อันว่าให้นั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับและผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
จะเห็นว่าการให้นั้นเป็นสัญญาฝ่ายเดียวที่ไม่มีค่าตอบแทนใด สมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้นั้น เพราะการให้นั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้นั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 523 และหากเป็นการให้ทรัพย์สินประเภท อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดิน ฯลฯ จะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์สินที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525
นอกจากเรื่องของการให้แล้ว กฎหมายยังได้บัญญัติหลักเกณฑ์การถอนคืนการให้ไว้อีก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 531 คือ อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
การให้ไม่ใช่ว่าเกิดเหตุตามมาตรา 531 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ให้จะถอนคืนการให้ได้เสมอไป กฎหมายยังบัญญัติเรื่องที่จะถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ไว้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 535 อีกคือ การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้คือ
(1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
(2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
(4) ให้ในการสมรส
นอกจากนั้นการถอนคืนการให้ไม่ใช่ว่าจะถอนคืนการให้กันได้ตลอดเวลา จึงมีเรื่อง อายุความ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งกฏหมายได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 533 ว่า "เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปี ภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น"
สรุปก็คือ อายุความเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณมี 2 กรณีคือ
(1) ภายในหกเดือนนับแต่ผู้ให้ได้รู้ถึงเหตุประพฤติเนรคุณนั้น
(2) ภายในสิบปีนับแต่เกิดเหตุประพฤติเนรคุณ