การดำเนินงานคุ้มครองสิทธิ
การดำเนินงานคุ้มครองสิทธิจะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการช่วยทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2533 อันเป็นการดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น ร้องขอจัดการมรดก สั่งให้เป็นคนสาบสูญ ร้องขอตั้งผู้ปกครอง ฯลฯ ซึ่งการเนินงานคุ้มครองสิทธิถือว่าพนักงานอัยการเป็นตัวความเอง จึงไม่ต้องยื่นใบแต่งทนายความโดยมีความแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่ง ว่าต่างแก้ต่างให้ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความที่แท้จริง ฐานะของพนักงานอัยการมีฐานะเช่นเดียวกับทนายความ
โดยปกติ พนักงานอัยการจะรับดำเนินการด้านคุ้มครองสิทธิให้ทุกเรื่อง หากไม่ดำเนินการต้องเสนออธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายพิจารณาสั่ง และแจ้งให้ผู้ร้องทราบตามระเบียบ หากคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ต้องส่งเรื่องไปให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำจังหวัด หรือ จังหวัดสาขา ที่มีอำนาจรับดำเนินการให้
การดำเนินการคุ้มครองสิทธิ นอกจากยึดหลักให้บริการ โดยรวดเร็วและเป็นธรรมแล้วยังต้องยึดหลักที่ไม่คำนึงถึงฐานะรายได้ของผู้ร้องขอและไม่เป็นการฝ่าฝืน หรือ หลีกเลี่ยงกฎหมาย
การยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาท ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์สินจำนวนมากตกทอดแก่ทายาท อาจจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือ โดยพินัยกรรม ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทรัพย์สินซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ทะเบียนอาวุธปืน ทะเบียนรถยนต์ ซึ่งทรัพย์เหล่านี้ในการจัดการมรดก เจ้าพนักงานจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านั้น หากไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการตามกฎหมายเสียก่อน โดยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ราษฎรจำนวนมาก ได้มายื่นคำร้องขอความช่วยเหลือต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านั้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ป.พ.พ. มาตรา 1713 ทายาท หรือ ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรม หรือ ผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรือ อยู่นอกราชอาณาเขต หรือ เป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดก หรือ ทายาทไม่สามารถ หรือ ไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือ มีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือ ในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรม ซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรมและถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึ่งถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
เหตุในการยื่น
(1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือ กฎหมายอื่น
(2) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1602 เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
กรณีแรกเป็นกรณีที่เจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตายโดยธรรมชาติ คือ หัวใจหยุดเต้นและสมองไม่ทำงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15
เขตอำนาจศาล
ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดมรดกถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา (ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 12 พ.ศ.2534) ซึ่งบัญญัติว่า คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล
ดังนั้น ตามกฎหมายดังกล่าว ในการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ในขณะถึงแก่ความตายเท่านั้น
แต่ถ้าขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักร การยื่นคำร้องให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลนั้น
เอกสารที่ใช้ในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้ร้อง 4 ชุด
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้อง 4 ชุด
3. เอกสารที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับเจ้ามรดก (ผู้ตาย)4 ชุด
(ทะเบียนสมรส , สูติบัตร ฯ )
4. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้ามรดก (ผู้ตาย) 4 ชุด
5. สำเนาใบมรณะบัตรของเจ้ามรดก (ผู้ตาย) 4 ชุด
6. บัญชีเครือญาติของเจ้ามรดก 4 ชุด
7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ และ
ทะเบียนบ้าน ของทายาทผู้ให้ความยินยอม 4 ชุด
8. สำเนาใบมรณบัตรของบิดามารดาของผู้ตาย หรือหนังสือรับรองการตาย
กรณีบิดามารดาของผู้ตาย (เจ้ามรดก) ถึงแก่ความตาย 4 ชุด
9. สำเนาเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก (ผู้ตาย) 4 ชุด
(เช่น โฉนดที่ดิน , สมุดเงินฝาก , ทะเบียนรถยนต์ฯ, ทะเบียนอาวุธปืน)
10. หนังสือให้การยินยอมในการร้องขอจัดการมรดกของทายาท 4 ชุด
11. หลักฐานอื่นๆ ถ้ามี (ใบเปลี่ยนชื่อ , ใบเปลี่ยนนามสกุล) 4 ชุด
เมื่อมีผู้มาร้องขอให้คุ้มครองสิทธิ หรือ ช่วยเหลือทางกฎหมายที่สำนักงาน นิติกร หรือ ทนายความอาสา จะสอบถามผู้ร้อง ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน บันทึกข้อเท็จจริงให้สมบูรณ์ที่จะดำเนินการ ตามแบบบันทึกข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารเข้าสำนวน เมื่อพนักงานอัยการรับเรื่องจะตรวจว่าเอกสารครบถ้วนหรือไม่ที่จะดำเนินการ ถ้าไม่ครบจะแจ้งให้ผู้ร้องขอส่งมาเป็นสำเนาเอกสาร เมื่อหลักฐานครบถ้วนพอดำเนินการได้ พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาล ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ และกำหนดวันนัดไต่สวน แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทราบ นำผู้ร้องและต้นฉบับเอกสาร พยานหลักฐาน เข้าไต่สวนตามวันนัด จนศาลมีคำสั่งและส่งคำสั่งศาลให้ผู้ร้องทราบและขอคัดคำสั่งศาล หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอแล้ว พนักงานอัยการก็เสนอขอยุติการช่วยเหลือต่ออัยการจังหวัดนนทบุรีพิจารณาสั่งต่อไป หากศาลไม่ได้มีคำสั่งตามคำร้องขอ ก็อาจเสนอพิจารณาอุทธรณ์ฎีกาต่อไป