กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายปันผล
มาตรา 1200 การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวน ซึ่งผู้ถือหุ้น ได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ
มาตรา 1201 ห้ามมิให้ประกาศอนุญาตเงินปันผล นอกจากโดยมติของที่ประชุมใหญ่
กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้น ได้เป็นครั้งเป็นคราว ในเมื่อปรากฏแก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้น
ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น
มาตรา 1202 ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุน สำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไร ซึ่งบริษัททำมาหาได้จาก กิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุน ของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่ กำหนดไว้ในวรรคก่อน
มาตรา 1203 ถ้าจ่ายเงินปันผลไปโดยฝ่าฝืนความในมาตราทั้งสองซึ่ง กล่าวมาไซร้ เจ้าหนี้ทั้งหลายของบริษัทชอบที่จะเรียกเอาเงินจำนวนซึ่งได้ แจกไปคืนมายังบริษัทได้ แต่ว่าถ้าผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดย สุจริต ท่านว่าจะกลับบังคับให้เขาจำคืนนั้นหาได้ไม่
มาตรา 1204 การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ให้บริษัทมีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย
หมายเหตุ มาตรา 1204 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปพพ.(ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551
มาตรา 1205 เงินปันผลนั้น แม้จะค้างจ่ายอยู่ ท่านว่าหาอาจจะคิดเอา ดอกเบี้ยแก่บริษัทได้ไม่
บริษัทจำกัดไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ หากบริษัทมีกำไรก็ย่อมสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ โดย
1) ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือ
2) คณะกรรมการมีมติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่าบริษัทมีกำไรพอที่จะจ่ายเงินปันผลได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1201)
ก่อนจะจ่ายเงินปันผลตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือมติคณะกรรมการ (แล้วแต่กรณี) จะต้องบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลนั้น โดย
1) มีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน
2) แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1204)
หากบริษัทละเลยไม่บอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 ซึ่งบริษัทอาจถูกปรับไม่เกิน 20,000 บาทได้ตามมาตรา 20 และกรรมการอาจถูกปรับไม่เกิน 50,000 บาทได้ตามมาตรา 25
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1202 กำหนดให้ทุกคราวที่จ่ายเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบ (ร้อยละ 5) ของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้ จนกว่าจำนวนทุนสำรองจะมีจำนวนถึงหนึ่ง ในสิบ (ร้อยละ 10) ของจำนวนทุนของบริษัท
ดังนั้น ทุกครั้งที่บริษัทจ่ายปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินทุนสำรองอย่างน้อยร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิ (Net profit) จนกระทั่งจำนวนทุนสำรองมีจำนวนถึงร้อยละ 10 ของจำนวนทุนของบริษัท
และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 กำหนดว่าการจ่ายเงินปันผลต้องจ่ายตามส่วนที่ชำระราคาแล้วของแต่ละหุ้น เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ กล่าวคือ ที่ประชุมใหญ่จะอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลโดยกำหนดเป็นร้อยละของมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทฯ มีการจ่ายปันผล จะต้องมีหน้าที่ตามประมวลรัษฎากร คือ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผล คือ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 10 ของเงินได้ตามมาตรา 50 และต้องนำส่งภาษีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงิน
วิธีการบันทึกบัญชีเมื่อมีการจ่ายปันผล
1. เมื่อมีการประกาศจ่ายปันผล
เดบิต กำไรสะสม
เครดิต เงินปันผลค้างจ่าย
2. ตั้งสำรองตามกฎหมาย
เดบิต กำไรสะสม
เครดิต สำรองตามกฏหมาย
3. เมื่อจ่ายปันผล
เดบิต เงินปันผลค้างจ่าย
เครดิต เงินสด/ธนาคาร
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายค้างจ่าย 10%