สิทธิในการได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง
เลิกจ้าง คำนี้คงไม่มีใครอยากได้ยินจากปากนายจ้างของตนแน่ แต่บางที สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมันบังคับ นายจ้างจำเป็นต้องลดขนาดกิจการลง มิเช่นนั้นก็ต้องปิดบริษัท จึงจำต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน ก็ต้องมาดูกันว่าหากเราเป็นลูกจ้างในส่วนที่ถูกแจ๊คพ๊อตนั้น เราจะมีสิทธิอย่างไรบ้างตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่จะได้รับนั้นจะมีจำนวนเท่าไหร่
เบื้องต้นเราจำต้องรู้ความหมายของคำเหล่านี้ให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่สับสน
- การเลิกจ้าง คือ การกระทำใด ๆ ก็ตามที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
- ค่าชดเชย คือ เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
- บุคคลที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย คือ ลูกจ้างซึ่งนายจ้างบอกเลิกการจ้างเท่านั้น มิใช่การลาออกด้วยใจสมัครของลูกจ้างหรือการเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนด กฎหมายก็ถือว่าเป็นการลาออกเองเช่นกัน
จำนวนเงินค่าชดเชยที่พึงได้รับตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
1. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
4. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
5. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน) หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ใครจะได้เท่าไหร่ ก็นับอายุงานของตัวเองกันเลยนะครับ ถ้าทำมานานก็ได้มากหน่อย ทำไม่นานก็ได้น้อยหน่อย แต่ก็ยังมีลูกจ้างบางประเภทนะครับที่แม้ว่าจะถูกเลิกจ้าง ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เรามาดูข้อยกเว้นดังกล่าวกันนะครับ
ข้อยกเว้นที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
1. ลูกจ้างลาออกจากงานด้วยความสมัครใจเอง
2. เป็นลูกจ้างประเภทกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น ซึ่งกฎหมายได้ กำหนดรายละเอียดไว้ด้วยว่า การเลิกจ้างงานแบบใดที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
2.1 การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ
2.2 การค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน
2.3 งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน
2.4 งานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
ทั้งนี้ การจ้างงานดังกล่าวมาข้างต้น นายจ้างและลูกจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง และงานนั้นต้องทำแล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
3. ถ้าเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
3.1 ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
3.2 จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3.3 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
3.4 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน และหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับใช้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
3.5 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
3.6 ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
นอกจากค่าชดเชยปกติที่ได้กล่าวมานั้น กฎหมายยังกำหนดให้มีค่าชดเชยพิเศษซึ่งลูกจ้างพึงได้รับ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้งที่อื่น อันกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง และกรณีถูกเลิกจากเพราะนายจ้างนำเครื่องจักรมาใช้และลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งกรณีนี้มีการกำหนดจำนวนเงินและหลักเกณฑ์เฉพาะไว้ต่างหาก
ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ลูกจ้างและนายจ้างทั้งหลายควรตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตน ในการเลิกจ้างงานหรือถูกเลิกจ้างงาน เพราะแท้จริงแล้วนายจ้างกับลูกจ้างก็เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเสมอไป