ทรัพย์มรดกตกทอดอย่างไร
การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้สรุปได้ดังนี้
1.เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท และเมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ความหมายของคำว่า "ตาย" ในที่นี้ จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลใดตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยกฎหมายสมมติที่เราเรียกว่า "การสาบสูญ"
2.กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ซึ่งจะขออธิบายว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์มรดก และสิ่งใดไม่เป็นทรัพย์มรดก คือ
2.1 มรดกหรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า หุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน สิทธิเรียกร้องที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินได้ หน้าที่และความรับผิดของเจ้ามรดก และรวมถึงสิทธิต่างๆ บางประการ เช่น สิทธิเหนือพื้นดินซึ่งอาจโอนและรับมรดกกันได้ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ขายฝาก สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า (ที่เราเข้าใจกันว่า ค่าเซ้งหรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ) สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างถือว่าสิทธินี้เป็นมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทของลูกจ้างที่ตายได้ สิทธิเหล่านี้ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย จึงถือว่าเป็นมรดก
2.2 กรณีไม่เป็นมรดก ได้แก่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกินซึ่งสิ้นไปเมื่อผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตายไปสัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง ไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท เหล่านี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้น
3. ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หากว่ากองมรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดก เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเอาจากกองมรดกได้เพียงเท่าที่ทรัพย์มรดกมีอยู่ ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่านั้น
4. กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" และทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม"
คำว่า "ทายาท" หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามที่กฎหมายมรดกกำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม บุคคลที่จะรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรมนั้นมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ผู้รับพินัยกรรมอาจมีได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ดังนั้น จึงสรุปหลักได้ว่า การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก โดยหลักแล้ว เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมลง สิทธิในทางทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังทายาททันที แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อโอนกรรมสิทธิก็ตาม ทั้งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆ แต่กฎหมายได้จำกัดความรับผิดของทายาทไว้เพียง "ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน" ฉะนั้น ทายาทจะปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินที่จะตกทอดมาเป็นมรดกมีน้อยกว่าหนี้สินไม่ได้ และเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องทายาทนั้นได้ แม้ทายาทจะไม่ได้รับมรดกก็ตาม
อายุความฟ้องคดีมรดก
"คดีมรดก" หมายถึง คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วยกันตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม หรือคดีที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกถูกฟ้องในฐานะทายาท ให้รับผิดชอบหนี้ที่ผู้ตายเป็นหนี้อยู่
เราสามารถแยกกำหนดอายุความมรดกได้ดังนี้ คือ
1.อายุความฟ้องคดีมรดก ผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม คือ พ่อแม่, คู่สมรส,บุตรของผู้ตาย ต้องฟ้องคดีมรดกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่มิให้ฟ้องเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
2.อายุความสิทธิเรียกร้องตามข้อกำหนดพินัยกรรม ผู้ฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งอาจเป็นบุคคลใดๆ ก็ได้ที่ผู้ตายยกมรดกให้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม แต่มิให้ฟ้องเกิน 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย
อายุความฟ้องคดีเรียกร้องมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรม ให้เริ่มนับตั้งแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิที่ผู้รับพินัยกรรมมีอยู่ตามพินัยกรรม เพราะกฎหมายบัญญัติว่า " สิทธิและหน้าที่ใดๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรมให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป" ถ้าเขายังไม่ตายทรัพย์สินของเขาก็ยังมิใช่ทรัพย์มรดกที่จะตกทอดให้ใครๆได้
แต่มีกรณียกเว้น คือ ถ้าผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย หรือตามข้อกำหนดพินัยกรรม หากเป็นกรณีที่ผู้นั้นครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังไม่ได้แบ่ง แล้วฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดก ก็สามารถฟ้องได้แม้จะเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องฟ้องภายใน 1 ปี อายุความมรดก 1 ปี อยู่ภายใต้บังคับว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี แล้วก็ดี " ดังนั้น สำหรับทายาทคนที่ครองครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันนั้น แม้ฟ้องขอแบ่งมรดกเมื่อกำหนดอายุความมรดกกี่สิบปีก็ตามก็ฟ้องขอแบ่งได้ ไม่ขาดอายุความมรดก 1 ปี
เมื่อทายาทคนใดฟ้องเรียกร้องส่วนแบ่งมรดกเกินหนึ่งปี นับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก และทายาทผู้นั้นไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้น เมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปีไม่ได้ และถ้าทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในทรัพย์นั้นยกอายุความตาม 1 ปี ขึ้นต่อสู้ คดีย่อมขาดอายุความ ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ส่วนทายาทที่ครองครองมรดกเกินกำหนดอายุความ ถือว่ามีสิทธิในทรัพย์มรดกที่ตนครอบครอง มีอำนาจในฐานนะเจ้าของกรรมสิทธิ์
3.อายุความสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้กองมรดก เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องฟ้องเรียกร้องสิทธิภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ให้เกิน 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย
สำหรับเจ้าหนี้ผู้ตายนั้น นอกจากเจ้าหนี้โดยทั่วไปแล้ว ยังมีเจ้าหนี้ประเภทที่ผู้ตายนำทรัพย์ไปเป็นประกัน เช่น เจ้าหนี้จำนอง เจ้าหนี้จำนำ เจ้าหนี้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง กฎหมายบัญญัติว่า "ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงสิทธิบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ฯลฯ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" ดังนั้น แม้เจ้าหนี้ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ซึ่งอาจมีอายุความในการบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นยาวกว่า 1 ปี ก็ต้องฟ้องภายใน 1 ปี มิฉะนั้นคดีขาดอายุความ
4.อายุความ 10 ปี อย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่าข้างต้นนั้น มิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย กล่าวคือ ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในกองมรดกที่ไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกก็ดี ผู้รับพินัยกรรมที่ไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมก็ดี หรือเจ้าหนี้กองมรดกไม่รู้หรือไม่ควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกก็ดี ซึ่งอาจฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่มารู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือสิทธิตามพินัยกรรมในภายหลังได้ แต่จะอ้างความไม่รู้ดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะต้องมีการฟ้องร้องกันไม่สิ้นสุด
5.สิทธิยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ ใครบ้างที่มีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ กฎหมายกำหนดบุคคล 3 ประเภทซึ่งมีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นทายาท (ทายาทโดยธรรม , ผู้รับพินัยกรรม) หรือคนที่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก ดังนั้น บุคคลอื่นที่มิใช่ทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือผู้จัดการมรดกจะยกเอาอายุความมรดก 1 ปีนี้เป็นข้อต่อสู้ไม่ได้
คำว่า "บุคคลอื่น" หมายถึงใครบ้าง ขอยกตัวอย่างผู้ที่ไม่มีสิทธิยกอายุความ 1 ปีขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เช่น
- คนตายทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมดให้คนอื่นแต่ผู้เดียว ทายาทโดยธรรมจึงถูกตัดมิให้รับมรดกแล้ว ดังนั้น ทายาทโดยธรรมจึงไม่อยู่ในฐานะที่เป็นทายาท จะอ้างอายุความ 1 ปีมาใช้ต่อสู้ผู้รับพินัยกรรมไม่ได้
- ทายาทฟ้องขอเพิกถอนผู้จัดการมรดกและเรียกทรัพย์มรดกคืน ผู้จัดการมรดกจะยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ไม่ได้
- ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทที่ปิดบังมรดกไว้ ทายาทที่ปิดบังจะยกอายุความ 1 ปีมาใช้ไม่ได้ เพราะเป็นฝ่ายผิดและตนย่อมถูกตัดสิทธิมิให้รับมรดกแล้ว จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยกอายุความมาตัดสิทธิทายาทคนอื่นๆ
- ทายาทลำดับหลังไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะยังมีตัวทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ เช่น น้องของผู้ตายจะยกอายุความมรดกมาต่อสู้บุตรของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าไม่ได้
- ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้เป็นทายาทโดยธรรม ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้