ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเลือกองค์กรประกอบธุรกิจได้หลายวิธีด้วยกันไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเจ้าของคนเดียว คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินลงทุนและประเภทของธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มในอนาคตที่กิจการอาจจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น
แต่ก็มีกิจการประเภทเมื่อดำเนินธุรกิจไปได้ในระยะหนึ่งอาจจะประสบความล้มเหลวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของธุรกิจจากประเภทหนึ่งไปยังอีกประเภทหนึ่ง บางครั้งจะพบว่าห้างหุ้นส่วนเมื่อดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่งต้องการขยายกิจการให้เติบโตขึ้นก็อาจจะเลิกกิจการเปลี่ยนกิจการเป็นรูปของบริษัทจำกัด ดังนั้นเมื่อห้างหุ้นส่วนมีความประสงค์ที่จะเลิกกิจการจะต้องจัดให้มีการชำระบัญชี ซึ่งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติดังนี้
1) สะสางการงานของห้างฯ ให้เสร็จสิ้นไป
2) ประกาศหนังสือพิมพ์ และบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้ภายใน 14 วันนับแต่วันเลิกห้าง
3) ยื่นจดทะเบียนเลิกห้างฯ และชื่อผู้ชำระบัญชีภายใน 14 วัน ณ สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ หรือสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจำกัดจังหวัด ที่ซึ่งสำนักงานแห่งใหญ่ของห้างฯ ตั้งอยู่ก่อนเลิกห้างฯ
4) จัดทำงบดุลและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ
5) จัดให้มีการประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่ออนุมัติงบดุล
6) ยื่นรายงานการชำระบัญชีทุก 3 เดือน
7) ทำการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์สินตลอดจนชำระหนี้สิน
8) ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกคำสั่งว่าห้างหุ้นส่วนล้มละลาย ในกรณีที่ผู้ชำระบัญชีเห็นว่าเมื่อเงินทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จแล้ว สินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สิน
9) เรียกประชุมใหญ่ผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อเสนอรายงานการชำระบัญชี
10) ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 14 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมอนุมัติ
แนวปฏิบัติทางภาษีอากรหากมีการเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ห้างฯ ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อที่จะประกอบกิจการในรูปแบบของบริษัท แต่ไม่ได้ดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ห้างฯ ยังคงประกอบกิจการเป็นปกติมีการออกใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน ต่อมาห้างฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องปฏิบัติดังนี้
1. เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเกี่ยวกับการเลิกห้างฯ แล้ว ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบถึงการเลิกห้างฯ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกและให้ถือวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ห้างฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไว้แล้ว แต่การชำระบัญชียังไม่เสร็จสิ้น ให้ถือว่าห้างยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ห้างฯ จึงยังมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และแบบ ภ.ง.ด. 51 พร้อมงบการเงินต่อไป จนกว่าจะได้จดทะเบียนการชำระบัญชีเสร็จ โดยมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก)
3. ห้างฯ แจ้งเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ห้างฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.09) พร้อมคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายใน 15 วันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ห้างมิได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 และยังคงประกอบกิจการ ออกใบกำกับภาษียื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ห้างฯ จึงมีความผิดกรณีที่ไม่แจ้งเลิกประกอบกิจการและคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 90 (8) และมาตรา 90/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อห้างฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แล้วห้างฯ ยังคงรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไป
โดยยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ. 30 ไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม จนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ห้างฯ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ทั้งนี้ ตามมาตรา 83 มาตรา 85/19 (2) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่แจ้งเลิกประกอบกิจการเป็นต้นไป อีกทั้งไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปในระหว่างวันที่แจ้งเลิกประกอบกิจการถึงวันที่อธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
4. ห้างฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ห้างฯ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) และมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ และไม่ต้องออกใบกำกับภาษีแต่ประการใด ส่วนรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ ไม่มีหน้าที่จัดทำอีกต่อไป แต่ต้องเก็บและรักษารายงานที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิกประกอบกิจการต่อไปอีก 2 ปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/3 (5) มาตรา 87/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ที่มาของข้อมูล : ผู้จัดการรายสัปดาห์