ตรวจสอบบัญชี,ทำบัญชี,สำนักงานบัญชี,สำนักงานตรวจสอบบัญชี,สอบบัญชี ตัดสินทรัพย์และสินค้าออกเนื่อง...
ReadyPlanet.com


ตัดสินทรัพย์และสินค้าออกเนื่องจาก ชำรุดเสียหายตกรุ่น


มีการตรวจเช็คสินทรัพย์ ของปี2559 แล้วบางอย่างไม่มีของแล้ว บางอันชำรุด  จะตัดออกจากรายงานต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง จำเป็นต้องเปิดใบกำกับภาษีขายไหม ถ้าต้องเปิดไม่เข้าใจว่าจะต้องเปิดให้ใคร แล้วจะเก็บเงินจากการเปิดใบกำกับภาษีขายจากใคร. เพราะเราไม่ได้ขายจริงๆแค่จะตัดของออกให้ตรงกับที่มีอยู่จริงรวมถึงสต๊อกสินค้าด้วยรบกวนยกตัวอย่างเป็นแนวทางให้ด้วยคะ

ขอบคุณคะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ NC (aonltd-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2017-02-21 20:24:57 IP : 171.97.34.2


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4151961)

ทรัพย์สินสูญหาย

การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการจะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กิจการได้ตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะดำเนินกิจการในรูปแบบใดก็ตามต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือเป็นตัวสนับสนุนให้การขับเคลื่อนทางธุรกิจเป็นไปด้วยดี หลายกิจการเมื่อเปิดดำเนินธุรกิจจะต้องมีการซื้อทรัพย์สินเข้ามาใช้ในกิจการทั้งที่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ในสำนักงานก็ตาม ที่จะสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ในการทำงานสามารถบริการให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
       
        เมื่อกิจการได้ซื้อทรัพย์สินเข้ามาใช้เพื่อการประกอบธุรกิจของกิจการจะต้องมีการดูแลบำรุงรักษาเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นใช้งานได้เป็นอย่างดีไม่ชำรุดเสียหายหรือสูญหาย ทั้งนี้อยู่ที่ระบบควบคุมและตรวจสอบของแต่ละกิจการที่ให้ความสำคัญต่อทรัพย์สินของกิจการไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่มีการดูแลทรัพย์สินอย่างเพียงพอ
       
       ในแต่ละปีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมีการตรวจนับทรัพย์สินเพื่อหาว่า มีอยู่ครบถ้วนหรือไม่ หากพบว่ามีทรัพย์สินชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ กิจการจะนำทรัพย์สินนั้นไปถือเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ นอกจากจะนำออกจำหน่ายหรือทำลายตามหลักเกณฑ์ของประมวลรัษฎากรจึงจะตัดมูลค่าที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ 
       
       ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายกิจการจะต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์สินนั้นสูญหายจริงจึงจะตัดเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และหากทรัพย์สินที่สูญหายนั้นได้ทำประกันภัย กิจการจะตัดมูลค่าของทรัพย์สินที่สูญหายเป็นรายจ่ายได้ต่อเมื่อต้องได้รับเงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันก่อน และวันที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือเงินชดเชยจากบริษัทประกันบริษัทจะต้องนำค่าสินไหมทดแทนหรือเงินชดเชยไปเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชีของทรัพย์สินโดยจะต้องปฏิบัติดังนี้
       
       1. ถ้าค่าสินไหมทดแทนหรือเงินชดเชยสูงกว่าราคาตามบัญชีของทรัพย์สิน ผลแตกต่างที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นรายได้นำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
       
       2. ถ้าค่าสินไหมทดแทนหรือเงินชดเชยต่ำกว่าราคาตามบัญชีของทรัพย์สิน ผลแตกต่างที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

       
       มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ บริษัทแห่งหนึ่งประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องบันทึกการเก็บเงิน เครื่องกดน้ำ ตู้นึ่งซาลาเปา เตาไมโครเวฟ ในการประกอบกิจการบริษัทได้มีการให้บริการบำรุงรักษาสินค้าที่บริษัทได้จำหน่ายให้แก่ลูกค้าด้วย ในการให้บริการดังกล่าวพนักงานช่างของบริษัทจะทำการเบิกอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องมือจากบริษัท เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการแก่ลูกค้าที่ได้ซื้อสินค้าของบริษัท
       
       ในการให้บริการในบางครั้งรถของช่างที่ให้บริการได้เกิดอุบัติเหตุทำให้อะไหล่และอุปกรณ์เครื่องมือเสียหายหรือสูญหาย บริษัทได้มีการทำประกันภัยทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัยโดยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบในส่วนแรกของผู้เอาประกันภัยไว้ที่ USD 5,000 ต่อการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ความเสียหายส่วนที่ไม่เกินหรือต่ำกว่า USD 5,000 บริษัทต้องรับผิดชอบเอง
       
       ปัญหาของบริษัทก็คือ บริษัทสามารถตัดจ่ายทรัพย์สินหรืออะไหล่ในคลังสินค้าเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของทรัพย์สินหรืออะไหล่จะใช้มูลค่าสุทธิของทรัพย์สิน มูลค่าต้นทุนของอะไหล่ หรือจะต้องใช้ราคาตลาดของทรัพย์สินและอะไหล่นั้น และในบางกรณีบริษัทจะเรียกเก็บค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพนักงานที่รับผิดชอบหากพบว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของพนักงานนั้น ในกรณีเช่นนี้บริษัทต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากพนักงานผู้นั้นและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมออกใบกำกับภาษีใช่หรือไม่ โดยฐานภาษีมูลค่าเพิ่มใช้ฐานใด
       
        แนวปฏิบัติในกรณีที่ทรัพย์สินหรืออะไหล่ชำรุดหรือเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทจะนำต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินหรืออะไหล่นั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินหรืออะไหล่นั้น ก็สามารถตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่มีการขายซากทรัพย์สินหรืออะไหล่ของสินค้าดังกล่าว บริษัทจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าในราคาตามสภาพของสินค้าและนำมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
       
       กรณีทรัพย์สินหรืออะไหล่สูญหาย หากไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ มูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบการ บริษัทมีสิทธิตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน แต่บริษัทจะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง และทรัพย์สินหรืออะไหล่ที่สูญหายดังกล่าว ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
       
       บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของทรัพย์สินตามราคาตลาดของทรัพย์สินหรืออะไหล่ที่สูญหายไปดังกล่าว ตามมาตรา 79 และมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่บริษัทจะเรียกเก็บค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากพนักงานที่รับผิดชอบหากพบว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของพนักงานนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่มูลค่าที่บริษัทได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
       
        การตรวจนับทรัพย์สินทุกสิ้นปีจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้กิจการมีการควบคุมภายในเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ดี เพื่อเป็นลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอันอาจจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของกิจการ 

ผู้แสดงความคิดเห็น เอก วันที่ตอบ 2017-03-09 21:09:05 IP : 49.49.249.115


ความคิดเห็นที่ 2 (4151962)

 กรณีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าหรือสินค้าหาย ทางภาษีมูลค่าเพิ่มถือว่าเป็นการขาย ตามมาตรา 77/1 (8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้นรวมถึงสินค้าที่ขาดจากรายงานสินค้าจากการตรวจนับสินค้าประจำปีด้วย โดยไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี กล่าวคือ จะออกใบกำกับภาษีหรือไม่ก็ได้ ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 "ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษี" 
ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้นำราคาสินค้าตามราคาตลาดมาถือฐานภาษีตามมาตรา 79/3 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดว่า "ราคาตลาด" ได้แก่ ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น 
การบันทึกรายการสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบในรายงานภาษีขาย นั้น ให้แสดงรายการสินค้าที่ขาดไปเสมือนเป็นการขายสินค้าทั่วไป โดยอาจแสดงแต่ละรายการหรือแสดงเป็นยอดรวมแล้วแนบรายละเอียดก็ได้ เนื่องจากไม่มีข้อกำหนด 
การลงรายการบัญชี
Dr. รายจ่ายต้องห้าม 570
Cr. ภาษีขาย 70 (ราคาขาย 1,000 บาท)
สินค้าคงเหลือ 500 (ราคาทุน = ราคาตลาดตามที่ซื้อมาก)

ผู้แสดงความคิดเห็น เอก วันที่ตอบ 2017-03-09 21:12:35 IP : 49.49.249.115


ความคิดเห็นที่ 3 (4151963)

 ขอบคุณคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น NC วันที่ตอบ 2017-03-09 21:19:55 IP : 124.121.98.183


ความคิดเห็นที่ 4 (4455685)

 สอบถามค่ะ ถ้าสินทรัพย์เสียไม่สามารถใช้งานได้แล้ว สามารถตัดทรัพย์สินออกจากระบบบัญชีได้เลยไหมค่ะ และต้องมีเอกสารประกอบการจัดทรัพย์สินด้วยไหมค่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เพ็ญ วันที่ตอบ 2022-03-23 15:58:30 IP : 171.96.233.168


ความคิดเห็นที่ 5 (4461332)

กรณีทรัพย์สินสูญหาย จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง ต้องทำยังไงค่ะ ต้องแจ้งความหรือไหมค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ืนันทิยา (่nanthiya-at-jtekt-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2022-06-14 11:37:39 IP : 10.101.13.25



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.