถ้ามีกล้องให้ถ่ายภาพที่เกิดเหตุ ผู้เสียหาย รถที่ชน ไว้เป็นหลักฐาน, 6.บรรเทาผลร้ายโดยเยี่ยมเยียนช่วยเหลือผู้ถูกเฉี่ยวชนตามสมควร ซึ่งหลักปฏิบัตินี้จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ทั้งด้านกระบวนการยุติธรรม และมนุษยธรรม
ชนแล้วหนี คิดแต่จะใช้วิธี ยัดเงิน ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องหมู
ทั้งเสียเงินก้อนโต-ทั้งติดคุกหัวโต กันเสียนักต่อนักแล้ว
ขับรถไม่ประมาท-ทำตามกฎหมายถ้าเฉี่ยวชน...ดีที่สุด !!!!.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์