คำสั่งกรมสรรพากร. ที่ป.161/2566. เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง
คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป.161/2566
เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนําผู้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้น เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามา ในประเทศไทย
ข้อ 2 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับ คำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก ข้อ 3 คำสั่งนี้ให้เริ่มใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566
ลวรณ แสงสนิท
(นายลวรณ แสงสนิท)
อธิบดีกรมสรรพากร
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แถลงข่าวจากกรมสรรพากร
เลขที่ข่าว ปชส. 34/2566
วันที่แถลงข่าว 18 กันยายน 2566
เรื่อง กรมสรรพากรปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้ นอกประเทศ เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป .............................................................................................................................................................................
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและการลงทุนอย่างมาก ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และได้ลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือ ด้านการบริหารภาษี (MAC) และความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS) ทำให้กรมสรรพากรจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมให้มากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับ การพิสูจน์การมีเงินได้และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษี จากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศลดลงไปอย่างมากแล้ว
การปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้ นอกประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566 เป็นการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศเนื่องจากหน้าที่การงาน หรือกิจการที่ทำใน ต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยให้ชัดเจนและสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีต่อเมื่อนำเงินได้พึงประเมิน ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ หากผู้มีเงินได้ถูกเก็บภาษีไว้ในประเทศแหล่งเงินได้แล้ว ผู้มีเงินได้สามารถนำภาษีที่ถูกประเทศแหล่งเงินได้ที่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยเก็บไว้มาใช้เป็นเครดิตภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อน
โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและลงนามผูกพันในความตกลงพหุภาคีดังกล่าว เสริมสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ ภายในและภายนอกประเทศ และยกระดับความโปร่งใสในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กรมสรรพากร จะร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้ จากแหล่งเงินได้นอกประเทศต่อไป”
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เงินได้จากนอกประเทศอันเป็นเหตุให้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม ป.161/2566
เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี
2.1 หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
เช่น ค่าจ้างจากงานที่ทำในต่างประเทศ กำไรจากการขายทรัพย์สินในต่างประเทศ เงินปันผลจากหุ้นในต่างประเทศ ดอกเบี้ยจากต่างประเทศ ค่าสิทธิ์จากต่างประเทศ เป็นต้น
* เงื่อนไข *
กฏเกณฑ์เดิม
ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ
ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
(2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย(ปีปฏิทินเดียวกัน)
กฏเกณฑ์ใหม่ตาม ป.161/2566 ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ
ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
(2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับปีที่มีรายได้หรือไม่ก็ตาม
นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใด ให้ยื่นเสียภาษีในปีนั้น
(ผู้มีเงินได้จากต่างประเทศ และอาศัยในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หากนำเงินเข้ามาในประเทศไทยปีไหน ก็ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ในปีนั้น จากเดิม ถ้ามีเงินได้จากต่างประเทศและนำเงินกลับประเทศไทยในปีถัดไปหรือปีอื่นๆ ไม่ต้องเสียภาษี)
***ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โดยจะอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา แต่รวมเวลาที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดถึง 180 วันในปีภาษี (ซึ่งพิจารณาได้จากหนังสือเดินทาง (Passport) ของผู้มีเงินได้)**
ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน* หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย
รวบรวมโดย นายจรัส อินทร์คง 18/9/66