กิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือ Consortium
(ก) กิจการร่วมค้า ได้แก่ กิจการที่ดำเนินร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่าง บริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กับบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือนิติบุคคลอื่น
(ข) โดยทั่วไปไม่ถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากแต่ถือเป็นห้างหุ้นส่วน ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ค) ในทางภาษีอากร ถือว่ากิจการร่วมค้าเป็น "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ซึ่งถือเป็นหน่วยทางภาษีอากรแยกต่างหากจากผู้เข้าร่วมค้าแต่ละราย จึงต้องมี และใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเพื่อการปฏิบัติการทางภาษีอากรในนามของกิจการร่วมค้านั้นๆ
(ง) สำหรับกิจการ Consortium โดยทั่วไป มีลักษณะเหมือนกับกิจการร่วมค้า กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมกิจการ Consortium ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคู่สัญญาโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ผู้ร่วมค้ากิจการ Consortium จะไม่มีการลงทุน และไม่มีการประกอบกิจการร่วมค้ากันเพื่อนำกำไรมาแบ่งกัน เพียงแต่เข้าประมูลงานร่วมกัน เมื่อได้งานแล้วก็จะแบ่งงานกันทำเป็นสัดเป็นส่วนของแต่ละคน จึงไม่ถือเป็นหน่วยทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
กิจการร่วมค้าในประเทศไทยมี 2 ลักษณะ คือ
1. กิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และมีสถานะเป็นนิติบุคคล ประเภทนี้ก็จดทะเบียนบริษัทจำกัด เหมือนบริษัทจำกัดทั่วไป กิจการที่เข้ามาร่วมจะมีสภาพของผู้ถือหุ้น
2. กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เป็นความตกลงทำสัญญาเพื่อประกอบกิจการร่วมกัน ซึ่งผู้ที่มาเข้าร่วมมีกิจการที่ประกอบอยู่ซึ่งอาจเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอยู่แล้ว และมาร่วมประกอบกิจการค้าเฉพาะอย่างร่วมกัน กิจการร่วมค้าประเภทนี้มีสถานะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใด แต่ตามประมวลรัษฎากร ถือเป็นหน่วยของฐานภาษี และบังคับให้ต้องขอเลขบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีต่างหาก และถ้ามีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะต้องจดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม