การชดเชยค่าภาษีอากร (มุมน้ำเงิน)
จ่ายคืนในรูปของ " บัตรภาษี " ( Tax Coupon )
การชดเชยค่าภาษีอากรเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่ช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ผลิตสินค้าส่งออกเพื่อให้สามารถแข่งขันราคารในตลาดต่างประเทศได้โดยการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรที่แฝงอยู่ในต้นทุนสินค้าที่ส่งออกในรูปของ บัตรภาษี ทั้งนี้ การจ่ายเงินดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524 พระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากร สินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน อธิบดีกรมศุลกากร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังผู้แทนกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ โดยมีหน้าที่ เช่น กำหนดอัตราเงินชดเชยแก่ชนิด และ / หรือสินค้าที่จะได้รับเงินชดเชยประเภทสินค้าที่ไม่ได้รับชดเชย หลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขและกำหนด เวลาการจ่ายเงินชดเชย ฯลฯ เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร
(1) เป็นผู้ส่งออกสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเองหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ผู้ส่งออก
(1.1) จะต้องไม่ใช้สิทธิคืนอากร หรือยกเว้นอากร หรือลดหย่อนอากรขาเข้า สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นสินค้าส่งออก ตามกฎหมายหนึ่งกฎหมายใด
(1.2) ผู้ส่งออกได้ปฏิบัติครบถ้วนตามมาตรา 45 และ 48 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(2) เป็นผู้ขายสินค้าให้แก่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ค่าของสินค้าดังกล่าว หรือทั้งหมดหรือบางส่วนจะต้องชำระจากเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
(3) เป็นผู้ขายสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคที่ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรให้แก่องค์การ ระหว่างประเทศหรือหน่วยงานใดที่มีสิทธินำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้
(4) สินค้าที่ส่งออกจะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้ คำว่า "ผลิต" หมายถึง การประกอบ แปรรูป แปรสภาพ หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใดและไม่เป็นสินค้าต้องห้ามมิให้ได้รับเงินชดเชยตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้การส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและได้รับเงินค่าราคารสินค้าเข้ามาในประเทศด้วย ถ้าเป็นการส่งออกเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ ฯลฯ ที่ไม่ใช่เพื่อการค้าย่อมไม่อาจขอชดเชยค่าภาษีอากรได้
(5) ต้องยื่นขอชดเชยค่าภาษีอากร ภายในหนึ่งปีนับแต่วันส่งสินค้าออก
(6) กรณีมีการส่งสินค้าคืนและต้องคืนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อจะต้องคืนเงินชดเชยเป็นจำนวนตามส่วนสินค้าที่รับคืนให้แก่กรมศุลกากรภายในหกสิบวันนับแต่วันที่นำสินค้าเข้า หรือนับแต่วันได้รับสินค้าคืนสำหรับกรณีที่ขายสินค้าภายในประเทศมิฉะนั้นต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละสองต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินชดเชยที่ต้องชำระคืนจนกว่าจะชำระคืนเงินชดเชยครบถ้วน
การดำเนินการสำหรับการขอชดเชยค่าภาษีอากร
(1) ผู้ส่งออกที่ต้องการจะขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรจะต้องยื่นคำร้องขออนุมัติในหลักการต่อกรมศุลกากรก่อนการส่งออก
(2) เมื่อได้รับแจ้งผลการอนุมัติในหลักการแล้วจึงจะส่งออกสินค้าได้ โดยยื่นใบขนสินค้าขาออก พร้อมด้วยใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงินและสำเนาใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นอีก 1 ฉบับ เพื่อผ่านพิธีการส่งออกตามปกติ
(3) เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้รับรองการตรวจปล่อยและรับบรรทุกสินค้าไปกับยานพาหนะที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้ผู้ส่งของออกขอรับสำเนาใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงินจากหน่วยงานที่รับรองการบรรทุกเมื่อได้รับรองการบรรทุกเสร็จสิ้นแล้ว
(4) ยื่นแบบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร (แบบ กศก.129) พร้อมเอกสารอื่น ๆ เช่น ใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงิน หลักฐานการรับเงินค่าขายสินค้า (CREDIT NOTE หรือ CREDIT ADVICE) ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.20) ฯลฯ เป็นต้น
(5) ขอรับบัตรภาษี เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สินค้าส่งออกที่ไม่มีสิทธิได้รับการชดเชยค่าภาษีอากร
(1) สินค้าที่ไม่ได้ผลิตในราชอาณาจักร
(2) แร่ ตามกฎหมายว่าด้วยแร่
(3) สินค้าซึ่งเสียภาษีอากร หรือค่าธรรมเนียมเมื่อส่งออก
(4) สินค้าที่คณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรกำหนดให้ไม่ได้รับชดเชย
(4.1) ประกาศคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรที่ 3/2527 มีผลบังคับแก่การส่งออกตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 2527 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยไม้สัก พยุง ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง ขะเจ๊าะ (สาธร) มะเกลือ ที่ไม่เหมาะที่จะ นำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น
(4.2) ประกาศคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรที่ 1/2535 มีผลบังคับแก่การส่งออกตั้งแต่ 1 มกราคม 2535 ได้แก่
4.2.1 ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง ข้าวอบแห้ง ปลายข้าว หรือรำ
4.2.2 ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี
4.2.3 ข้าวโพด ไม่ว่าเป็นฝักหรือเมล็ด อบ บด ทำให้เป็นซีกหรือชิ้น แต่ไม่รวมถึงแป้งข้าวโพด หรือข้าวโพดที่ผ่านกรรมวิธีเพื่อ ทำเป็นอาหารนอกจากอาหารสัตว์ (ไม่รวมฝักข้าวโพดอ่อนที่เป็นฝัก)
4.2.4 หนังสัตว์ที่ยังไม่ฟอก รวมทั้งเศษตัด และเศษ
4.2.5 ยางของต้นยางตระกูลฮีเวีย ไม่ว่าจะเป็นยาง แผ่นยาง แท่ง เศษยาง ยางก้อน น้ำยาง หรือขี้ยางจากต้นยาง ยางปน ดินหรือปนเปลือกต้นยาง รวมทั้งยางในลักษณะอื่นซึ่งยังอยู่ในสภาพวัตถุดิบ
4.2.6 รังไหม เส้นไหมดิบที่ยังมิได้ตีเกลียว และเส้นด้ายที่ทำด้วยไหม ขี้ไหม หรือเศษไหม
4.2.7 ถั่วทุกชนิด ไม่ว่ากะเทาะเปลือก หรือทั้งเปลือก บด ทำให้เป็นซีกหรือชิ้น รวมทั้งกากถั่ว แต่ไม่รวมถึงแป้งถั่ว หรือถั่วที่ ผ่านกรรมวิธีเพื่อทำเป็นอาหาร นอกจากอาหารสัตว์ (ไม่รวมถึงถั่วฝักยาวที่เป็นฝัก)
4.2.8 เมล็ดละหุ่ง
4.2.9 ปอทุกชนิดและเศษปอ ไม่ว่าดิบหรือผ่านกรรมวิธีใด ๆ รวมทั้งปอที่เป็นเส้นใย แต่ไม่รวมถึง ปอที่ปั่นเป็นเส้นหรือวัตถุประดิษฐ์อื่นจากปอ
4.2.10 ครั่งดิบ ครั่งเม็ด
4.2.11 มันสำปะหลังไม่ว่าเป็นหัว หรือจัดทำเป็นผง แป้ง เส้น ก้อน แท่ง ฝอย ชิ้น เม็ด หรือจัดทำในลักษณะอื่น รวมทั้ง กากมัน สำปะหลัง
4.2.12 น้ำตาลทราย น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลดิบ
4.2.13 กากน้ำตาล กากมะพร้าว
4.2.14 ฝ้าย นุ่น งิ้ว ง้าว ไม่ว่าทั้งลูก กะเทาะเปลือกหรือแยกส่วนแล้ว รวมทั้งเมล็ดแต่ไม่รวมถึงปุยฝ้ายที่แยกเมล็ดออกแล้ว
4.2.15 สัตว์ทุกชนิดที่ไม่ใช่สัตว์น้ำและสัตว์ปีก รวมทั้งวัตถุพลอยได้จากสัตว์
4.2.16 สัตว์น้ำที่มีชีวิต
4.2.17 ทองคำ แพลทินัม ทองขาว เงิน นาค โลหะเจือวัตถุดังกล่าว รวมถึงวัตถุที่ทำเทียมแต่ไม่รวมถึงสินค้าที่ใช้ประดับกาย หรือเครื่องแต่งกาย
แบบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร
แบบที่ 1 สำหรับผู้ส่งของออกสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ซึ่งได้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร และได้รับเงินค่าสินค้าเข้ามาในประเทศแล้ว โดยต้องกรอกแบบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรแบบ กศก.20 (มุมสีแดง) ยื่นพร้อมสำเนา 1 ฉบับ โดยชื่อผู้ยื่นคำขอต้องตรงกับชื่อผู้ส่งออกในสำเนาใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงิน เอกสารที่ใช้ประกอบในกรณีนี้ คือ
(1) ใบแนบคำขอ แบบ กศก.20 ก พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
(2) บัตรตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของหรือผู้จัดการที่กรมศุลกากรออกให้ หรือหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำการแทน
(3) ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.20) และภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ยื่นคำขอ
(4) ในกรณีโอนสิทธิตามบัตรภาษีต้องมีหนังสือขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี (แบบ กศก.23) พร้อม ภพ.20 และภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้ เสียภาษีอากรของผู้รับโอน
(5) ใบแจ้งการเข้าบัญชี (CREDIT NOTE หรือ CREDIT ADVICE) การรับชำระค่าสินค้าที่ส่งออก โดยต้องมีข้อความระบุถึงเงื่อนไข และวิธีรับชำระเงิน จำนวนเงินตราที่ได้รับ ชื่อผู้รับเงิน เลขที่บัญชีราคาสินค้า และถ้าจำนวนเงินในใบแจ้งการเข้าบัญชีชำระเงินค่าสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าหลายฉบับ ให้ระบุจำนวนเงินที่ชำระแต่ละบัญชีราคาสินค้าให้ชัดเจน ซึ่งธนาคาร พาณิชย์ได้ลงนามรับรอง และประทับตราระบุชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง วันเดือนปีที่รับรองและประทับตราธนาคารกำกับไว้เป็น สำคัญ นอกจากนั้น ต้องมีเอกสารอื่นเพิ่มเติมอีกในกรณีรับเงินในลักษณะต่าง ๆ ด้วย คือ
(5.1) การรับชำระเงินเป็นเช็คเดินทาง ต้องมีภาพถ่ายเช็คเดินทางที่ธนาคารพาณิชย์รับรอง และภาพถ่ายหนังสือเดินทางเข้า ประเทศของผู้ซื้อ
(5.2) การรับชำระเงินเป็นเช็ค ดราฟท์ ต้องมีภาพถ่ายเช็ค หรือดราฟท์ที่ธนาคารพาณิชย์รับรอง
(5.3) การรับชำระเงินเป็นเงินสด ต้องมีเอกสารการนำเงินเข้าประเทศไทยของผู้ซื้อที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ จุดที่เดินทางเข้า มาได้ รับรอง ตามแบบฟอร์มที่กรมศุลกากรกำหนด (FOREIGN CURRENCY DECLARATION FORM) ออกให้ พร้อม ภาพถ่ายหนังสือเดินทางเข้าประเทศหรือภาพถ่ายหลักฐานการผ่านแดนเข้ามาในประเทศของผู้ซื้อ
(6) ใบขนสินค้าขาออกฉบับมุมสีน้ำเงินและ/หรือฉบับจำลอง พร้อมสำเนาบัญชีราคาสินค้าฉบับที่ผ่านพิธีการส่งออกและแบบคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร (แบบ กศก.129) จำนวนรวมไม่เกิน 10 ฉบับต่อคำขอ 1 ชุด เว้นแต่กรณีมูลค่าสินค้ารวมกันไม่ถึง 50,000 บาท (คิดเป็นราคา เอฟ.โอ.บี.) ให้รวมใบขนสินค้าขาออกมุมสีน้ำเงินจนครบมูลค่าดังกล่าวได้โดยจะต้องยื่นขอชดเชยภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ส่งของออก
(7) สำเนาแบบ ธ.ต.1 กรณีสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเกิน 500,000 บาท
(8) กรณีผู้ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรมีโรงงานหรือสถานประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออกที่ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรให้ยื่นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือภาพถ่ายหลักฐานอื่นที่แสดงว่าได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสินค้าที่ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรที่รับรองถูกต้องแล้วโดยมีผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตราสถานประกอบกิจการนั้น
(9) กรณีผู้ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าที่ส่งออกเอง ซึ่งประสงค์จะโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่นและสินค้าที่ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรมีอัตราเงินชดเชยค่าภาษีอากรตั้งแต่ร้อยละ 1.5 ของราคาส่งออกขึ้นไปให้ยื่นหลักฐานการได้มาของสินค้าส่งออกที่ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร เช่นใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินค่าซื้อสินค้าที่ส่งออกหรือหลักฐานการซื้อขายอื่นที่ระบุชื่อผู้ขายพร้อมสถานประกอบการของผู้ขาย
เอกสารที่นำมายื่นทุกฉบับต้องลงนามรับรองโดยผู้มีอำนาจยื่นขอชดเชยพร้อมประทับตราบริษัท ห้าง ร้าน ด้วย
แบบที่ 2 แบบ กศก.22 (มุมสีเหลือง) สำหรับกรณีขายสินค้าภายในประเทศที่มีสิทธิขอชดเชยได้เช่นเดียวกับการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศยื่นพร้อมสำเนา 1 ฉบับ โดยมีเอกสารประกอบแยกเป็น 2 กรณี คือ
(1) กรณีเป็นผู้ขายสินค้าภายในประเทศให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้ หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ต้องยื่นแบบ กศก.22 (มุมสีเหลือง) พร้อมสำเนาและเอกสาร ดังนี้
(1.1) ใบแนบคำขอ แบบ กศก.22 ก พร้อมสำเนา 1 ฉบับ และเอกสารตามข้อ (2)-(4) ของแบบที่ 1
(1.2) สำเนาใบส่งสินค้าหรือสำเนาใบกำกับสินค้าที่ออกโดยผู้ผลิต
(1.3) สำเนาหลักฐานการรับเงินค่าขายสินค้า
(1.4) สำเนาสัญญาซื้อขายสินค้า (เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าที่ขอชดเชย) หากเป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทย
(1.5) สำเนาหนังสือรับรองสัญญาซื้อขายจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
(1.6) สำเนาหนังสือตรวจรับสินค้าของคณะกรรมการตรวจรับคุณภาพและปริมาณสินค้าจาก ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เอกสารที่นำมายื่นต้องนำต้นฉบับมาให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบเพื่อรับรองสำเนาให้ แล้วรับคืนไป สำหรับหนังสือของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจต้องลงนามโดยหัวหน้าส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งได้ตรวจสอบกับตัวอย่างลายมือชื่อที่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ส่งมาเป็นตัวอย่าง การยื่นขอชดเชยต้องกระทำในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่กรรมการตรวจรับ ถ้าส่งเป็นงวดให้นับจากวันที่กรรมการตรวจรับแต่ละงวด
(2) กรณีเป็นผู้ขายสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคที่ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรให้แก่องค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานใดที่มีสิทธินำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องยื่นแบบ กศก.22 (มุมสีเหลือง) พร้อมสำเนาและเอกสารดังนี้
(2.1) เอกสารตามข้อ (1.1) (1.3)
(2.2) สำเนาหลักฐานการตรวจรับสินค้าของผู้ซื้อ
(2.3) หนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศที่แสดงว่าผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้มีสิทธินำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้รับยกเว้นอากร ตามที่คณะกรรมการพิจารณาชดเชยฯ กำหนดไว้เอกสารที่นำมายื่นต้องนำต้นฉบับมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อตรวจสอบรับรอง แล้วรับคืนไป การยื่นขอชดเชยต้องกระทำในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ซื้อตรวจรับสินค้า
การจ่ายเงินชดเชย
กรมศุลกากรจะจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรให้แก่ผู้ส่งออกในรูปของ "บัตรภาษี" ซึ่งสามารถนำไปจ่ายเป็นค่าภาษีได้ใน 3 หน่วยงาน คือ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต บัตรภาษีมี 2 ชนิด คือ
(1) ชนิดบอกราคา คือ ราคา 100,000.- บาท ราคา 10,000.- บาท ราคา 1,000.- บาท
(2) ชนิดไม่กำหนดราคาซึ่งระบุจำนวนเงินที่ต่ำกว่า 1,000.- บาท
อายุของบัตรภาษีมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ออกบัตร และอาจต่ออายุได้ไม่เกิน 2 คราว ๆ ละ 3 ปี ซึ่งจะต้องยื่นขอต่ออายุบัตรก่อนหมดอายุต่อหน่วยงานที่พิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรของสำนักงานศุลกากรส่งออก ท่าเรือกรุงเทพเพื่อดำเนินการอนุมัติให้ต่อไป
การโอนบัตรภาษี
ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย สามารถขออนุมัติจากอธิบดีเพื่อโอนสิทธิในบัตรภาษีไปให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่การโอนสิทธิต้องกระทำก่อนการออกบัตรภาษี ดังนี้
(1) กรณีขอโอนบัตรภาษีก่อนพิมพ์บัตรภาษี ให้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิตามบัตรภาษีภายใน 15 วัน นับแต่วันยื่นชุดคำขอ โดยต้องแสดงความจำนงในแบบ กศก.20 และต้องมีหนังสือแสดงความจำนงขอรับโอนตามแบบ กศก.23
(2) กรณีขอโอนบัตรภาษีหลังพิมพ์บัตรภาษี จะสามารถโอนได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี ในกรณีดังต่อไปนี้
(2.1) การโอนให้ทายาทผู้รับโอนกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษีซึ่งถึงแก่ความตาย
(2.2) การโอนให้ผู้ซึ่งรับโอนกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษีมาดำเนินการต่อไป
(2.3) การโอนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันเกิดจากการควบเข้ากันระหว่างนิติบุคคลผู้มีชื่อในบัตรภาษีและ นิติ บุคคลอื่น
(2.4) การโอนให้แก่บุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษี การโอนในกรณีนี้ อธิบดีจะอนุมัติได้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรก่อน
สิทธิตามบัตรภาษี
ผู้รับโอนสิทธิเป็นครั้งแรก (นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541) ต้องยื่นบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ที่ฝ่ายชดเชยอากร ส่วนคืนและชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร พร้อมแนบสำเนาเอกสารซึ่งรับรองถูกต้อง จำนวน 2 ชุด ดังนี้
(1) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับโอนสิทธิตามบัตรภาษี
(2) ภาพถ่ายทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)
(3) แผนที่เส้นทางที่จะไปบริษัท ห้าง ร้าน (ใช้กระดาษหัวจดหมาย)
(4) ภาพถ่ายบัตรตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของหรือผู้จัดการ
(5) ภาพถ่าย WORK PERMIT หรือ PASSPORT ถ้าผู้จัดการเป็นชาวต่างประเทศ
(6) ภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือใบอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
หากผู้ประกอบการต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชดเชยอากร โปรดติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนคืนและชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร. 0-2249-0220 หรือ สำนักงาน/ด่านศุลกากรที่นำเข้าทุกแห่งในวันและเวลาราชการ
ที่มาของข้อมูล : กรมศุลกากร
หลักการบันทึกบัญชี เกี่ยวกับ บัตรภาษี
1. กรณีได้รับบัตรภาษี
เดบิต บัตรภาษี (สินทรัพย์) XX
เครดิต รายได้จากบัตรภาษี (รายได้) XX
2. กรณีการโอนบัตรภาษี
2.1 กรณีขอโอนบัตรภาษีก่อนพิมพ์บัตรภาษี
ด้านผู้โอน
เดบิต เงินสด / เงินฝากธนาคาร XX
เครดิต รายได้จากการโอนสิทธิบัตรภาษี (รายได้) XX
ด้านผู้รับโอน
เดบิต บัตรภาษี (สินทรัพย์) XX
เครดิต เงินสด / เงินฝากธนาคาร XX
2.2 กรณีขอโอนบัตรภาษีหลังพิมพ์บัตรภาษีแล้ว
ด้านผู้โอน
เมื่อได้บันทึกรับ บัตรภาษี ตามข้อ 1 แล้ว จะต้องบันทึกการโอนออก โดย
เดบิต เงินสด / เงินฝากธนาคาร XX
เครดิต บัตรภาษี (สินทรัพย์) XX
ด้านผู้รับโอน
เดบิต บัตรภาษี (สินทรัพย์) XX
เครดิต เงินสด / เงินฝากธนาคาร XX
หมายเหตุ กรณีที่ผู้ส่งออกได้รับเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีได้โอนสิทธิในบัตรภาษี ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของรัฐบาล ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 77/1 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภามูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
ตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 36/2540 เรื่อง ภามูลค่าเพิ่ม