ประมาณการหนี้สิน
ประมาณการหนี้สิน หมายถึง หนี้สินที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาหรือจำนวนที่จะต้องจ่ายชำระ ซึ่งต้องเข้าลักษณะรายการดังต่อไปนี้
1. กิจการมี ภาระผูกพัน ในปัจจุบันซึ่งเกิดจาก เหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าภาระผูกพันนั้นจะเป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย หรือ ภาระผูกพันจากการอนุมาน
2. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อกิจการ เพื่อจ่ายชำระภาระผูกพันดังกล่าว
3. สามารถประมาณค่าภาระผูกพันได้อย่างน่าเชื่อถือ
กิจการต้องรับรู้ประมาณการหนี้สิน เป็นหนี้สินไว้ในงบดุล โดยบันทึกรายการโดย
เดบิต รายการขาดทุนจากการประมาณการหนี้สิน.....................XX
เครดิต ประมาณการหนี้สินจากการ................................................. XX
การเปลี่ยนแปลงประมาณการหนี้สิน
กิจการต้องทบทวนประมาณการหนี้สิน ณ วันที่ในงบดุล และปรับปรุงประมาณการหนี้สินให้เป็นประมาณการที่ดีที่สุดสำหรับวันนั้น ดังนั้น กิจการต้องกลับรายการประมาณการหนี้สิน หากความน่าจะเป็นที่กิจการจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อจ่ายชำระภาระผูกพัน ไม่อยู่ในระดับเป็นไปค่อนข้างแน่อีกต่อไป
กิจการต้องบันทึกกลับรายการ บัญชี โดย
เดบิต ประมาณการหนี้สินจากการ.........................................XX
เครดิต รายการกำไรจากการกลับรายการประมาณการหนี้สิน..........XX
ตัวอย่างประมาณการหนี้สิน
- การรับประกันสินค้า
- นโยบายการคืนเงินและรับคืนสินค้าในกรณีลูกค้าไม่พอใจในสินค้า
- การค้ำประกันเงินกู้และกิจการที่กู้เงินล้มละลาย
- คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล แต่ทนายความให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่ากิจการจะแพ้คดี ฯลฯ
หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น
หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น หมายถึง หนี้สินที่เกิดจากสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทราบผลแน่นอนในอนาคต ซึ่งเข้าลักษณะรายการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
1.ภาระผูกพันที่อาจมีอยู่เนื่องมาจากเหตุการณ์ในอดีต แต่การจะทราบว่าภาระผูกพันดังกล่าวมีอยู่หรือไม่นั้น ต้องได้รับการยืนยันจากเหตุการณ์อย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ที่ยังมีความไม่แน่นอนในขณะนั้น และต้องไม่อยู่ในความควบคุมทั้งหมดของกิจการ
2. ภาระผูกพันในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในอดีต แต่ไม่สามารถรับรู้เป็นหนี้สินได้ เนื่องจากเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
2.1.1 ความน่าจะเป็นที่กิจการจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เพื่อการจ่ายชำระภาระผูกพัน อยู่ในระดับ ไม่ถึงความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่
2.1.2 กิจการไม่สามารถวัดมูลค่าภาระผูกพันได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงพอ
หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นมีลักษณะที่สำคัญ คือ
1. เป็นเงื่นไขหรือสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่หรือมีอยู่
2. มีความไม่แน่นอนในขั้นสุดท้าย
3. ผลของหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นภายหน้าขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคต
ตัวอย่างหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น เช่น
- กิจการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและคดีความอยู่ในระหว่างพิจารณา
- การค้ำประกันโดยการสลักหลังเอกสารทางการเงิน
- ภาษีที่อาจถูกประเมินเพิ่ม
- การค้ำประกันเงินกู้ ฯลฯ
หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น กิจการไม่ต้องรับรู้เป็นหนี้สินไว้ในงบดุล แต่ต้องเปิดเผยเป็นข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เว้นแต่ว่า หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นนั้น อยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นไปได้ กิจการจึงไม่ต้องนำมาเปิดเผยเป็นข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
ข้อแตกต่างระหว่างประมาณการหนี้สินกับหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น
หลัก ประมาณการหนี้สินเป็นหนี้สินที่กิจการต้องรับรู้ในงบดุล หากกิจการประมาณมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ เนื่องจากประมาณการหนี้สิน เป็นภาระผูกพันในปัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ ที่จะทำให้กิจการจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เพื่อการจ่ายชำระภาระผูกพันนั้น
ส่วนหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นนั้นยังไม่ถือเป็นหนี้สิน กิจการต้องไม่รับรู้หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นเป็นหนี้สินในงบดุล เนื่องจากเหตุผลดังนี้
1. หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น เป็นภาระผูกพันที่อาจมีอยู่ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า กิจการมีภาระผูกพันในปัจจุบันที่สูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เพื่อการจ่ายชำระภาระผูกพันนั้น
2. หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นเป็นภาระผูกพันในปัจจุบัน แต่ไม่อาจรับรู้เป็นหนี้สินในงบดุลได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ การรับรู้รายการ
การพิจารณาว่ากรณีใดควรรับรู้ประมาณการหนี้สินหรือหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น
|
ระดับความเป็นไปได้ |
|
ค่อนข้างแน่ |
สมเหตุสมผล |
ไม่น่าเป็นไปได้ |
ภาระผูกพันในปัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ ที่กิจการจะสูญเสียทรัพยากร |
ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นหรือภาระผูกพันในปัจจุบันที่อาจทำให้กิจการสูญเสียทรัพยากร แต่มีความน่าจะเป็น ไม่ถึงระดับความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ |
ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นหรือภาระผูกพันในปัจจุบันที่อาจทำให้กิจการสูญเสียทรัพยากร มีความน่าจะเป็นอยู่ในระดับไม่น่าเป็นไปได้ |
- กิจการต้องรับรู้ประมาณการหนี้สินไว้ในงบดุล
- กิจการต้องเปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับประมาณการหนี้สิน |
- กิจการต้องไม่รับรู้ประมาณการหนี้สินไว้ในงบดุล
- กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น |
- กิจการต้องไม่รับรู้ประมาณการหนี้สินไว้ในงบดุล
- กิจการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นไว้ในงบการเงิน |
สินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น
สินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น หมายถึง สินทรัพย์ที่อาจมีอยู่อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งจะทราบว่าสินทรัพย์ดังกล่าวมีอยู่หรือไม่นั้น ต้องได้รับการยืนยันจากเหตุการณ์อย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตที่ยังมีความไม่แน่นอนในขณะนั้น และต้องไม่อยู่ในความควบคุมของกิจการ เช่น กิจการเป็นฝ่ายเรียกร้องค่าเสียหายในคดีความที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
การรับรู้สินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น
|
ระดับความเป็นไปได้ |
|
ค่อนข้างแน่ |
สมเหตุสมผล |
ไม่น่าเป็นไปได้ |
กิจการน่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างแน่นอน |
กิจการมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ แต่ไม่ถึงระดับน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน |
กิจการมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ แต่ความน่าจะเป็น ไม่ถึงระดับความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ |
- กิจการต้องรับรู้เป็นสินทรัพย์ไว้ในงบดุล โดยไม่ถือว่าสินทรัพย์นั้นเป็นสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น
|
- กิจการต้องไม่รับรู้เป็นสินทรัพย์ไว้ในงบดุล
- กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นในหมายเหตุประกอบงบการเงิน |
- กิจการต้องไม่รับรู้เป็นสินทรัพย์ไว้ในงบดุล
- กิจการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นไว้ในงบการเงิน |