เมื่อชีวิตรักต้องจบลงในคู่ที่มีการแต่งงานแบบสามีภรรยา และยิ่งมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ความวุ่นวายมาเยือนแน่ หากตกลงกันไม่ได้ในเรื่องสมบัติพัสถานการดูแลบุตร อีกทั้งหนี้สินที่ก่อร่วมกัน แน่นอนคู่สามีภรรยาที่มีทรัพย์สมบัติมากมายปัญหายิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ต้องมาแยกแยะอีกว่าสินสมรส กับทรัพย์สินของเธอและฉัน
คำว่า สินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 บัญญัติ สินสมรส ไว้ว่า ได้แก่ ทรัพย์ สินที่คู่สมรสได้มาระหว่าง สมรส หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มา ระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส สินสมรสยังครอบคลุมถึงดอกผลของสินส่วนตัวแต่ละคนด้วย
นั่นหมายความว่า ทรัพย์ สินที่เข้าลักษณะทั้ง 3 ประการเป็นสินสมรส และยังมีพ่วงท้ายด้วยว่า ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส (เว้นแต่มีหลักฐานระบุว่าเป็นทรัพย์สินเดิม หรือทรัพย์สินส่วนตัว)
ก่อนจะจดทะเบียนสมรส พนักงานเจ้าหน้าที่จะสอบถามก่อนว่า ทั้งคู่จะระบุอะไรเป็นทรัพย์สินเดิมหรือไม่ เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงเจต จำนงเป็นครั้งสุดท้าย แต่อย่าง ว่าในช่วงน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ร้อยทั้งร้อยไม่มัวมาคิดเล็กคิดน้อยว่า ที่ดินของฉัน บ้านเธอ เดี๋ยวจะหมางใจกันเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ว่าพี่ไม่รักเธอไม่จริงใจ แต่ถ้าในรายไหนที่เปิดใจรับได้ จะต้องทำสัญญาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เท่านั้น
นั่นเพราะมีข้อกฎหมาย ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1466 กำหนดไว้ว่า สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรส พร้อมกับการ จดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการ จดทะเบียนสมรสไว้ว่า ได้มีสัญญานั้นแนบไว้ และสัญญาที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงยกเลิกเองไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล
หลังจดทะเบียนสมรสแล้ว สามีและภรรยาถือว่าเป็นหุ้นส่วนชีวิต ทุกอย่างหลังจากนี้แล้วต้องแบ่งกัน ตามภาษากฎหมายบอกไว้ว่า สินสมรสนั้นครอบคลุมเฉพาะสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีการจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น เท่ากับว่าหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว สามีและภรรยาถือว่าเป็นหุ้นส่วนชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างหลังจากนี้ล้วนต้องแบ่งปันกัน
ส่วนใหญ่เรื่องทรัพย์สินที่มักมีปัญหา มักจะเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนเงินทอง โอกาสเกิดความยุ่งยากมักมีน้อย
เช่นถ้าซื้อบ้านและที่ดิน จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนจดทะเบียนสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว ถ้าช่วยกันผ่อนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือว่าแบ่งกันคนละครึ่ง แต่มิใช่สินสมรส หญิงชายเป็นสามีภรรยากันเป็นผัวเมียอยู่ด้วยกันเฉย ๆ ไม่ได้จดทะเบียน แม้ช่วยกันทำมาหากิน ให้แบ่งกันคนละครึ่ง ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ถ้าได้มาฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่เกี่ยว ถือว่าเป็นสินส่วนตัว ไม่ว่าจะได้มาโดยพินัยกรรมหรือการยกให้อย่างหนึ่งอย่างใด ได้กรรมสิทธิ์ก่อนจดทะเบียนสมรส ไม่ใช่สินสมรส ไม่ว่าจะได้มาโดยการซื้อ การครอบครองปรปักษ์ การครอบครองที่ดินมือเปล่าแม้จะออกนส.3 ภายหลังก็ตาม
แต่กระนั้นก็มีหลักเกณฑ์ข้อต่อไปนี้ที่จะสร้างปัญหาได้ในภายหลัง นั่นคือ การยกที่ดินและบ้านเพื่อให้เป็นของขวัญแก่คู่แต่งงาน แม้ว่าจะจดทะเบียนเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ก็ยังถือว่าเป็นสินสมรส แม้ว่าจะยกให้ก่อนแต่งงาน แต่ถ้ามีการระบุชัดเจนว่าเพื่อการสร้างครอบครัวใหม่ ก็จัดเข้าข่ายสินสมรสได้ แค่เพียงออกปากว่า ไว้สร้างครอบครัว แม้โอนกรรมสิทธิ์ของเราฝ่ายเดียว ยังไงก็เป็นสินสมรส อยู่ดี
ดังนั้นต่อไป ถ้าเป็นฝ่ายรับที่ดิน ควรขอร้องผู้ยกที่ดินให้ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็น ทรัพย์สินส่วนตัว เอาไว้เป็นที่พักพิงยามยาก หรือจะยกที่ดินให้ลูกหลานก็ระบุไว้เลยว่าเป็นสินส่วนตัว ป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า
เรื่องของที่ดินและบ้านที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส ซึ่งกฎหมายครอบคลุมไว้กว้างขวางดังนี้ ที่ดินซื้อตอนแต่งโอนกรรมสิทธิ์หลังหย่าก็เป็นสินสมรส ใครที่ผ่อนที่ดินอยู่เห็นอนาคตว่า คงต้องหย่ากัน แน่ ดึงเรื่องไว้ไม่ยอมโอนกรรม สิทธิ์ไว้หย่าแล้วค่อยโอน ตามกฎหมายยังถือว่าเป็นสินสมรส
การซื้อที่ดินหลังจดทะเบียนสมรส จะคิดแยบยล ใส่ชื่อคนอื่นก็ไม่สำคัญ กฎหมายยังถือว่าเป็นสินสมรส (หมายถึงการยืมชื่อผู้อื่น อาทิ พ่อแม่ มาเป็นเจ้าของที่ดิน หากบุคคลท่านนั้นไม่มีรายได้หรือพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีกำลังซื้อที่ดิน ที่ดินนั้นก็ยังเป็นสินสมรส)
ประเด็นน่าสนใจต่อมา กรณีฝากเงินส่วนตัวก่อนสมรส แต่ดอกเบี้ยงอกเงยระหว่างสมรส ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส (เงินต้นเป็นสินส่วนตัว ดอกเบี้ยเป็นสินสมรส) แต่ที่ดินส่วนตัวโอนกรรมสิทธิ์ก่อนสมรส หลังสมรสที่ดินราคาขึ้นขายได้กำไร ในส่วนของกำไรไม่ถือเป็นสินสมรส ขณะเดียวกันผลของการที่เป็นสินสมรสผูกพันต่อเนื่อง อาทิ ที่ดินสินสมรสจะแปรสภาพอย่างไร ขายไปได้เงินซื้อที่ดินแปลงใหม่ขายไปซื้อใหม่ หรือเอาเงินนั้นรับซื้อฝากที่ดินแล้วได้ที่ดินหลุดมาเป็นกรรมสิทธิ์ ที่ดินนั้นก็ยังคงเป็นสินสมรสอยู่ดี
ยามรักกันชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ แต่ยามเลิกกันไม่เห็นทั้งนกและไม้ แต่จะเห็นแก่ตัวขึ้นมาทันที สมบัติที่มีระหว่างครองรัก อาจนำมาด้วยเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะในทางปฏิบัติทรัพย์สินส่วนตัวเอาไปเป็นสินสมรสสร้างครอบครัวไม่ยาก แต่เมื่อไรที่นำสินสมรส มาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวนั่นยุ่งยาก เพราะยังไงต้องหารสอง ถือว่าคุณและเขาคือคนคน เดียวกัน.
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์