การวัดมูลค่าของรายได้ จะต้องใช้มูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่ได้รับหรือค้างรับ
รายได้อาจเกิดขึ้นได้ จากรายการหรือเหตุการณ์ทางบัญชีดังต่อไปนี้ คือ
1. การขายสินค้า
2. การให้บริการ
3. การให้ผู้อื่นใช้ทรัพย์สินและเกิดรายได้
1. การขายสินค้า
กิจการต้องรับรู้รายได้จากการขายสินค้าเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขครบถ้วนทุกข้อดังนี้
1. ผู้ขายต้องโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว
2. ผู้ขายไม่เกี่ยวข้องในการบริหารสินค้าอย่างต่อเนื่องในระดับที่เจ้าของพึงกระทำหรือไม่ได้ควบคุมสินค้าที่ขายไปแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. ผู้ขายสามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้อย่างน่าเชื่อถือ
4. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอน ที่ผู้ขายจะได้รับประโยชน์จเชิงเศรษฐกิจของรายการบัญชีนั้น
5. ผู้ขายสามารถวัดมูลค่าของต้นทุนที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากรายการบัญชีนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ
การขายสินค้าในรูปแบบพิเศษ
1. การขายสินค้าแบบมีเงื่อนไข
- การขายสินค้าโดยมีเงื่อนไขการติดตั้งและการตรวจสอบ กิจการจะรับรู้รายได้ หากผู้ซื้อได้ยอมรับสินค้า เมื่อการติดตั้งและสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว
- การขายโดยมีเงื่อนไขที่ผู้ซื้อสามารถคืนสินค้าได้ภายในกำหนด กิจการต้องรับรู้รายได้เมื่อผู้ซื้อยอมรับสินค้าอย่างเป็นทางการ หรือ เมื่อพ้นระยะเวลาการคืนสินค้าได้สิ้นสุดลง
2. การฝากขาย
ในการฝากขาย ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่ร้านค้าตัวกลาง หรือร้านค้าปลีก โดยมีข้อตกลงว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของผู้ฝากขายอยู่ โดยผู้รับฝากขายจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการขายสินค้าเท่านั้น และจะได้รับค่าตอบแทนจากการขายในรูปของ ค่านายหน้า โดยจะหักจากเงินที่ผู้รับฝากขายขายสินค้านั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ฝากขายต้องรับรู้รายได้เมื่อผู้รับฝากขายนั้นขายสินค้าให้บุคคลที่สามได้แล้วเท่านั้น
3. การขายสินค้าโดยยังไม่ส่งมอบสินค้าเนื่องจากเป็นความประสงค์ของผู้ซื้อ ทั้งนี้ ผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ในสินค้า และยอมรับหนี้แล้ว กิจการสามารถรับรู้รายได้ก็ต่อเมื่อ
- มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ
- สินค้าที่ขายไปแล้วนั้นอยู่ในความครอบครองของกิจการ ซึ้งกิจการได้ระบุไว้แล้วอย่างชัดเจน และสินค้าพร้อมที่จะส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ร เวลาที่มีการรับรู้รายได้
- ผู้ซื้อมีคำสั่งเลื่อนเวลาการส่งมอบสินค้า
- เงื่อนไขการชำระเงินเป็นไปตามปกติ
4. การขายแบบจ่ายเงินสดเมื่อส่งมอบ กิจการต้องรับรู้รายได้เมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อและได้รับเงินสด
5. การขายในกรณีที่จะส่งมอบสินค้าก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ชำระเงินครบ กิจการต้องรับรู้รายได้ เมื่อมีการส่งมอบสินค้า หรือเมื่อได้รับเงินมัดจำส่วนใหญ่ โดยสินค้าอยูในความครอบครองของผู้ขายและพร้อมที่จะส่งมอบ
6. การขายโดยมีสัญญาซื้อคืน ซึ่งผู้ขายตกลงที่จะซื้อสินค้านั้นคืนในภายหลัง หรือเมื่อผ้ขายมีสิทธิเลือกซื้อคืนหรือผู้ซื้อมีสิทธิเลือกที่จะขายคืน กิจการต้องรับรู้รายได้เมื่อแน่ใจว่าได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว
7. การขายตามสัญญาผ่อนชำระ กิจการต้องรับรู้รายได้ ณ วันที่ขาย ซึ่งราคาขายเป็นราคาที่ไม่รวมดอกเบี้ยและเป็นมูลค่าปัจจุบันของสิ่งตอบแทน ส่วนดอกเบี้ยให้รับรู้ตามเกณฑ์สัดส่วนของระยะเวลา โดยคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดขึ้น
8. การขายอสังหาริมทรัพย์ ให้ปฎิบัติตาม มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 เรื่อง การรับรู้รายได้สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
9. การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ต่อสินทรัพย์ จะรับรู้รายได้เมื่อกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะไม่เหมือนกัน โดยใช้มูลค่ายุติธรรมของสินค้าหรือบริการที่นำไปแลก
การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะและมูลค่าใกล้เคียงกัน ไม่ถือว่าการแลกเปลี่ยนรายการนี้ทำให้เกิดรายได้
2. การให้บริการ
เงื่อนไข
1. กิจการสามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ ได้อย่างน่าเชื่อถือ ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ตามวิธีการที่เลือกได้ดังนี้
1.1 อัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ
1.2 อัตราส่วนของบริการที่ให้จนถึงปัจจุบันเทียบกับการบริการทั้งหมดที่ให้
1.3 สัดส่วนของต้นทุนที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันกับประมาณการต้นทุนทั้งสิ้น
1.4 วิธีเส้นตรง
2. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการบัญชีนั้น
3. กิจการสามารถวัดขั้นความสำเร็จของรายการบัญชี ณ วันที่ในงบดุลได้อย่างเชื่อถือ
4. กิจการสามารถวัดมูลค่าของต้นทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ
การรับรู้รายได้ของการให้บริการ อาจจำแนกได้ตามลักษณะของงานให้บริการในแต่ละกรณีได้ดังต่อไปนี้
1. ค่าติดตั้ง กิจการต้องรับรู้รายได้จากการติดตั้งตามขั้นความสำเร็จของบริการที่ให้ เว้นแต่ การติดตั้งนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของการขาย ซึ่งกรณีนี้ต้องรับรู้รายได้เมื่อขายสินค้าให้รวมเป็นการขายสินค้า
2. ค่าบริการซึ่งรวมอยู่ในราคาของผลิตภัณฑ์ จำนวนค่าบริการที่สามารถระบุจำนวนได้ จะต้องบันทึกเป็นรายได้รอการตัดบัญชี และทยอยรับรู้เป็นรายได้ตลอดเวลาที่มีการให้บริการตามปกติ
3. ค่านายหน้าโฆษณา กิจการต้องรับรู้เป็นรายได้ตามขั้นความสำเร็จของงาน
4. ค่านายหน้าประกันภัย กิจการต้องรับรู้รายได้ค่านายหน้าประกันภัยที่ได้รับหรือค้างรับ เมื่อกรมธรรม์ใหม่มีผลบังคับใช้หรือวันที่ต่ออายุกรมธรรม์ หรือ อาจเลือกบันทึกเป็นรายได้รอการตัดบัญชีและทยอยรับรู้เป็นรายได้ตลอดอายุกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ
5. ค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงิน กิจการต้องรับรู้รายได้ตามวัตถุประสงค์ที่ค่าธรรมเนียมนั้นจัดเก็บและตามเกณฑ์การบันทึกบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวข้อง
6. ค่าผ่านประตู ต้องรับรู้รายได้จากการแสดง จัดเลี้ยง งานรื่นเริงอื่น เมื่องานเหล่านั้นได้สิ้นสุดลง (แสดงจบ)
7. ค่าธรรมเนียมในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามความต้องการของลูกค้า ต้องรับรู้รายได้ตามขั้นความสำเร็จของการพัฒนา ซึ่งขั้นของความสำเร็จดังกล่าวต้องรวมถึงการให้บริการภายหลังการส่งมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
8. ค่าเล่าเรียน กิจการต้องรับรู้รายได้ค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลาที่มีการสอน
9. ค่ารับขนสินค้า กิจการต้องรับรู้รายได้เมื่อได้ส่งมอบสินค้าที่รับขนถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
3. การให้ผู้อื่นใช้ทรัพย์สินซึ่งก่อให้เกิดรายได้
กิจการต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ดอกเบี้ย กิจการต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สัดส่วนของเวลา โดยคำนึงถึงอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของทรัพย์สิน
2. ค่าสิทธิ กิจการต้องรับรู้ตามเกณฑ์คงค้าง ซึ่งเป็นไปตามเนื้อหาของข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกัน
3. เงินปันผล กิจการต้องรับรู้เมื่อกิจการมีสิทธิได้รับเงินปันผล เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการประกาศจ่ายเงินปันผล
การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน
กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้
1. นโยบายการบัญชีที่กิจการใช้ในการรับรู้รายได้ ซึ่งรวมถึงวิธีการกำหนดขั้นความสำเร็จของรายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ
2. จำนวนรายได้ที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งรับรู้ระหว่างงวดตามประเภทดังต่อไปนี้
ก. การขายสินค้า
ข. การให้บริการ
ค. ดอกเบี้ย
ง. ค่าสิทธิ
จ. เงินปันผล
3. จำนวนรายได้ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการซึ่งรวมอยู่ในรายได้แต่ละประเภทข้างต้น
4. รายการกำไรหรือขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าและเหตุการณ์หลังวันที่ในงบการเงิน