ประกันสังคม - การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
ใช้สำหรับ ผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการ ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่ต้องการจะประกันตนเอง
หลักเกณฑ์ การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
1. คุณสมบัติและหลักเกณฑ์
1.1 ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และส่งเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือนขึ้นไป
1.2 ต้องยื่นแบบคำขอภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
1.3 ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
2. การยื่นแบบคำขอ
ผู้แสดงความจำนงต้องกรอกแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ตามแบบ สปส.1-20) พร้อมทั้งถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชนที่ลงลายมือชื่อโดยเจ้าของบัตร ยื่นแบบคำขอด้วยตนเอง ณ สำนักงานประกันสังคม หรือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ทุกแห่ง หากไม่ได้มายื่นแบบด้วยตนเอง ผู้มายื่นแบบแทนต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้กระทำแทน โดยติดอากรแสตมป์ที่หนังสือมอบอำนาจ จำนวน 10 บาท
3. ฐานเงินเดือนและเงินสมทบที่ต้องนำส่ง
ฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้กำหนดไว้ อัตราเดือนละ 4,800 บาท ผู้ประกันตนต้องเป็นผู้นำส่งเงินสมทบเอง ภายในวันที่ 15 ของเดือนทุกเดือน โดยใช้อัตราเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างรวมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตรา 9% ของอัตราเงินเดือนที่ใช้เป็นฐานเงินเดือน ซึ่งเงินสมทบที่ต้องนำส่งคือเดือนละ 432 บาท
4. สิทธิประโยชน์ทดแทน
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม จะได้รับ 6 กรณี ยกเว้นประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ดังนี้คือ.-
4.1 ประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย
4.2 ประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร
4.3 ประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ
4.4 ประโยชน์ทดแทนกรณีตาย
4.5 ประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร
4.6 ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ