กลโกงบัตรเครดิต
ปัจจุบันพบกลโกงบัตรเครดิตในประเทศไทยหลายวิธี ได้แก่
1. การใช้อุปกรณ์อ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็ก (เครื่อง Skimmer) คัดลอกข้อมูลส่วนตัวที่บันทึกในแถบแม่เหล็กบนบัตรเครดิต แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปทำบัตรปลอม
และนำบัตรปลอมนั้นไปซื้อสินค้าหรือบริการ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันการเงินอยู่ระหว่างการเปลี่ยนรูปแบบของบัตรเครดิตจากการเก็บข้อมูลในแถบแม่เหล็ก
มาเป็นการใช้ชิปแทน ซึ่งจะช่วยลดปัญหานี้ได้
2. การขโมยบัตรเครดิตหรือนำบัตรเครดิตที่สูญหายไปใช้โดยเจ้าของบัตรไม่รู้ตัวดังนั้น หากพบว่าบัตรเครดิตสูญหายหรือถูกขโมย ให้รีบติดต่อสถาบันการเงิน
ผู้ออกบัตรเครดิตทันทีเพื่อขออายัดบัตร เพราะหากผู้อื่นนำไปใช้ ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้น
3. การปลอมแปลงเอกสารสำคัญเพื่อสมัครบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน เพื่อหลอกลวงให้สถาบันการเงิน
ผู้ออกบัตรเครดิตหลงเชื่อ และนำบัตรเครดิตนั้นไปใช้จ่ายในนามของท่าน ทำให้ผู้ที่ถูกแอบอ้างเดือดร้อนเพราะถูกเรียกเก็บหนี้ที่ตนไม่ได้ก่อ
ข้อแนะนำในการป้องกันกลโกงบัตรเครดิต
1. ควรเก็บรักษาบัตรเครดิต บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ และเอกสารสำคัญอื่น ๆ ไว้ในที่ที่ปลอดภัย และไม่มอบเอกสารดังกล่าวให้กับผู้ไม่น่าไว้ใจ
2. ควรจดหมายเลขที่บัญชีบัตรเครดิตและหมายเลขโทรศัพท์ของแผนกบริการไว้ในที่ปลอดภัย (ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์)
3. เพื่อป้องกันกลโกงแบบ Skimming หากท่านจ่ายค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิต ท่านควรอยู่ ณ จุดที่พนักงานทำรายการอยู่ หรืออยู่บริเวณใกล้ ๆ
ในระยะที่สังเกตได้
4. หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตในร้านค้าที่มีความเสี่ยงหรือมีข่าวเรื่องการทุจริต
5. ท่านควรตรวจสอบความถูกต้องของรายการใช้จ่ายในสลิปบัตรเครดิต เช่น จำนวนเงิน วันที่ทำรายการ เลขที่บัญชี ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต
และควรเก็บสำเนาสลิปบัตรเครดิตเอาไว้เพื่อใช้ตรวจกับใบแจ้งยอดบัญชีว่าถูกต้องและตรงกัน หากพบรายการผิดพลาด ต้องรีบแจ้งผู้ออกบัตรเครดิตทันที
6. ระมัดระวังการใช้บัตรเครดิตเบิกเงินผ่านตู้เอทีเอ็มที่มีลักษณะน่าสงสัยว่าอาจมีการลักลอบติดตั้งอุปกรณ์ Skimmer รวมทั้ง ในขณะที่กดรหัสเอทีเอ็ม
ต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นเห็นด้วย
7. ควรเลือกซื้อสินค้าหรือบริการทางอินเตอร์เน็ตจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้
กลโกงการปลอมแปลง E-mail และ Website สถาบันการเงินปลอม
Phishing คือ การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของการปลอมแปลง e-mail หรือสร้าง Website ปลอม เพื่อหลอกให้ลูกค้าเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงิน
หรือข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เช่น ข้อมูลหมายเลขบัตรเครดิต Username และ Password เป็นต้น ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเงินต่อลูกค้าและสถาบันการเงิน
รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในการใช้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
วิธีการที่พบในปัจจุบัน คือ การหลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อว่ามี e-mail มาจากสถาบันการเงินและใช้หัวข้อและข้อความที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ขอให้ลูกค้าแจ้งยืนยัน
ข้อมูลทางการเงินเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยของบัญชีลูกค้า หรือ การแจ้งลูกค้าว่าถึงรอบระยะเวลาที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า หรือ
การแจ้งว่าบัญชีของลูกค้าได้ถูกอายัดไว้ชั่วคราว จึงขอให้ลูกค้ายืนยันข้อมูล เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป เป็นต้น
พร้อมใส่สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของสถาบันการเงินและ Hyperlink ที่ e-mail โดยมีชื่อโดเมนและ Subdirectory เหมือนกับ URL ของสถาบันการเงินนั้น ๆ
ซึ่งแท้จริงแล้วเป็น Website ปลอม ที่เรียกว่า Spoofed Website หรือแนบแบบฟอร์มการสอบถามข้อมูล เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขบัตรเครดิต
เลขที่บัญชีเงินฝาก ชื่อบัญชีผู้ใช้บริการ (Username) และรหัสผ่าน (Password) เป็นต้น หลังจากที่ลูกค้าได้กรอกข้อมูลลงใน Website ปลอม หรือ
แบบฟอร์มการสอบถามนั้น ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น การโอนเงินหรือการชำระเงินให้บุคคลที่สามผ่านการให้บริการ Internet Banking
หรือ Telephone Banking หรือ Mobile Banking หรือ การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตโดยใช้บัตรเครดิต เป็นต้น
ข้อแนะนำในการป้องกันการปลอมแปลง E-mail และ Website สถาบันการเงินปลอม
1. อย่าตอบรับ e-mail ที่ขอให้ท่านส่งข้อมูลส่วนตัวให้ รวมทั้ง ไม่ส่งข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลสำคัญทางการเงิน เช่น หมายเลขบัตรเครดิต
ชื่อบัญชีผู้ใช้บริการ (Username) และรหัสผ่าน (Password) หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ไปกับ e-mail หรือ
การติดต่อทางโทรศัพท์ที่แอบอ้างมาจากสถาบันการเงิน
2. ไม่ควรใช้ Hyperlink ที่แนบมากับ e-mail หากต้องการเข้าใช้บริการ ให้เข้าผ่าน Website ของสถาบันการเงินนั้น ๆ โดยตรง
กลโกงสินเชื่อส่วนบุคคล
ในปัจจุบันแม้ว่าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก
แต่ยังมีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (สินเชื่อนอกระบบ) ที่เอาเปรียบผู้กู้เงิน ซึ่งจะนำไปสู่ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจบริการเงินด่วนนอกระบบสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่นประกาศตามเสาไฟฟ้าหรือโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ Website ตู้โทรศัพท์สาธารณะ โดยมี
ข้อความเชิญชวนให้มาใช้บริการ เช่น ระบุว่า “ให้วงเงินสูง อนุมัติและรับเงินสดทันทีภายใน 30 นาที” โดยสินเชื่อนอกระบบเหล่านี้จะมีอัตราดอกเบี้ย
ค่าบริการและค่าธรรมเนียมที่แพงกว่าปกติ
ตัวอย่าง
1. เมื่อลูกค้าติดต่อเข้าไปตามหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ระบุไว้ในโฆษณาผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบจะแนะนำวิธีการและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขอรับสินเชื่อ
ซึ่งลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดีหรือลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงินแล้วก็สามารถใช้บริการนี้ได้
2. เมื่อลูกค้ายอมรับข้อตกลงในการให้สินเชื่อ ผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบจะดำเนินการ ดังนี้
- กรณีลูกค้ามีบัตรเครดิตหรือบัตรของ Non-Bank ที่ให้บริการผ่อนสินค้าหรือสินเชื่อเงินสดก็จะให้ไปซื้อสินค้าจากร้านค้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก
กล้องถ่ายรูปดิจิตอล และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
- กรณีลูกค้าไม่มีบัตรดังกล่าวก็จะพาไปทำบัตรสมาชิกของ Non-Bank ที่ให้บริการผ่อนสินค้า หลังจากนั้นก็จะพาไปซื้อสินค้าจากร้านค้า
3. เมื่อได้สินค้าแล้ว ผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบจะรับสินค้าไว้และจ่ายเงินสดให้ลูกค้าแทนโดยจะหักค่านายหน้าในการให้บริการไว้ประมาณ 30% เช่น
ซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 100,000 บาท หักค่านายหน้า 30% เป็นเงิน 30,000 บาท ลูกค้าได้รับเงินสด 70,000 บาท แต่เป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท
4. หลังจากนั้น ลูกค้าสมาชิกบัตรจะต้องเป็นผู้ผ่อนชำระค่าสินค้าซึ่งรวมเงินต้น (100,000 บาท) พร้อมดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
กับสถาบันผู้ออกบัตรทำให้ผู้กู้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบไม่ต้องร่วมรับผิดชอบใด ๆ และยังนำสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายต่อด้วย
ข้อแนะนำในการป้องกันกลโกงสินเชื่อส่วนบุคคล
1. ควรใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแทนการกู้เงินนอกระบบ เนื่องจากการกู้เงิน
นอกระบบดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมจะแพงกว่าปกติ
2. ในการเลือกใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลกับผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวควรพิจารณาเรื่อง อัตราดอกเบี้ย และ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน
ค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี) เป็นต้น
3. ระมัดระวังโฆษณาที่ระบุว่า “ดอกเบี้ยต่อเดือนน้อยนิด หรือดอกเบี้ย 0%” โดยต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราต่อเดือนหรือไม่ ถ้าใช่ให้คูณ 12
จึงจะได้อัตราดอกเบี้ยต่อปีที่ต้องจ่ายจริง
นอกจากนี้ หากดอกเบี้ยที่ท่านต้องจ่าย มีลักษณะเป็นจำนวนคงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ (Flat Rate) ท่านต้องลองคำนวณว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก
(Effective Rate) เป็นเท่าไรโดยคูณด้วย 1.8 นอกจากดอกเบี้ยแล้ว ท่านต้องพิจารณาว่ายังมีค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
หากใช้บริการดังกล่าว เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ ค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสหรือธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
4. อย่าใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลเพียงเพื่อต้องการของแถมจากผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว เพราะท่านอาจประสบปัญหาหนี้สินได้ ควรระลึกอยู่เสมอว่า
ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
การล่อลวงข้อมูลลูกค้าจากกลุ่มมิจฉาชีพ
ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีกลุ่มมิจฉาชีพพยายามเจาะข้อมูลของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้หาประโยชน์ในทางที่มิชอบ โดยใช้วิธีการอ้างว่าลูกค้าประชาชนมีหนี้อยู่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพจะมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. โทรศัพท์ไปหาลูกค้าประชาชนแจ้งว่า ท่านค้างชำระหนี้จำนวนหนึ่งและจะมีเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โทรมาสอบถามข้อมูลเพื่อจะแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ที่ค้างชำระนั้นให้ถูกต้อง
2. ต่อมาผู้ที่อยู่ในกลุ่มมิจฉาชีพอีกคนหนึ่งจะโทรศัพท์มาเป็นครั้งที่สองโดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ธปท. มาขอข้อมูล เช่น วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตร ATM หรือหลอกลวงให้ไปที่ตู้ ATM และทำรายการตามที่บอก โดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งจะกลายเป็นการโอนเงินไปให้กลุ่มมิจฉาชีพ
นอกจากนี้อาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกัน วิธีการปกติในการที่จะล่อลวงเอาเงินของลูกค้าประชาชนที่มีบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตร ATM หรือบัตรที่ใช้ในการถอนเงินต่าง ๆ พวกมิจฉาชีพจำเป็นต้องรู้ข้อมูลของลูกค้าเสียก่อน โดยเฉพาะรหัสต่าง ๆ เช่น Security Code (หมายเลข 3 ตัวสุดท้ายที่อยู่ด้านหลังบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต) และใช้ข้อมูลรหัสดังกล่าวไปทำบัตรปลอมเพื่อลักลอบถอนเงินของลูกค้า
ข้อแนะนำในการป้องกันการล่อลวงข้อมูล
1. โปรดทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีเจ้าหน้าที่ของ ธปท. มีส่วนเกี่ยวข้องในการโทรศัพท์ขอข้อมูลท่านอย่างแน่นอน อย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของพวกมิจฉาชีพ
2. อย่าได้เปิดเผยข้อมูลในบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตร ATM ของท่านให้แก่คนที่ท่านไม่รู้จักไม่ว่าจะมีข้อกล่าวอ้างประการใด
3. หากท่านได้รับโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลใด ๆ ขอให้ท่านตรวจสอบไปยังธนาคารพาณิชย์หรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตโดยตรง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยไม่ใช้เบอร์โทรศัพท์ที่ผู้ขอข้อมูลแจ้งมา
4. หากมีเหตุที่ท่านไม่แน่ใจว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพได้ล่วงรู้ข้อมูลของท่านไปแล้วหรือไม่ ขอได้โปรดติดต่อกลับไปยังธนาคารเจ้าของบัตรหรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตโดยตรงเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นและอาจทำการยกเลิกบัตรและเปลี่ยนบัตรใหม่