หน้า ๓๘
เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๑๔ ง ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙
ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี
ฉบับที่ 25/2549
เรื่อง การบันทึกบัญชีเมื่อมีการตีราคาใหม่
อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 (3) และ มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และกฎหมายอื่น ทั้งนี้ มาตรฐานการบัญชีนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงจะใช้บังคับได้
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยความเห็นชอบในการกำหนดมาตรฐานการบัญชีของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพในการประชุมครั้งที่ 5 (2/2549) เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 จึงออกประกาศ ดังนี้
เมื่อมีการตีราคาใหม่ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ให้ปฏิบัติโดยมีทางเลือกในการบันทึกบัญชีได้ 2 วิธีดังนี้
1. ปฏิบัติตามหลักการที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่ 38 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หรือ
2. ปฏิบัติตามเกณฑ์ราคาทุน เมื่อมีการตีราคาเพิ่มขึ้น ดังนี้
2.1 ให้ปรับปรุงราคาตามบัญชีของสินทรัพย์ ให้มีราคาตามราคาที่ตีใหม่โดยบันทึกเฉพาะมูลค่าสุทธิของราคาตามบัญชีที่ตีเพิ่มขึ้นไปยัง บัญชีสินทรัพย์ - ราคาที่ตีเพิ่ม คู่กับ บัญชีส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม ทั้งนี้ บัญชีสินทรัพย์เดิมก็ยังแสดงอยู่ในราคาทุนตามเดิม
2.2 ค่าเสื่อมราคาที่ตัดไปสู่บัญชีกำไรขาดทุน ให้คำนวณตามราคาต้นทุนเดิม
2.3 ค่าเสื่อมราคาของส่วนที่ตีราคาเพิ่มขึ้น ให้ตัดไปสู่บัญชีส่วนเกินทุนจากการตีราคาเพิ่ม
2.4 ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการบันทึกบัญชีที่ใช้ปฏิบัติและผลกระทบต่อ งบกำไรขาดทุน และกำไรต่อหุ้นที่แตกต่างจากวิธีปฏิบัติตามข้อ 1
ทั้งนี้ การแสดงวิธีการบันทึกบัญชีตามเกณฑ์ราคาทุนให้ปฏิบัติตามเอกสารที่แนบท้ายประกาศฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2549
เกษรี ณรงค์เดช
(ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช)
นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
การแสดงการลงบัญชี
เมื่อต้นปี 2541 บริษัทซื้อเครื่องจักรในราคา 120,000 บาท บริษัทคาดว่า เครื่องจักรไม่มีราคาซาก และมีอายุการใช้งาน 6 ปี คิดค่าเสื่อมราคาโดยวิธีเส้นตรง ณ วันสิ้นปี 2542 ราคาประเมินเครื่องจักรเป็น 100,000 บาท
ราคาทุน 120,000 บาท
หัก ค่าเสื่อมราคาสะสม (40,000) บาท
ราคา ณ ตามบัญชี ณ วันสิ้นปี 2542 80,000 บาท
31 ธ.ค. 2542
1) เดบิต เครื่องจักร-ราคาที่ตีเพิ่ม 20,000 บาท
เครดิต ส่วนเกินทุนจากการตีราคา
สินทรัพย์เพิ่ม 20,000 บาท
ปี 2543
2) เดบิต ค่าเสื่อมราคา-เครื่องจักร(ตามต้นทุนเดิม) 20,000 บาท
เครดิต ค่าเสื่อมราคาสะสม-เครื่องจักร 20,000 บาท
3) เดบิต ส่วนเกินทุน จากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม 5,000 บาท
เครดิต ค่าเสื่อมราคาสะสม-เครื่องจักร
ส่วนที่ตีราคาเพิ่ม 5,000 บาท
(20,000 ÷ 4 = 5,000)
การเปิดเผยในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2543
เครื่องจักร (ราคาทุนเดิม) 120,000 บาท
หัก ค่าเสื่อมราคาสะสม (ราคาทุนเดิม) (60,000) 60,000 บาท
เครื่องจักร ราคาที่ตีเพิ่ม 20,000
หัก ค่าเสื่อมราคาสะสม เครื่องจักร
ส่วนที่ตีราคาเพิ่ม (5,000) 15,000 บาท
สำหรับส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม (15,000) จะแสดงอยู่ในส่วนทุน