การฟ้อง-ต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับสินสมรส
การที่สามีภริยาแยกกันอยู่โดยยังไม่ได้หย่ากัน ถ้าหากจำเป็นก็ไม่อยากจะไปรบกวนเวลาของเขา จึงอยากจะถามว่าถ้าหากมีกรณีที่เราจะต้องฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน กรณีใดที่จะสามารถฟ้องคดีได้เองหรือกรณีใดที่ต้องให้สามียินยอมด้วย
จารุณี สมุทรปราการ
มาตรา 1477 สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน
ในการฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส ถือหลักเรื่องกรรมสิทธิ์รวม เนื่องจากสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างสามีภริยา จึงต้องนำหลักเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มาตรา 1358วรรคสอง) ที่กำหนดให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีอำนาจทำการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอกฎหมาย (มาตรา 1477) จึงให้อำนาจสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งที่สามารถจะฟ้องหรือต่อสู้คดีได้ เพราะถือว่าเป็นการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง มีคนบุกรุกเข้ามาครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสินสมรส ภริยาซึ่งอยู่ในที่ดินแปลงนี้สามารถฟ้องขับไล่คน ๆ นั้นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรสนั้น แม้สามีหรือภริยาจะดำเนินการไปเพียงลำพังคนเดียว แต่หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของภริยาหรือสามีอีกฝ่ายหนึ่งด้วย กฎหมาย (มาตรา 1477) จึงได้กำหนดไว้ด้วยว่าหนี้อันเกิดจากการฟ้องหรือต่อสู้คดี หรือการดำเนินคดีตามลำพังของคู่สมรสฝ่ายใด ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และจะได้สอดคล้องกับกฎหมาย (มาตรา 1499 (2)) ที่กำหนดให้หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาด้วย เช่น ภริยาตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความในคดีฟ้องผู้บุกรุกมาครอบครองที่ดินสินสมรส หนี้ค่าทนายความดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมที่สามีจะต้องรับผิดชอบร่วมด้วย เป็นต้น
ส่วนขั้นตอนกระบวนการพิจารณาในศาลนั้น การที่ภริยาหรือสามีซึ่งอาจจะเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ตาม ย่อมมีอำนาจดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดีได้อย่างเต็มที่โดยลำพัง ซึ่งอาจเป็นการถอนฟ้อง ถอนคำให้การ หรือถอนทนายความ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการตกลงประนีประนอมยอมความนั้น แม้จะมีการดำเนินคดีมาโดยลำพังของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งก็ตาม
แต่ถ้าศาลไกล่เกลี่ยจนคู่ความในคดีตกลงที่จะประนีประนอมยอมความ หรือคู่ความตกลงกันเองแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความมาเสนอศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เนื่องจากการประนีประนอมยอมความคือการที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงจะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งที่มีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้
ฉะนั้นการที่สามีหรือภริยาจะไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสจึงควรให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมด้วย กฎหมาย (มาตรา 1476(6)) จึงได้กำหนดให้การจัดการสินสมรสโดยการประนีประนอมยอมความนั้นสามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เช่น การที่ภริยาฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกเข้ามาครอบครองในที่ดินที่เป็นสินสมรส และในชั้นศาล ศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยจนผู้บุกรุกยอมออกไปจากที่ดินที่เป็นสินสมรสภายใน 3 เดือน แต่ขอค่ารื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินเป็นเงิน 20,000 บาท และภริยาที่เป็นโจทก์ตกลงจ่ายค่ารื้อถอนและขนย้ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ผู้บุกรุกออกไปภายในกำหนด การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเช่นนี้จึงต้องให้สามีให้ความยินยอมด้วย เป็นต้น
และถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรสที่สำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทนความยินยอมได้ คือในการจัดการสินสมรสซึ่งกฎหมายกำหนดให้สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน หรือจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น หากคู่สมรสฝ่ายที่จะต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ยอมลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้คู่สินสมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตให้ตนจัดการสินสมรสไปโดยลำพังได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องเป็นการจัดการเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ครอบครัว เช่น ภริยาต้องการจะขายที่ดินอันเป็นสินสมรสเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของลูก แต่สามีไม่ยินยอม ภริยาอาจร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ไต่สวนและพิจารณามีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายที่ดินได้ ถ้าศาลไต่สวนคำร้องหรือสามีร้องคัดค้านและมีการสืบพยานจนกระทั่งมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จัดการตามลำพังได้กรณีก็ไม่ต้องขอความยินยอมจากสามีอีก
กรณีดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดจะเป็นคนละกรณีกับการฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินส่วนตัว ที่สามีหรือภริยามีอำนาจที่จะดำเนินการได้โดยลำพัง และหนี้ใด ๆ ที่เกิดจากการฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินส่วนตัวก็ถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้น และกรณีที่ไม่ใช่เป็นการฟ้อง/ต่อสู้คดีเกี่ยวกับสินสมรส เช่น เรื่องสิทธิเฉพาะตัว
ตัวอย่างกรณีฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด เพราะการที่ภริยาหรือสามีถูกผู้ใดทำละเมิด การละเมิดถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ถูกทำละเมิด ไม่ใช่เป็นคดีฟ้องเกี่ยวกับสินสมรส สามีหรือภริยาที่ถูกทำละเมิดมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้โดยลำพัง หรือกรณีสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เป็นลูกจ้าง ไม่เป็นสินสมรส การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรส ภริยาผู้เป็นลูกจ้างจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี เป็นต้น.
คู่สมรสเป็นคนต่างด้าว
ในขณะนี้ถึงแม้ผู้หญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ ก็สามารถที่จะซื้อทรัพย์สินในประเทศไทยได้แล้ว จริงหรือไม่ ประการใด
ศรีสว่าง
หญิงไทยซึ่งมีสามีเป็นคนต่างชาติจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ จะต้องนำคู่สมรสชาวต่างชาติไปบันทึกกับเจ้าพนักงานที่ดิน โดยถ้าคู่สมรสชาวต่างชาติยืนยันว่า เงินที่ซื้อนั้นเป็นสินส่วนตัวของหญิงไทย ก็สามารถซื้อขายกันได้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท.0710/ว 732 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2542 กำหนดให้เป็นแนวทางปฏิบัติไว้
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ได้บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ และมาตรา 48 วรรคแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้น ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยให้ยกเลิกหนังสือที่อ้างถึงทั้งหมด และบรรดาระเบียบ คำสั่งอื่นใดในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับหนังสือฉบับนี้ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. กรณีบุคคลสัญชาติไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอซื้อที่ดินหรือขอรับโอนที่ดินในกรณีอื่นที่คล้ายคลึงกันในระหว่างสมรส หากสอบสวนแล้ว ผู้ขอและคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันว่า เงินที่บุคคลสัญชาติไทยนำมาซื้อที่ดินทั้งหมด เป็นสินส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรส ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้
แต่ถ้าหากคนต่างด้าวที่เป็นคู่สมรสของบุคคลสัญชาติไทยไม่ยืนยันตามนัยดังกล่าว หรือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เงินที่นำมาซื้อที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นสินสมรส เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินเพื่อขอคำสั่งรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมาย.
2. กรณีที่บุคคลสัญชาติไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอซื้อที่ดินหรือขอรับโอนที่ดินในกรณีอื่นที่คล้ายคลึงกันในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับคนต่างด้าว หากสอบสวนแล้ว ผู้ขอและคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวได้ยืนยันเป็นลายลักษณ์ อักษรร่วมกันว่า เงินที่บุคคลสัญชาติไทยนำมาซื้อที่ดินทั้งหมดเป็นทรัพย์ส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้
แต่ถ้าหากคนต่างด้าวที่เป็นคู่สมรสของบุคคลสัญชาติไทยไม่ยืนยันตามนัยดังกล่าว หรือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า เงินที่นำมาซื้อที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จแล้ว ให้ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินเพื่อขอคำสั่งรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
3. กรณีบุคคลสัญชาติไทย ที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวทั้งที่ชอบและมิชอบด้วยกฎหมาย ขอรับให้ที่ดินในระหว่างสมรสหรือระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากัน หากสอบสวนแล้วเป็นการรับให้ในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว หรือทรัพย์ส่วนตัวของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว มิได้ทำให้คนต่างด้าวมีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินร่วมด้วย ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้
แต่ถ้าหากเป็นการรับให้ในฐานะที่เป็นสินสมรส หรือมีผลทำให้คู่สมรสที่เป็น คนต่างด้าวมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จ ให้ส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินเพื่อเสนอขอคำสั่งรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 74 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
4. กรณีบุคคลสัญชาติไทยที่เคยมีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าว แต่ได้หย่าขาดจากกันหรือเลิกร้างกันแล้ว ขอทำนิติกรรมให้ได้มาซึ่งที่ดิน หากสอบสวนแล้วไม่ปรากฏพฤติการณ์หลีกเลี่ยงกฎหมาย ก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้
5. กรณีบุตรผู้เยาว์ของคนต่างด้าวที่มีสัญชาติไทย ขอทำนิติกรรมให้ได้มาซึ่งที่ดิน หากสอบสวนแล้วไม่ปรากฏพฤติการณ์หลีกเลี่ยงกฎหมาย ก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอต่อไปได้.
สินส่วนตัว
ดิฉันมีแฟนอยู่กินกันโดยเพิ่ง จดทะเบียนสมรส โดยดิฉันทำธุรกิจการค้า ตอนนี้แฟนจะให้ยืมที่ดินไปทำธุรกิจ โดยจะยกที่ดินแปลงนี้ใส่ชื่อให้ดิฉันมีเครดิตทางการค้าด้วย แต่เขายังหวงไม่ไว้ใจดิฉัน
แฟนอยากทราบว่าถ้าวันข้างหน้าเขาประสงค์เอาคืนในภายหลัง จะทำได้หรือไม่ หรือถ้าดิฉันต้องเลิกกับเขาหรือเขาตายไปก่อน เขาจะให้ลูกของเขาที่เกิดจากอดีตภริยาใช้สิทธิเรียกคืนจากดิฉันได้หรือไม่
สิริพร พิษณุโลก
การที่สามียกที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่ภริยาในระหว่างสมรส ในทางกฎหมายถือว่าเป็นนิติกรรมการให้ จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา เป็นสัญญาระหว่างสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469
ปัญหาคือในภายภาคหน้าผู้ที่ได้รับการยกให้ไม่คืนให้ตามสัญญาที่รับปากกันไว้ จะมีผลประการใด กรณีหากเป็นสัญญาให้โดยเสน่หาตามแบบนิติกรรมสัญญาโดยทั่วไปนั้น การจะเพิกถอนการยกให้ จะต้องมีเหตุตามกฎหมาย เช่น มีการประพฤติเนรคุณ หรือไม่ส่งเสียเลี้ยงดูโดยต้องถึงขนาดผู้ให้ยากจนไม่มีรายได้ ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนใจเอาทรัพย์คืนไม่ได้
แต่กรณีนี้เป็นการยกสินส่วนตัวให้คู่สมรสในระหว่างสมรส สัญญาให้เช่นนี้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อ กันในระหว่างเป็นสามีภริยากันไว้โดยเฉพาะ เมื่อผู้เป็นเจ้าของสินสมรสไม่ประสงค์จะยกให้อีกต่อไป สามารถจะใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยานั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะ บอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
ดังนั้นแม้สัญญายกสินส่วนตัวให้ภริยาจะทำกันมาเกิน 10 ปี สามีหรือภริยาก็ยังมีสิทธิบอกเลิกล้างสัญญานี้ได้ โดยกำหนดเวลาบอกล้างนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่ยังเป็นสามีภริยาก็ได้ หรือจะบอกล้างภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยามี 3 กรณี คือ ความตาย การหย่า และคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนการสมรส ถ้าไม่มีการบอกล้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาระหว่างสมรสย่อมสมบูรณ์ตลอดไปจะบอกล้างอีกไม่ได้ และกรณีที่มีการโอนที่ดินแปลงนี้ต่อไปให้บุคคลอื่น ถ้าผู้รับโอนสุจริตก็คงจะติดตามเอาตัวที่ดินคืนจากบุคคลภายนอกไม่ได้
กฎหมายในเรื่องนี้ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผลคือถ้าคู่สมรสผู้ยกให้ไปทำสัญญาไว้ว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ตนจะไม่ใช้สิทธิบอกล้าง ข้อสัญญาเช่นว่านี้เป็นโมฆะ คือ ผู้ให้ยังมีสิทธิบอกล้างได้
ในส่วนของทายาทจะติดตามเอาคืนนั้น กรณีที่ขาดจากการสมรสเพราะความตายนั้นทายาทอาจจะบอกล้างไม่ได้ เนื่องจากบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสได้มีแต่เฉพาะสามีภริยานั้นเอง และเป็นสิทธิเฉพาะตัว บุคคลอื่นจะบอกล้างแทนไม่ได้
ดังนั้นถ้าหากผู้ยกให้ได้ตายไปเสียก่อนจะยกเลิกการให้ สิทธิบอกล้างย่อมระงับ ไม่ตกทอดไปยังทายาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ทายาทจึงไม่มีสิทธิบอกล้างได้ เว้นเสียแต่ว่าผู้ยกให้ได้ฟ้องคดีบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสไว้แล้วต่อมาได้ถึงแก่ความตาย กรณีนี้เท่ากับว่าผู้มีสิทธิได้ใช้สิทธิบอกล้างไว้แล้ว เมื่อตนตายในระหว่างฟ้องคดี ทายาทหรือผู้จัดการมรดกย่อมขอเข้ารับมรดกความดำเนินคดีแทนผู้ยกให้ที่ถึงแก่ความตายนั้นต่อไปได้.
คุ้มครองชั่วคราวในคดีฟ้องหย่า
ดิฉันมีอาชีพเป็นแม่บ้าน เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมามีปัญหากับสามีเรื่องสามีมีผู้หญิงอื่น จึงหอบลูกออกจากบ้าน มาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องและออกไปค้าขายหาเลี้ยงตัวเองและลูกซึ่งยังเล็กไปวัน ๆ ซึ่งตอนนี้ดิฉันยังตกลงกับสามีเรื่องทรัพย์สินไม่ได้ และสามี บอกว่าทุกบาททุกสตางค์ในการซื้อทรัพย์สินเป็นเงินของเขาทั้งนั้น สามีท้าให้ไปฟ้องศาล ดิฉันจึงอยากจะ ถามว่า
1.ถ้าก่อนแต่งงานสามีและดิฉันไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย ต่อมาเมื่อได้แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน สามีทำงานนอกบ้าน ส่วนดิฉันไม่ได้ทำงานมีรายได้ โดยสามีให้ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลลูกและสามี ทำให้ทรัพย์สินที่สามีสร้างขึ้นมาระหว่างเราสองคน เป็นเงินที่มาจากรายได้ของสามีฝ่ายเดียว ดิฉันจะมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินเหล่านี้หรือไม่
2.ถ้าดิฉันมีสิทธิในทรัพย์สินตามข้อ 1. ด้วย ในระหว่างการฟ้องร้องอาจต้องใช้เวลา จะมีวิธีป้องกันมิให้สามีนำทรัพย์สินไปขายได้หรือไม่
3.ในระหว่างนี้ถ้าจะขอให้เขานำเงินเดือนมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายดิฉันและลูกไปพลางก่อนจะได้ หรือไม่
ศศิธร : กรุงเทพฯ
ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่างทำมาหาได้ในระหว่างการสมรส (ซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์ ที่มีผู้อื่นยกให้หรือได้รับมรดกเป็นการส่วนตัวแล้ว) จะเป็นสินสมรสทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใด ได้มี/หรือไม่มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่ บางคนได้เปรียบเทียบการสมรสว่าเสมือนการเข้าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ สินสมรสจึงถือเป็นกำไรที่หุ้นส่วนหามาได้ จึงควรเป็นของเจ้าของร่วมกันในที่นี้คือทั้งสามีและภริยา แม้ต่อมาสามีภริยาจะแยกกันอยู่ หรือบวชเป็นพระภิกษุ ตราบใดที่ยังไม่ได้หย่ากัน แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ไม่มีรายได้ ก็ต้องถือว่าทรัพย์สินที่หามาได้ในระหว่างการสมรสนั้นเป็นสินสมรส
ดังนั้นถ้าหากว่าการสมรสได้สิ้นสุดลง จะเป็นด้วยคู่สมรสฝ่ายใดตาย หรือมีการหย่า หรือศาลมีคำพิพากษาให้การสมรสสิ้นสุดลงก็ตาม ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสทั้งหมดจะต้องมีการแบ่งกรรมสิทธิ์กันคน ละครึ่ง
ในกรณีที่มีการฟ้องหย่า มีการขอแบ่งสินสมรส และขอค่าเลี้ยงชีพสำหรับคู่สมรสที่หากมีการหย่า และขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไว้ด้วยแล้ว หากคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดนั้น ถ้าระหว่างนี้กรณีอาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น ได้สืบทราบมาว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ตกลงจะขายสินสมรสที่อยู่ในความครอบครองของเขาให้ผู้อื่น ซึ่งอาจจะมีผลต่อรูปคดีได้ว่าหากต่อมาศาลพิพากษาให้แบ่งสินสมรสคนละครึ่ง คดีก็ไม่อาจจะบังคับคดีได้เพราะไม่มีทรัพย์สินอยู่ในขณะที่มีการบังคับคดีแล้ว หรือเปลี่ยนไปใส่ชื่อญาติพี่น้องของตนเองไว้แทนเพื่อมิให้มีการบังคับคดีได้ ดังนั้นจึงสามารถยื่นต่อศาลขอให้มีการอายัดอสังหาริมทรัพย์หรือยึดสังหาริมทรัพย์ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันมิให้นำทรัพย์สินไปจำหน่าย หรือยักย้ายถ่ายเท ในระหว่างที่มีการดำเนินคดีได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1530 บัญญัติว่า ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างการพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจสั่งชั่วคราวให้จัดการตามที่เห็นสมควร เช่น ในเรื่องสินสมรส ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยา และการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร
และตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาให้หย่า หรือได้จดทะเบียนหย่ากัน ต้องถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยายังมีอยู่ ซึ่งมีผลให้ยังต้องมีการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ดังนั้นการที่คู่สมรสฝ่ายใดไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมีเงินใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูตนเองและลูกก็ย่อมมีสิทธิที่จะขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสที่มีรายได้เป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างคดีได้ และถึงแม้ว่าฝ่ายที่เดือดร้อนจะมีญาติพี่น้องที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ แต่บุคคลเหล่านั้นถือว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ในระหว่างคดีคู่สมรส อีกฝ่ายซึ่งเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและลูก ย่อมจะใช้วิธีร้องขอต่อศาลขอให้คู่สมรสที่มีรายได้ช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดู โดยขอให้นำเงินมาวางที่ศาลเพื่อจะได้นำมาเป็นค่าจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ตนและบุตรก่อนศาลมีคำพิพากษาได้.
หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น
ผมอยากจะถามเกี่ยวกับเรื่องคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาทในทางอาญาและหมิ่นประมาทในทางแพ่งว่าแตกต่างกันอย่างไร เพราะบางครั้งผมเห็นข่าวการแจ้งความฟ้องศาลให้ลงโทษจำคุกได้ แต่บางครั้งฟ้องเรียกแต่ค่าเสียหายกันอย่างเดียว
ดุษฎี
การฟ้องให้ลงโทษจำคุกจะเป็นเรื่องของความรับผิดทางอาญา ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายจะเป็นเรื่องของความรับผิดในทางแพ่ง ซึ่งการหมิ่นประมาทนั้นอาจเป็นทั้งความรับผิดในทางอาญาและทางแพ่ง หรืออาจเป็นเพียงความผิดฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้อย่างเดียว หรืออาจจะเป็นความรับผิดในทางอาญาอย่างเดียว ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทในทางอาญาและทางแพ่งนั้นมีมากมายในที่นี้จึงขออธิบายเพียงกว้าง ๆ ว่าการหมิ่นประมาทในทางแพ่งและหมิ่นประมาทในทางอาญานั้นโดยทั่วไปมีความคล้ายกัน ซึ่งพอจะแยกความแตกต่างได้บ้างคือ
1.ดูจากเจตนา กล่าวคือ ในทางอาญา การหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ดังนั้นถ้าเป็นการกระทำโดยไม่เจตนาหรือเป็นการกระทำโดยประมาทในความรับผิดทางอาญาจะไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่หมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้นนอกจากจะกระทำโดยเจตนาคือ จงใจกระทำแล้ว ในบางกรณีแม้เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการกล่าวหรือไขข่าว ก็อาจมีความผิดในทางแพ่งเรื่องละเมิดได้ แม้ว่าผู้กล่าวหรือไขข่าวจะไม่มีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ และทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของผู้อื่น
2.ดูจากความที่กล่าวหรือไขข่าว กล่าวคือ การหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั่นถ้าเป็นการพูดเรื่องจริง กล่าวหรือไขข่าวในข้อความที่เป็นจริงจะไม่ถือว่าเป็นการละเมิด เพราะว่าหากเป็นเรื่องจริงผู้ถูกกล่าวถึงนั้นย่อมไม่ได้รับความเสียหาย แต่สำหรับความรับผิดทางอาญานั้น แม้ข้อความที่กล่าวนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็อาจเป็นความรับผิดทางอาญาได้ โดยจะเห็นได้จากในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ที่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่จริง ถ้าหากคำกล่าวหรือข้อความที่กล่าวใส่ความนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน
3.ดูเรื่องความเสียหายที่ได้รับ ในทางอาญาผลของการใส่ความจะเป็นการเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง แต่การหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้น กฎหมายจะกำหนดความเสียหายไว้กว้างกว่าคือ นอกจากจะเป็นการเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายต่อทางทำมาหาได้ เกียรติคุณหรือทางเจริญด้วย
นอกจากนี้ในความรับผิดทางอาญานั้น บางครั้งการพูดดูถูกผู้อื่นอาจเป็นเพียงการดูหมิ่นอันเป็นเพียงความผิดที่มีโทษเพียงเล็กน้อยซึ่งเรียกว่า ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดฐานดูหมิ่นนั้นจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเหยียดหยามบุคคลอื่น แต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณเพราะคำดูหมิ่นนั้นไม่อาจจะเป็นความจริงได้ ได้แก่คำด่าต่าง ๆ เช่น คำว่า ไอ้สัตว์เดรัจฉาน ไอ้เหี้ย ไอ้ผีปอบ ฯลฯ หรืออาจเป็นอาการดูหมิ่นต่าง ๆ เช่น การแลบลิ้นใส่ การยกเท้าแสดงอาการไม่สุภาพ ฯลฯโดยไม่ต้องเป็นการกล่าวต่อบุคคลที่สาม
แต่ถ้าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญาแล้วจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญเข้ามาอีกประการหนึ่งคือ ต้องเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมากล่าวอ้างต่อบุคคลที่สามด้วย ซึ่งจะทำให้บุคคลที่สามได้เห็นพฤติกรรมการกระทำของบุคคลนั้น และความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญานั้นโทษจะหนักกว่าคือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.
บอกล้างสัญญาระหว่างสมรส
ผมเคยแต่งงาน แต่เลิกกับภริยา เรามีลูกด้วยกัน 2 คน ตอนนี้ผมกำลังจะแต่งงานใหม่ จึงอยากจะถามปัญหาข้อสงสัยว่า
1. ถ้าผมยกทรัพย์สินของผมเองให้ภริยาคนใหม่หลังจากเราแต่งงานกันแล้ว ถ้าในภายหลังเธอเปลี่ยนไป ผมจะเปลี่ยนใจเอาทรัพย์สมบัติของผมคืนได้หรือไม่
2. แตกต่างกับการยกให้ญาติพี่น้องอย่างไร
3. มีระยะเวลาการจะยกเลิกได้นานแค่ไหน
4. ถ้าผมเสียชีวิตไปก่อน ลูกหลานจะยกเลิกเองในภายหลังได้หรือไม่
รังสิต
การยกทรัพย์สินให้แก่บุคคลทั่วไป อาจจะเป็นลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือแม้ว่าจะเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างใดก็สามารถทำได้ ซึ่งในทางกฎหมายจะเรียกว่า การยกให้โดยเสน่หา แต่ว่าการจะเพิกถอนการยกให้ในภายหลังนั้น จะต้องมีเหตุตามกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จึงจะบอกล้างได้ เช่น มีการประพฤติเนรคุณ หรือไม่ส่งเสียเลี้ยงดูโดยต้องถึงขนาดผู้ให้ยากจนไม่มีรายได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่กรณีเหตุเพิกถอนการให้ตามกฎหมายบัญญัติเป็นข้อ ๆ ไว้แล้ว ในภายหลังเกิดเปลี่ยนใจต้องการเอาทรัพย์สินของตนคืน ผู้ยกให้ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนใจเพื่อเอาทรัพย์คืนได้
แต่การที่คู่สมรสยกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในระหว่างสมรส แม้จะเป็นการให้โดยเสน่หาอย่างหนึ่งก็ตาม แต่ถ้าเป็นการให้คู่สมรสที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1469) เรียกว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส โดยการยกสินส่วนตัวให้คู่สมรสในระหว่างสมรส เมื่อผู้เป็นเจ้าของสินสมรสไม่ประสงค์จะยกให้อีกต่อไป สามารถจะใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องมีเหตุผลแห่งเพิกถอนการให้ตามกฎหมายแต่ประการใด เพียงแต่ต้องเป็นการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสตามกฎหมาย
โดยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้บัญญัติไว้ว่า สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่ สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยานั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะ บอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน อยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็น สามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือน ถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดย สุจริต
ดังนั้นแม้สัญญายกสินส่วนตัวให้ภริยาจะทำกันมาเกิน 10 ปี สามีหรือภริยาก็ยังมีสิทธิบอกเลิกล้างสัญญานี้ได้ โดยกำหนดเวลาบอกล้างนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่ยังเป็นสามีภริยาก็ได้ หรือจะบอกล้างภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยามี 3 กรณี คือ ความตาย การหย่า และคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนการสมรส ถ้าไม่มีการบอกล้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาระหว่างสมรสย่อมสมบูรณ์ตลอดไปจะบอกล้างอีกไม่ได้ และกรณีที่มีการโอนที่ดินแปลงนี้ต่อไปให้บุคคลอื่น ถ้าผู้รับโอนสุจริตก็คงจะติดตามเอาตัวที่ดินคืนจากบุคคลภายนอกไม่ได้
และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสจะถือว่าเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คือคู่สัญญาจะทำความตกลงเพื่อยกเว้นบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการบอกล้างไม่ได้ ดังนั้นถ้าคู่สมรสผู้ยกให้ไปทำสัญญาไว้ว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ตนจะไม่ใช้สิทธิบอกล้าง ข้อสัญญาเช่นว่านี้เป็นโมฆะ คือ แม้จะมีสัญญาตกลงว่าห้ามบอกล้าง แต่ผู้ยกให้ยังมีสิทธิบอกล้างได้
ในส่วนของทายาทจะติดตามเอาคืนนั้น กรณีที่ขาดจากการสมรสเพราะความตายนั้นทายาทอาจจะบอกล้างไม่ได้ เนื่องจากบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสได้มีแต่เฉพาะสามีภริยานั้นเอง และเป็นสิทธิเฉพาะตัว บุคคลอื่นจะบอกล้างแทนไม่ได้ ดังนั้นถ้าหากผู้ยกให้ได้ตายไปเสียก่อนจะยกเลิกการให้ สิทธิบอกล้างย่อมระงับ ไม่ตกทอดไปยังทายาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ทายาทจึงไม่มีสิทธิบอกล้างได้ เว้นเสียแต่ว่าผู้ยกให้ได้ฟ้องคดีบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสไว้แล้วต่อมาได้ถึงแก่ความตาย
กรณีนี้จะถือว่าเป็นการที่ผู้มีสิทธิได้ใช้สิทธิบอกล้างไว้แล้ว เมื่อตนตายในระหว่างฟ้องคดี ทายาทหรือผู้จัดการมรดกย่อมขอเข้ารับมรดกความดำเนินคดีแทนผู้ยกให้ที่ถึงแก่ความตายนั้นต่อไปได้.
การจัดการสินสมรส
ในกรณีที่สามีนำทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสไปยกให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา อยากจะทราบว่าในทางกฎหมายจะสามารถยกเลิกได้อย่างไรบ้าง
ศิริพร
ในทางกฎหมายนั้น สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญจึงจะจัดการร่วมกัน ซึ่งในเรื่องของการให้โดยเสน่หานั้น เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้สามีภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ในเรื่องการนำสินสมรสไปยกให้ผู้อื่นโดยให้โดยเสน่หานั้น มีผลทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียกรรมสิทธิ์ในสินสมรสนั้นไป จึงเป็นกรณีจำเป็นที่กฎหมายได้ให้สามีและภริยาทั้งสองคนตกลงยินยอมด้วยกัน ข้อยกเว้นที่กฎหมายยอมให้ทำได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งคือ ต้องเป็นการให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ดังนั้นถ้าเป็นการให้เพื่อการกุศล สังคม หรือหน้าที่ตามธรรมจรรยา แต่เกินฐานุรูปของครอบครัวแล้วก็จะไปยกให้โดยลำพังไม่ได้ เช่น มีที่ดินอยู่แปลงเดียว แต่สามียกให้บุตรหมดทั้งแปลงโดยภริยาไม่ได้ยินยอมด้วย เช่นนี้จะเป็นการให้เกินฐานานุรูปได้
และในการเพิกถอนนั้นได้มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า
มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้หรือเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
จะเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้บัญญัติว่า นิติกรรมในการจัดการสินสมรส ที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้นนิติกรรมที่ยังไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสจึงเป็นเพียงไม่สมบูรณ์ คู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอมนั้นอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ และถ้าเป็นการให้โดยเสน่หาแล้ว คู่สมรสฝ่ายที่มิได้ให้ความยินยอมด้วยมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาให้โดยเสน่หานี้ได้เสมอ แม้ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะกระทำโดยสุจริต คือกฎหมายจะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตเฉพาะที่ต้องเสียค่าตอบแทน
ในเมื่อสัญญาให้โดยเสน่หาเป็นนิติกรรมที่ไม่ต้องเสียค่าตอบแทน บุคคลภายนอกผู้รับการให้แม้จะสุจริตคือไม่รู้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ยินยอมด้วยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะไม่ได้เสียเงินเสียค่าตอบแทนในการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้สินสมรสนั้นแม้คู่สมรสจะมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่งก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์คนละครึ่งนี้หมายถึงเมื่อการสมรสสิ้นสุด เช่น ตาย หย่า หรือศาลพิพากษาให้การสมรสสิ้นสุด ดังนั้นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมยกให้โดยเสน่หาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์นี้จึงสามารถเพิกถอนได้ทั้งหมด เช่น สามียกที่ดินอันเป็นสินสมรส จำนวน 200 ตารางวาให้แก่ญาติของตนโดยลำพัง ถ้าภริยาจะฟ้องเพิกถอนก็เพิกถอนการยกให้ที่ดินได้ทั้งแปลงคือ 200 ตารางวา ไม่ใช่ฟ้องเพิกถอนเพียง 100 ตารางวา เป็นต้น
และการจัดการสินสมรสสำหรับกรณีที่กฎหมายห้ามจัดการโดยลำพังนั้น ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว ดังนั้น ถ้าผู้ทรงสิทธิเช่นภริยาไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ถึงแก่ความตาย สิทธิในการเพิกถอนนี้เป็นมรดก ทายาทจึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่บิดายกทรัพย์สินให้ผู้อื่นโดยเสน่หาโดยลำพังโดยรับโอนสิทธิของมารดาผู้ทรงสิทธิได้.
จงใจทิ้งร้าง
ผู้หญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว แต่ต่อมาที่บ้านมีปัญหาเรื่องเงิน สามีจึงไปบวชเป็นพระอยู่ที่วัดป่าที่จังหวัดอื่น ทิ้งให้ผู้หญิงอยู่คนเดียวตามลำพังมาหลายปี และเมื่อไปตามหาที่วัดก็ได้รับการบอกเล่าว่าสึกนานแล้ว และขาดการติดต่อไปเกือบ 2 ปี
ในระหว่างนี้ได้มีผู้ชายคนใหม่มารักใคร่ชอบพอผู้หญิง จนกระทั่งผู้หญิงคนนี้ได้เสียกับผู้ชายคนใหม่ ซึ่งคนทั้งอำเภอต่างทราบดีว่าผู้หญิงคนนั้นและผู้ชายคนใหม่เป็นสามีภริยากันแล้ว จู่ ๆ สามีคนแรกก็กลับมาและจะขอคืนดีด้วย ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงกำลังท้องกับผู้ชายคนใหม่
กรณีนี้จะถือว่าความผิดเกิดจากการกระทำของสามีคนแรกที่ทิ้งไป หรือเป็นความผิดของผู้หญิงที่มีผู้ชายคนใหม่ และจะมีทางฟ้องหย่ากับสามีคนแรกเพื่อมาแต่งงานใหม่ได้หรือไม่
ภาวินี
การที่คู่สมรสฝ่ายใดทิ้งร้างไปนั้น จะต้องดูเรื่องเจตนาว่า การจากไปนั้นมีเจตนาที่จะแยกกันหรือไม่ และการแยกกันอยู่ต่างหากนั้นจะต้องเป็นการอยู่กันคนละบ้านที่ห่างไกลกันต่างหากจากกันโดยไม่มีการติดต่อเกี่ยวข้องกันเลย เคยมีการฟ้องร้องกันในเหตุหย่าเรื่องละทิ้งร้างเกิน 1 ปี โดยคดีนั้นสามีภริยาอยู่กันคนละบ้านแต่อยู่ในบริเวณเดียวกันและไม่ได้หลับนอนร่วมเพศกัน ศาลเคยวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทิ้งร้างกัน เหตุหย่าดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่ศาลจะให้หย่าได้
สำหรับการไปบวชเป็นพระนั้นถ้ามีข้อเท็จจริงว่าภริยาให้ความยินยอมแล้วก็จะไม่เป็นการทิ้งร้าง แต่ปัญหาที่ถามมาคือข้อเท็จจริงภายหลังจากนั้นคือเมื่อสึกจากการเป็นพระแล้วไม่ติดต่อกลับมาหรือกลับมาอยู่กินกับภริยาตามเดิม ซึ่งมีคดีที่พอเป็นแนวทางที่จะเทียบเคียงได้ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2548 คดีนี้โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาเพียงสองเดือน หลังจากนั้นจำเลยไปรับราชการทหารและปลดเป็นกองหนุนเมื่อปี 2531
คดีนั้นศาลเห็นว่าหลังจากที่จำเลยปลดประจำการทหารแล้ว จำเลยควรจะมาอยู่กินกับโจทก์ในฐานะสามีภริยา ควรหาที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน แต่จำเลยกลับย้ายออกจากบ้านน้าสาว โดยไม่ขวนขวายเพื่อติดต่อกับโจทก์ เป็นการส่อเจตนาว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้โจทก์ไปอยู่ร่วมกันมากกว่า
การเป็นสามีภริยากันนั้นเมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้วตามกฎหมาย สามีภริยาต้องอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยา และสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติเช่นนั้น กลับหนีหายไป พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยไม่เอาใจใส่ดูแลโจทก์ในฐานะสามีที่จะพึงปฏิบัติต่อภริยา แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ อีกแล้ว
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากจำเลยปลดประจำการทหารแล้ว จำเลยมิได้กลับไปอยู่กินด้วยกันกับโจทก์ฉันสามีภริยา จนกระทั่งปี 2533 โจทก์จึงไปอยู่กินกันฉันสามีภริยากับสามีใหม่จนมีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีตั้งแต่จำเลยปลดประจำการทหารในปี 2531 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้.
การรับมรดก
ผมอยู่ต่างจังหวัดซื้อหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ อ่านเป็นประจำ และชอบอ่านปัญหากฎหมายเพราะทำให้ได้ความรู้และเข้าใจแนวทางในการแก้ปัญหาดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหากฎหมายครอบครัว ผมชอบที่ผู้เขียนพยายามสื่อความหมายให้คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายพอเข้าใจได้บ้าง
ผมยังไม่มีปัญหาครอบครัวมากเพราะยังไม่ได้แต่งงาน แต่เป็นปัญหาเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินคือ คุณพ่อของผมหย่ากับคุณแม่แล้ว ผมอยู่กับคุณแม่ ส่วนคุณพ่อไปมีภริยาใหม่และแต่งงานจดทะเบียนสมรสและมีลูกอีก 2 คน ตอนนี้คุณพ่อสุขภาพไม่ค่อยดี แต่นาน ๆ ผมจึงจะได้ไปเยี่ยมท่านสักครั้ง
ล่าสุดนี้ท่านบอกผมว่าทำพินัยกรรมเรียบร้อยแล้ว และในพินัยกรรมได้ยกทรัพย์สินให้ผมด้วย แต่ท่านก็ไม่ได้บอกว่ายกอะไรให้ ปัญหาคือถ้าท่านเป็นอะไรไปกะทันหัน ในทางกฎหมายมีกระบวนการอย่างไรจึงจะได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมได้ และถ้ามีการปกปิดรายละเอียดในพินัยกรรมจะแก้ปัญหาอย่างไร
พรศักดิ์
การทำพินัยกรรมมีหลายรูปแบบ แต่ถ้าเจ้าของพินัยกรรมทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยลายมือตนเอง และไม่ได้บอกให้ใครทราบว่าเก็บไว้ที่ไหน อย่างไร ความยุ่งยากจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของพินัยกรรมเสียชีวิต คืออาจจะไม่มีใครหาพบ หรืออาจจะมีผู้ปลอมพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาหักล้างพินัยกรรมฉบับเดิม รวมทั้งกรณีที่เจ้ามรดกเขียนพินัยกรรมไว้หลายฉบับ ซึ่งมีลักษณะขัดแย้งกัน
อย่างไรก็ตามกรณีที่มีพินัยกรรมหลายฉบับ ส่วนที่ไม่ขัดแย้งกันก็แบ่งไปตามนั้น แต่ถ้าการยกทรัพย์สินรายการใดในพินัยกรรมฉบับก่อนที่ขัดแย้งกันกับพินัยกรรมฉบับหลังแล้ว ในทางกฎหมายจะให้ถือเจตนาตามพินัยกรรมฉบับหลังสุดเพราะเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายของเจ้าของทรัพย์สินก่อนตาย
ปัจจุบันนี้เงินฝากในธนาคารของผู้ตาย หรืออสังหา ริมทรัพย์ต่าง ๆ ของผู้ตายการจะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในเรื่องกรรมสิทธิ์จากผู้ตาย ไปเป็นของทายาทที่มีสิทธิรับมรดกหรือรับทรัพย์สินตามพินัยกรรมได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งมาดำเนินการให้กับทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ซึ่งพินัยกรรมบางฉบับก็มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้เรียบร้อย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การจะเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ก็ต้องมีการร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อศาลจะได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบให้กับทายาทของผู้ตาย และถ้าพินัยกรรมฉบับใดไม่มีผู้จัดการมรดกแต่งตั้งไว้ ทายาททั้งหลายที่มีสิทธิรับมรดกก็ต้องไปร้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาทำหน้าที่แบ่งทรัพย์สินให้กับทายาท
เมื่อได้ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลมาแล้ว ผู้จัดการมรดกก็ทำหน้าที่แบ่งทรัพย์สินให้กับทายาทของผู้ตายตาม ที่ผู้ตายระบุยกให้ไว้ในพินัยกรรม ถ้าผู้จัดการมรดกไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่แล้วเกิดปัญหา เช่น ผู้จัดการมรดกไปจัดแบ่งทรัพย์สินให้แก่ตัวเอง หรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สิน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถร้องขอให้มีการเพิกถอนผู้จัดการมรดกได้ ดังนั้นทายาทของผู้ตายที่ได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรม ก็อาจจะทราบได้ในวันที่มีการอ่านพินัยกรรม หรือขณะที่มีการไปร้องขอต่อศาลขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก เพราะจะต้องมีการแสดงพินัยกรรมของผู้ตายต่อศาล
หรือแม้ว่าผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏในภายหลังว่าการแบ่งไม่เป็นไปตามคำสั่งในพินัยกรรม ถ้าทายาทที่ต้องเสียสิทธิในการที่ตนจะได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ก็สามารถจะร้องขอต่อศาลเรียกร้องสิทธิของตนได้ ทรัพย์ที่แบ่งกันไปแล้วก็ต้องคืนหรือนำมาแบ่งใหม่ ถ้าคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ ส่วนผู้ที่เจตนาตั้งใจปิดบังทรัพย์สินในพินัยกรรม ยักย้ายถ่ายเททรัพย์ หรือจัดการมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่เป็นไปตามพินัยกรรม ก็มีความผิดทางอาญา ซึ่งแล้วแต่ลักษณะของการกระทำว่า จะเป็นความผิดอาญาฐานยักยอก ฉ้อโกง ทำให้เสียทรัพย์ ปลอมเอกสาร ฯลฯ แล้วแต่กรณี.
เจ้าของรวม 2
คุณพ่อมีลูก 4 คน ยกที่ดินแปลงหนึ่งให้ผมเป็นที่ดินแปลงเล็ก ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ เนื้อที่ 5 ไร่เศษ ทำพินัยกรรมยกให้ลูก 3 คน และหลาน 1 คน ซึ่งหลานคือลูกของผมเอง อายุลูกตอนนี้เพียง 10 ขวบ คือขณะนี้เจ้าของที่ดินแปลงนี้ทุกคนตกลงจะแบ่งที่ดินกัน โดยน้องชายของผมซึ่งมีสิทธิได้รับที่ดินแปลงใหญ่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก และศาลอนุญาตแล้ว
ปัญหาคือ ขณะนี้ทายาทได้ตกลงแบ่งที่ดินแปลงนี้ โดยน้องชายของผมต้องการที่ดินติดถนนใหญ่มากพอสมควร ทำให้คนอื่น ๆ อีก 3 คนอาจจะเดือดร้อนเพราะทางเข้าที่ดินจะแคบมาก ผมจึงอยากจะทราบว่ากรณีตกลงแบ่งที่ดินกันแล้วทำให้ลูกของผมเสียเปรียบ ถ้าผมและลูกจะไม่ยอมรับข้อตกลงที่ได้ลงชื่อยินยอมไว้แล้วจะพอมีหนทางหรือไม่
มนตรี
ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เยาว์เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกที่มีผู้รับร่วมกันหลายคน แล้วไปตกลงประนีประนอมยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวมนั้น ในทางกฎหมายการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความของผู้เยาว์นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ดังนั้นในกรณีที่ไปตกลงกันเองไว้โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินนี้จึงไม่ผูกพันทายาทที่เป็นผู้เยาว์ เท่ากับว่ากรรมสิทธิ์รวมของทายาทผู้เป็นผู้เยาว์ ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตนจนกว่าจะมีการแบ่งแยก
เคยมีตัวอย่างแนวบรรทัดฐานคำพิพากษา ของศาลฎีกา ในคดีหมายเลขแดง (ประชุมใหญ่) ที่ 2548/4860 คือ ในคดีนั้นผู้ฟ้องคดีและทายาทคนอื่น ๆ เป็นเจ้าของรวมที่ดินแปลงหนึ่ง ต่อมาเจ้าของรวมทั้งหมดได้ไปตกลงทำยอมแบ่งที่ดินกัน โดยมีข้อตกลงให้ทายาทคนหนึ่งได้มากที่สุดและมีตำแหน่งที่ดินที่แน่นอน ที่ดินส่วนที่เหลือจึงให้ทายาทคนอื่น ๆ ก็นำมาแบ่งกันในระหว่างเจ้าของรวม ปรากฏเจ้าของรวมคนหนึ่งเป็นผู้เยาว์ ตกลงโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาล ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่า
โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 2 แปลง ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยให้โจทก์ได้ที่ดินแปลงละ 1 ไร่ และระบุตำแหน่งที่ดินส่วนของโจทก์ไว้ด้วย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอม ยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา (12)1574 ในขณะที่จำเลยที่ 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 เท่ากับว่ากรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 12 ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตนจนกว่าจะมีการแบ่งแยก ซึ่งมีผลไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดตำแหน่งของที่ดินเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมตลอดไปถึงจำนวนเนื้อที่ดินด้วย เพราะหากแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ไร่ ตามข้อตกลงแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือย่อมจะมีจำนวนลดน้อยลง และไม่อาจนำมาแบ่งให้จำเลยทั้งสิบสองได้ในจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่กระทบถึงสิทธิในจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยที่ 12 จะพึงได้รับ
เมื่อข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง
ผลของคดีที่มีการตกลงกันในระหว่างทายาทซึ่งมีผู้เยาว์เป็นเจ้าของรวมและตกลงด้วยโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทำให้ทายาทอื่นที่ไม่ใช่ผู้เยาว์และไปตกลงไว้พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย คือต้องยกเลิกข้อตกลงเดิมทั้งหมด แล้วไปว่ากันใหม่ โดยจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ผู้เยาว์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อตกลง จุดประสงค์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อให้ศาลช่วยในการตรวจสอบว่าการที่จะตกลงกันนั้นได้ทำให้ผู้เยาว์เสียเปรียบหรือไม่อย่างไร.
เจ้าของรวม
การที่พ่อตาย ทิ้งทรัพย์สินเป็นที่ดินชื่อของพ่อคนเดียวทั้งแปลงประมาณ 1 ไร่ พ่อมีลูกสามคน เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนดเป็น 3 แปลง ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกโฉนดกันแต่อย่างใด และต่างไม่รู้ว่าของตนเองอยู่ตรงไหน ขณะนี้พี่ชายได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกจากศาลแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการแบ่งกันเพราะน้องสาวซึ่งเป็นผู้รับมรดกอีกคนหนึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ ตอนนี้ที่ดินซึ่งเป็นมรดกยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นส่วนสัดว่าของใครอยู่ตรงไหน ผู้ที่ได้รับมรดกทั้งสามคนต่างต้องการให้ที่ดินมรดกที่แบ่งแยกออกมาเป็น 3 โฉนด โดยให้แต่ละแปลงติดด้านหน้าถนนให้มากที่สุด แต่ปัญหาคือหน้ากว้างของที่ดินแปลงใหญ่มีลักษณะหน้าแคบมากเพราะลักษณะที่ดินจะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ถ้าตกลงกันไม่ได้ที่ดินแปลงนี้จะแบ่งตามกฎหมายกันอย่างไร
พรรณี
กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรดกและเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนไหนให้ใครไว้ ที่ดินแปลงนี้ก็ต้องตกเป็นมรดกของทายาทตามกฎหมาย ซึ่งในที่นี้คือลูกทั้งสามคน และมรดกที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วน การที่มีทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกคนหนึ่งได้เป็นผู้จัดการมรดกครอบครองทั้งหมดไว้ต้องถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนทายาทคนอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดก เมื่อยังไม่ได้มีการแบ่งแยกที่ดิน การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้จึงต้องถือว่าทายาททั้งสามคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1360) บัญญัติไว้ว่า เจ้าของรวมคน หนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ดังนั้นเมื่อที่ดินกรรมสิทธิ์รวมระหว่างพี่น้องทั้งหมดยังไม่มีการแบ่งแยกครอบครองออกเป็นส่วนสัด การใช้ทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมของทายาทคนหนึ่งคนใดจึงต้องเป็นการใช้ที่ไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ เช่น การที่ทายาทคนใดไปก่อสร้างโดยเลือกที่ดินติดหน้าถนนเพียงคนเดียว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่น ไม่มีสิทธิที่จะทำได้ เจ้าของรวมคนอื่น ๆ จึงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ขัดต่อสิทธิของเขาออก จากที่ดินพิพาทได้ (แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 1669/2548) ดังนั้นถ้าหากชัดเจนว่าที่ดินแปลงนี้ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองมีตำแหน่งเป็นส่วนสัด จึงต้องถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของรวม จึงคงต้องเปิดการเจรจาตกลงแบ่งกันเองระหว่างพี่น้องที่ได้รับมรดกกันก่อน เช่น ถ้าติดถนนใหญ่ทั้ง 3 แปลง จะทำให้แต่ละแปลงมีหน้ากว้างที่แคบมาก ก็อาจจะตกลงขยายด้านที่ติดถนนให้กว้างขึ้น คือติดถนน 2 แปลง ส่วนอีกแปลงอยู่ทางด้านหลัง แต่ต้องเปิดทางให้ที่ดินแปลงหลังออกสู่ถนนสาธารณะได้ด้วย
แต่ถ้าเจรจากันแล้วตกลงกันไม่ได้ รูปคดีในการตั้งเรื่องฟ้องขอแบ่งที่ดินเนื้อที่คนละ เท่า ๆ กัน โดยให้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดพิพาทให้แก่ทายาทคน อื่น ๆ ที่มีสิทธิรับมรดกด้วย ในทางปฏิบัติในกรณีที่ไม่สามารถตกลงแบ่งที่ดินกันได้ในชั้นศาล ว่าของใครจะอยู่ติดถนน ที่ดินแต่ละแปลงจะมีรูปร่างที่ดินอย่างไร ก็คงต้องใช้วิธีนำที่ดินออกขายในระหว่างเจ้าของรวม หากขายในระหว่างเจ้าของรวมไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วนของแต่ละคน.
การสมรสของผู้เยาว์
ดิฉันมีลูกสาวกับสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส 1 คน ต่อมาดิฉันต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ จึงจดทะเบียนยกลูกสาวให้เป็นบุตรบุญธรรมของ พี่ชายและพี่สะใภ้ ขณะนี้ลูกสาวอายุได้ 18 ปี และ มีคนรักอายุ 25 ปี ทั้งคู่ต้องการแต่งงาน แต่พี่ชายและพี่สะใภ้ไม่ชอบ จึงพยายามกีดกัน เด็กทั้งสองคนได้เสียกันแล้ว และต้องการแต่งงาน แต่เจ้าหน้าที่ ๆ รับจดทะเบียนไม่ยอมจดทะเบียนให้ โดยให้เด็กทั้งสอง ไปตามพ่อแม่มาให้ความยินยอมก่อน
ลูกสาวจึงเดินทางมาหา ขอให้ดิฉันไปให้ความยินยอมในการที่ทั้งสองจดทะเบียนสมรสกัน จึงอยากถามว่า ในกรณีดังกล่าวนี้ดิฉันจะยังมีอำนาจเซ็นให้ความยินยอมลูกสาวของดิฉันอยู่ด้วยหรือไม่ หากเซ็นไป ต่อมาพ่อแม่บุญธรรมของเขาทราบ เขาจะฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่
สมพร
ผู้เยาว์หรือบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์ กฎหมายได้กำหนดให้ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ก่อน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ผู้เยาว์ที่มีทั้งบิดาและมารดา จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาทั้งสองคน
- ผู้เยาว์ที่มีบิดาหรือมารดาเพียงคนเดียว โดยมารดาหรือบิดาอาจถึงแก่ความตาย ถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้ ผู้เยาว์จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวได้
- ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากบิดามารดาโดยกำเนิดได้หมดอำนาจปกครองผู้เยาว์ไปตั้งแต่ที่ได้มีการจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์จะทำการสมรสจึงต้องได้รับความยินยอมของผู้รับบุตรบุญธรรมแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าในความเป็นจริงผู้เยาว์จะยังมีบิดามารดาที่แท้จริงอยู่ก็ตาม
- ผู้เยาว์มีผู้ปกครอง หากผู้เยาว์ไม่มีบิดาและมารดา หรือมีแต่บิดาและมารดาถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว จะต้องมีการตั้งผู้ปกครองให้แก่ผู้เยาว์โดยคำสั่งศาล การที่ผู้เยาว์จะทำการสมรสจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ส่วนบิดามารดาที่ถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว ไม่มีสิทธิมาให้ความยินยอมอีก
- บิดาและมารดาของผู้เยาว์มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าผู้เยาว์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว การสมรสของ ผู้เยาว์จึงต้องได้รับความยินยอมเฉพาะจากมารดาเพียงคนเดียว
สำหรับกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และมีการแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้แก่ผู้เยาว์ หากผู้พิทักษ์เป็นบุคคลอื่นที่มิใช่บิดามารดาของผู้เยาว์ ผู้พิทักษ์ที่ศาลแต่งตั้งไม่มีอำนาจให้ความยินยอมในการที่ผู้เยาว์จะทำการสมรส เพราะการที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้พิทักษ์ไม่ถือว่าเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง
หากผู้เยาว์จะทำการสมรสผู้ที่จะให้ความยินยอมคือ บิดาและมารดาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจให้ความยินยอมในการที่ผู้เยาว์ จะทำการสมรส แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาล สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะเหตุจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบที่ถึงขั้นเป็นคนวิกลจริตแล้ว ผู้เยาว์ก็ไม่อาจกระทำการสมรสได้เพราะขัดต่อเงื่อนไขของการสมรส ความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองที่ให้ผู้เยาว์ทำการสมรสนั้น เมื่อให้ความยินยอมถูกต้องตามวิธีการแล้วจะถอนความยินยอมไม่ได้
ในกรณีที่ผู้เยาว์ฝ่าฝืนเงื่อนไขทำการสมรสโดยไม่มีความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแล้ว เฉพาะผู้ที่มีสิทธิให้ความยินยอมเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆียะนี้ได้ ตัวชายหรือหญิงผู้เยาว์ที่เป็นคู่สมรสเองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอน
ดังนั้นการสมรสของผู้เยาว์ที่ให้มารดา ผู้ให้กำเนิดเป็นผู้ให้ความยินยอม ทั้ง ๆ ที่ผู้เยาว์ถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นที่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายแล้ว บิดาบุญธรรมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสดังกล่าวต่อศาลได้ และการฟ้องขอเพิกถอนการสมรสในกรณีที่ผู้เยาว์ทำการสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมนี้มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันทราบการสมรส อย่างไรก็ตามสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อชายหญิงคู่สมรสนั้นมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงตั้งท้องแล้ว.
บอกเลิกสัญญาระหว่างสมรส
การที่แฟนคนปัจจุบันซึ่งผมกำลังจะแต่งงานด้วยอีกสองเดือนข้างหน้านี้ มีความประสงค์ที่จะให้ผมปฏิบัติตามเงื่อนไขของเธอ 2 ข้อ คือ ข้อแรกยกทรัพย์สินซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผมให้กับเธอถ้าเธอและผมจดทะเบียนสมรสกันแล้ว (เป็นที่ดินแปลงหนึ่ง) กับอีกข้อหนึ่งคือใส่ชื่อเธอร่วมกับผมในสมุดบัญชีธนาคารในเงินที่ได้จากการขายมรดกของผมนั้น
ผมสงสัยว่าถ้าผมทำเช่นนั้น หากในวันข้างหน้าชีวิตสมรสของผมแปรเปลี่ยนไป ผมจะสามารถยกเลิกหรือแก้ไขกรณีทั้งสองได้บ้างหรือไม่
นฤเบศร์
ทั้งสองข้อที่เขียนถามมาจะคล้ายกับแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว คือคดีตามพิพากษาฎีกาที่ 3714/2548 คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ (สามี) และจำเลย (ภรรยา) จดทะเบียนสมรสกัน โดยก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์ได้รับมรดกที่ดินจากบิดา-มารดา ต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินมรดกแล้วนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำธนาคารหนึ่ง โดยได้เปิดบัญชีร่วมกันระหว่างโจทก์และจำเลย เงินฝากในบัญชีดังกล่าวมียอดต้นเงินฝากสุทธิ 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของโจทก์
ศาลฎีกาฯ เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากประจำ ซึ่งยื่นคำขอเปิดระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรสกันอยู่ โดยโจทก์แถลงรับว่า โจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7.5 ล้านบาท ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 บัญญัติให้สิทธิสามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ภายในเวลาใดที่เป็นสามีภรรยากันอยู่ หรือภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภรรยากันก็ได้ (แต่การบอกล้างดังกล่าวต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต)
ดังนั้นเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันต่อมาว่า โจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินจำนวน 7.5 ล้านบาทต่อจำเลยแล้ว ซึ่งการบอกล้างนี้เป็นการกระทำในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายกันอยู่ การบอกล้างนี้จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม
โดยเหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมการให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ในทางปฏิบัติคือ ภรรยาก็ต้องคืนสมุดบัญชีเงินฝากแก่สามีและลงชื่อถอนเงินให้แก่สามีตามระเบียบของธนาคาร โดยในคำขอท้ายฟ้องส่วนใหญ่ฝ่ายโจทก์มักจะขอเอาไว้ว่า หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ขอออกสมุดเล่มใหม่และแสดงเจตนาถอนเงินแทนจำเลย
ดังนั้นทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ยกให้ในระหว่างสมรสก็ใช้วิธีการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสและฟ้องบังคับในทำนองเดียวกันกับคดีนี้.
สิทธิในการเลือกคู่
ผมมีภริยาแล้ว ปัญหาของผมแปลกจากคนอื่นที่ไม่ค่อยมีใครเขียนถาม คือผมได้มาพบผู้หญิงคนอื่นที่ถูกใจกว่าในภายหลัง และเธอยื่นเงื่อนไขให้ผมหย่ากับภริยาเรียบร้อยก่อนจึงจะมาพูดถึงเรื่องอยากได้เธอเป็นภริยา ซึ่งตัวภริยาผมนั้น ผมไม่สามารถที่จะหาความผิดใดจากภริยาคนนี้ได้เลย ตัวผมเป็นคนผิดเสียด้วยซ้ำที่เปลี่ยนใจมาชอบคนที่เจอทีหลัง
ผมได้เจรจาขอหย่าภริยาโดยดีแต่เธอไม่ตกลง ภริยาได้บอกผมว่าถ้าอยากได้มากก็ให้ไปฟ้องหย่าเอาเอง ผมจึงได้พยายามศึกษาติดตามจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจากนักกฎหมาย รวมทั้งปัญหาที่พบในอินเทอร์เน็ตและวารสารต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่ตรงกับปัญหาของผม เพราะส่วนใหญ่จะออกมาในรูปที่ว่ากรณีของผมยังไม่อาจหาเหตุตามกฎหมายที่จะฟ้องหย่าภริยาได้เลย
ผมจึงอยากจะทราบว่าเคยมีผู้ฟ้องร้องที่ศาลและศาลให้หย่าโดยอ้างสิทธิในการเลือกคู่ครองของแต่ละคนโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าตามกฎหมายบ้างหรือไม่
ศุภวุฒิ
คดีในศาลมีมากมายที่มีการฟ้องหย่าโดยอ้างเหตุหย่าตามกฎหมาย แต่ถ้าเหตุในการหย่านั้นไม่เป็นความจริงหรือพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนั้น ๆ
การที่จะใช้สิทธิฟ้องหย่าตามกฎหมายโดยที่ไม่ใช่ความผิดของคู่สมรสฝ่ายใด ก็อาจจะ ใช้เหตุฟ้องหย่าที่ว่า มีการสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปี ซึ่งบางรายก็ใช้บันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจมาแสดงว่าได้ไปบันทึกไว้แล้วว่าจะสมัคร ใจแยกกันอยู่ หรือใช้พยานบุคคลมานำสืบว่ามี การแยกกันอยู่อย่างสมัครใจของทั้งสองฝ่ายอย่างไรบ้าง และเมื่อครบกำหนดเวลาผ่านไป 3 ปี ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ยอมหย่าก็สามารถใช้เหตุหย่าที่ว่ามีการแยกกันอยู่โดยสมัครใจเกินกว่า 3 ปี มาฟ้องหย่าที่ศาลได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีคดีหนึ่งที่ฟ้องหย่าโดยอ้างสิทธิในการเลือกคู่ครองของตนเองคือ คดีนั้น สามีและภริยามีบุตรด้วยกัน 2 คนแล้ว ต่อมาสามีได้เป็นโจทก์ฟ้องหย่าภริยาโดยให้เหตุผลในการหย่าแต่เพียงว่าไม่อาจทนอยู่ร่วมกินฉันสามีภริยากับจำเลยได้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คือยกฟ้องเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น สามีโจทก์จึงฎีกาต่อ
ดิฉันจึงอนุญาตคัดคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาที่ 4983/2548 มาให้ลองพิจารณาดูดังนี้
ศาลได้ยกเหตุผลของสามีที่ว่า โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้ ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ หากโจทก์เห็นว่า หญิงนั้นไม่เหมาะสมกับตน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลิกร้างกับหญิงดังกล่าวได้
การที่โจทก์มีข้อโต้แย้งกับจำเลยในเรื่องการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกับจำเลยและเลือกใช้วิธีการทางกฎหมายโดยการฟ้องหย่า ย่อมเป็นการแก้ปัญหาให้แก่ครอบครัวและสังคมโดยสันติ เพื่อมิให้เกิดปัญหารุนแรงถึงขั้นฆ่ากันตายดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับลูก ๆ ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเหมือนเป็นการไม่แก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นการก่อปัญหาให้เกิดขึ้นกับครอบครัวของโจทก์มากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงจิตใจของโจทก์ที่จะได้รับทุกข์ทรมานจากการกระทำของจำเลยนั้น
และศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีนี้ว่า เห็น ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 28 กำหนดว่าบุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกคู่ครองตามที่โจทก์ฎีกาจะเป็นสิทธิของโจทก์ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติรองรับถึงการใช้สิทธิเช่นนั้นได้
การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่พอใจ ต้องการแยกทางกับจำเลยจึงฟ้องหย่าโดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่โจทก์จะเลือกคู่ครองได้ตามความพอใจของตนนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็นภริยาและบุตรทั้งสอง
ดังนี้ หากโจทก์ประสงค์จะหย่าขาดจากจำเลยจะต้องมีเหตุหย่าที่อ้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 บัญญัติไว้ ซึ่งการใช้สิทธิหย่าของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว มิฉะนั้นสถาบันครอบครัวในสังคมจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบและมีแต่ความสับสนวุ่นวายได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้หรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าจะมีเหตุให้หย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 หรือไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาพิพากษายืน คือยกฟ้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์.
ถอนการสมรส
ถ้าจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ต่อมาภายหลังจึงได้ทราบว่าสามีไม่ทำตามสัญญาที่รับปากไว้ก่อนจดทะเบียนสมรสว่าจะดูแลเป็นอย่างดี ถ้าฟ้องศาลขอให้เพิกถอนทะเบียนสมรส หรือทำให้การสมรสเป็นโมฆะแทนการฟ้องหย่า จะถือว่าได้หรือไม่ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน
แววลดา
มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
กรณีนี้เป็นเรื่องที่ขอเพิกถอนการสมรสได้หรือไม่ ลองดูแนวคำวินิจฉัยจากผลของคำพิพากษาคดีหนึ่ง คือคดีนั้นภริยาเป็นโจทก์ฟ้องหย่าสามี หลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ หย่ากัน สามีสู้คดีต่อโดยฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระหว่างที่คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกานั้น ได้พากันไปหย่า แล้วต่อมาภายหลังเปลี่ยนใจมาคืน ดีกัน
สามีและภริยาคู่นั้นจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่าไม่ติดใจดำเนินคดีต่อกันและประสงค์จะคืนดีกัน ขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์และจำเลยกลับคืนสู่ฐานะเป็นสามีภริยาอย่างเดิม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนยื่นคำร้อง โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยสมบูรณ์แล้ว การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นอันสิ้นสุดนับแต่วันที่มีการจดทะเบียนหย่าเป็นต้นมา
ดังนั้น การพิจารณาฎีกาของจำเลยในเรื่องการหย่าย่อมเป็นอันไร้ประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของศาลฎีกาต่อไป และการที่โจทก์จำเลยจะให้ศาลฎีกาพิพากษาตามยอมเพื่อนำเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาไปแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนหย่า แล้วมีการจดทะเบียนสมรสกันใหม่ เห็นว่า การสมรสเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนให้อำนาจ ศาลที่จะบังคับให้มีการสมรสได้ จึงไม่อาจพิพากษา ตามข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความอัน ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ได้ (คำพิพากษาฎีกา 3057/ 2525)
เนื่องจากเหตุที่จะทำให้การสมรสเป็นโมฆะนั้นตามกฎหมายมี 4 กรณี คือ การที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือศาลสั่งให้ เป็นคนไร้ความสามารถ, ชายหรือหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงต่อกันหรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา, การสมรสซ้อน และการที่ชายหญิงไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากัน
ดังนั้นกรณีที่สมรสกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายสำคัญผิด ไม่เข้าใจในธรรมชาติของการกระทำว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็นการสมรส เช่น การที่ไม่รู้ภาษาที่เขียนเป็นต่างประเทศว่าเป็นการให้เซ็นชื่อเป็นการจดทะเบียนสมรส เข้าใจว่าเป็นการเซ็นให้ทำนิติกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นต้น
การสมรสเป็นการทำสัญญาที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายหญิงโดยสมัครใจ โดยได้รับความยินยอมจากชาย และหญิงนั้น กรณีที่ชายหลอกลวงหญิงมาจดทะเบียนสมรสเป็นภริยาโดยรับรองว่าจะเลี้ยงดูให้สุขสบาย แต่ในภายหลังกลับทิ้งขว้าง จะถือว่าหญิงมิได้ยินยอมไม่ได้ การสมรสนี้สมบูรณ์ทุกประการ จะมาขอให้ศาลบังคับเพิกถอนไม่ได้
ยกตัวอย่างในคดีหนึ่ง โจทก์จำเลยได้เสียกัน ต่อมาได้ไปจดทะเบียนสมรสซึ่งกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานนายทะเบียน โจทก์จะอ้างภายหลังว่ามีเงื่อนไขอื่นที่จำเลยรับปาก อาทิ ห้ามเปิดเผยว่าโจทก์เป็นสามี ห้ามยุ่งเกี่ยวกับเงินเดือน และงาน ฯลฯ ซึ่งรับฟังไม่ได้มาเป็นเหตุให้การสมรสเป็นโมฆะหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3471/2526)
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งและเป็นนักศึกษา feminist ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับหนึ่งมาตั้งแต่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายใหม่ ๆ ที่ให้เพิกถอนทะเบียนสมรสเพราะตกเป็นโมฆะแต่กลับไม่ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม
คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2527 ที่ตัดสินให้ หญิงที่ถูกทะเบียนสมรสซ้อนต้องใช้คำนำหน้านามว่า นาง ตลอดไปแม้ว่าการสมรสจะตกเป็นโมฆะแล้วก็ตาม โดยเนื้อหาของคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ศาลให้เหตุผลว่า เพราะการสมรสที่เป็นโมฆะแม้จะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินขึ้นก็ตาม แต่ในด้านความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวได้เกิดมีขึ้นแล้ว ผลของการที่หญิงจดทะเบียนสมรสซ้อนอันเป็นโมฆะดังกล่าวทำให้หญิงเปลี่ยนฐานะบุคคลของตนไปเป็นหญิงมีสามีโดยผลของกฎหมายแล้ว หากต่อมาศาลได้พิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆะ หญิงนั้นจะต้องใช้คำนำหน้านามว่า นาง ตลอดไปจะกลับมาใช้ นางสาว ไม่ได้ ...ซึ่งในทางกฎหมายแล้วการที่ตกเป็นโมฆะนั้น จะมีผลทำให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม
ดังนั้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในความเห็นของนักสตรีนิยม (feminism) จะวิพากษ์ได้ว่าเกิดจากแนวคิดที่ฝังรากมาจากระบบปิตาธิปไตย (แปลว่าระบบชายเป็นใหญ่) ที่ยังมีความอคติในทางเพศ.
หนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา
ดิฉันและสามีแต่งงานและจดทะเบียน สมรสถูกต้องตามกฎหมาย เราเปิดโรงงานผลิตเครื่องประดับผู้หญิงออกวางขายในตลาด ในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์การผลิตเครื่องประดับหรือสินค้า เราใช้เช็คชำระค่าสินค้า และบางครั้งดิฉันก็เซ็นชื่อหลัง เช็คด้วย
ต่อมากิจการโรงงานไม่ค่อยดี สามีได้เขียนเช็คนำมาแลกเงินสดของนายทุนหลายรายเพื่อเอาไปใช้หมุนเวียนในกิจการของโรงงาน และเมื่อปีที่แล้วสามีเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวการที่มีเช็คที่เจ้าหนี้ค่าสั่งซื้อวัสดุการผลิตและนายทุนที่เราเอาเช็คไปแลกเงินสดไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ซึ่งได้นำมาฟ้องดิฉันและสามีเป็นจำเลยให้ชำระเงินตามเช็คจนศาลได้คำพิพากษาแล้ว
ดิฉันจึงอยากจะทราบว่าถ้าดิฉันไม่มีเงินไปชำระหนี้ตามคำสั่งของศาล ทรัพย์สินในขณะนี้ของดิฉันแทบทั้งหมดซื้อมาหลังจากแต่งงานกัน ซึ่งมีบางส่วนที่ใส่ชื่อของดิฉัน ปัญหาของดิฉันคือบ้านหลังใหญ่ชื่อของสามีและยังไม่ได้โอนเป็นชื่อของดิฉัน เพราะอยู่ในระหว่างร้องขอจัดการมรดกหลังจากสามีเสียชีวิต ถ้าจะมีการยึดบ้านหลังนี้ดิฉันจะอ้างต่อเจ้าหนี้ได้หรือไม่ว่าบ้านหลังนี้เป็นสินสมรส เพื่อจะได้แบ่งส่วนที่ดิฉันมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยออกมาจากการยึดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
มยุรา
หลักทั่วไปในการที่ทายาทจะต้องรับผิดชำระหนี้ของผู้ตายนั้น ทายาทซึ่งได้รับมรดกของผู้ตายต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของผู้ตายเพียงไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ทายาทผู้นั้นได้รับมา
ในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน แต่เป็นเรื่องที่ภริยาจะขอกันส่วนของภริยาในสินสมรสออกจากการบังคับคดี การที่ภริยาจะขอกันส่วนในทรัพย์สินของภริยาออกจากการบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้นั้น หนี้ตามคำพิพากษานั้นจะต้องเป็นหนี้ส่วนตัวของสามี ปัญหาจึงต้องพิจารณาว่าหนี้สินที่เป็นมูลหนี้ที่มีการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้นั้น เป็นหนี้ส่วนตัวของสามีที่ตายหรือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา
ตามข้อเท็จจริงที่ให้มานั้น สามีขณะยังมีชีวิตได้สั่งจ่ายเช็คค่าซื้อวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งมีการนำเช็คมาแลกเงินสดไปใช้ในกิจการค้า และภริยาเคยสลักหลังเช็คด้วยนั้น ดังนั้นมูลหนี้ตามเช็คที่เจ้าหนี้ทั้งหลายฟ้องมานั้นน่าจะฟังได้ว่าเป็นหนี้ที่สามีกับภริยาได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งจะเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1490) นอกจากนี้เจ้าหนี้ยังได้ฟ้องภริยาเป็นจำเลยร่วมมาด้วย เท่ากับได้เป็นคู่ความในคดีที่หากแพ้คดี ผู้ที่ถูกฟ้องเข้ามาเป็นจำเลยจึงอาจถูกบังคับคดีได้ เมื่อไม่มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนต้องไปถึงขั้นการบังคับคดีตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดบรรดาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อขายทอดตลาดได้ เจ้าหนี้จึงสามารถนำยึดได้ทั้งทรัพย์สินส่วนตัวสามีและภริยาหรือสินสมรส
ในการที่เจ้าหนี้ได้นำยึดจากทรัพย์สินซึ่งได้ ซื้อหรือสร้างมาหลังจากแต่งงานกันแล้ว แม้ทรัพย์สินจะใส่ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทรัพย์สินนั้นก็ยังเป็นสินสมรส แต่การที่ภริยาจะต่อสู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นสินสมรสที่สามีและภริยาเป็นกรรมสิทธิ์คนละครึ่งนั้น เพื่อภริยาจะใช้สิทธิขอกันส่วนของภริยาออกมาจากการยึดขายทอดตลาด เพื่อไม่ให้บังคับคดีนั้น ย่อมไม่ได้ เพราะหนี้ตามคำพิพากษาที่บังคับคดีนี้ไม่ใช่หนี้ส่วนตัวของสามี แต่เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา สามีภริยาต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ร่วมกัน.
การยอมความในคดีอาญา
ผมมีญาติที่ถูกแจ้งความบุกรุกและลักทรัพย์ไว้ที่สถานีตำรวจ ซึ่งญาติบอกว่า คดีนี้สามารถตกลงกันได้ จะขอเงินจากผมเพื่อจะนำ ไปชดใช้ให้ผู้เสียหาย เพื่อจะได้ไม่ถูกดำเนินคดี ผมจึงอยากทราบว่า ผมจะตรวจสอบได้อย่างไรว่า คดีที่ถูกแจ้งความไว้สามารถยอมความกันได้ และจริงหรือไม่ถ้าผู้เสียหายจะยอมรับเงินแทนของที่เขาเอาไป จะทำให้ญาติของผมรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีอาญา
มนตรี
คดีอาญาจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ คดีความผิดอาญาแผ่นดิน และคดีความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งสำหรับคดีความผิดต่อแผ่นดินนั้น เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ เป็นส่วนได้เสียของประชาชนจะยอมความกันไม่ได้ ส่วนความผิดต่อส่วนตัวนั้นคู่กรณีสามารถตกลงยอมความกันได้ตัวอย่างเช่น คดีบุกรุกธรรมดากฎหมายได้บัญญัติให้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไว้ ถ้าต่อมาภายหลังผู้แจ้งความจะไม่เอาเรื่องหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ก็สามารถตกลงยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ทำให้คดีอาญาระงับลงได้
แต่ถ้าเป็นคดีบุกรุกในเวลากลางคืน หรือบุกรุกโดยมีอาวุธมาขู่เข็ญซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์ กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวไว้ การบุกรุกในเวลากลางคืนหรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญจึงเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้วก็ไม่อาจจะยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ได้ ต้องดำเนินคดีต่อไป
ในการจะดูว่าความผิดอาญาใดยอมความได้หรือไม่นั้นจะต้องดูพฤติการณ์ลักษณะของการกระทำความผิดว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏน่าจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตราใด ซึ่งส่วนใหญ่จะดูจากข้อหาที่จะดำเนินคดี โดยพนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวพนักงานสอบสวนปรับให้เป็นความผิดตามบทมาตราใด
แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะบางกรณี หากพนักงานอัยการมีความเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงบางประการที่ยังไม่ได้สอบสวนไว้ ก็อาจจะขอให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม สอบสวนเพิ่มเติมแล้วอาจจะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่การกระทำผิดเข้าเหตุลักษณะฉกรรจ์ ก็จะมีการแจ้งให้ผู้ต้องหารับทราบข้อหาเพิ่ม ซึ่งการแจ้งข้อหาเบื้องต้นอาจเป็นเพียงความผิดต่อส่วนตัว แต่ข้อหาที่แจ้งเพิ่มเติมในชั้นพนักงานอัยการอาจเป็นข้อหาที่เป็นความผิด ต่อแผ่นดินแล้วแต่กรณี ซึ่งในการดำเนินคดีที่มีหลายข้อหาซึ่งล้วนเป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้นคู่ความอาจจะตกลงยอมความเฉพาะบางข้อหาหรือทั้งหมดก็ได้
การยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ คู่กรณีจึงอาจตกลงกันด้วยวาจาโดยแสดงเจตนาเลิกคดีต่อกันโดยบริสุทธิ์ แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น ตกลงถอนเรื่องไม่ติดใจให้สอบสวนต่อไป ตกลงตามรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของตำรวจว่ายอมเลิกคดีบุกรุกกัน ฯลฯ แต่การที่ตกลง ด้วยวาจาซึ่งขาดพยานหลักฐานยืนยันก็ต้องอาศัยพฤติการณ์มาพิจารณาว่าได้มีการตกลงกันจริง เช่น การที่จำเลยรื้อรั้วไปทำขึ้นตามแนวเขตใหม่ตามข้อตกลง การที่ผู้เสียหายรับว่าได้ตกลงยอมความกับจำเลยแล้ว หรือตกลงให้โจทก์ถอนคดีที่แจ้งความไว้ โดยจำเลยชำระให้เป็นเงินสดและออกเช็คแก่โจทก์ หรือการที่ผู้เสียหายแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมโดยได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยเป็นที่พอใจแล้ว ฯลฯ.
นอกจากนี้ถ้ากรณีที่การกระทำเป็นทั้งความผิดทางแพ่งและทางอาญานั้น จะต้องพิจารณาให้ดี ต้องดูว่าได้มีความมุ่งหมายที่จะให้คดีอาญาระงับไปด้วยหรือไม่ เพราะการยอมความในคดีแพ่งที่จะทำให้คดีอาญาระงับไปนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาด้วย หากไม่ปรากฏว่าได้ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต้องถือว่าเป็นการยอมความในคดีแพ่งเท่านั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับ
ตัวอย่างแนวคำพิพากษาของศาล ที่ไม่ถือว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาด้วย เช่น การที่บิดามารดายอมรับขมา 2,000 บาท เพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายกลับคืนมา และเพื่อล้างอายโดยเข้าใจว่าบุตรสาวตามเขาไป เป็นเรื่องตกลงกันในทางแพ่งไม่เกี่ยวกับทางอาญา, การที่มีการยอมความในคดีแพ่งที่มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์จนครบถ้วนเสียก่อน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีอาญา ไม่ถือว่าโจทก์สละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาทันที, การทำบันทึกตกลงกันไว้ว่าถ้าจำเลยนำเงินมาคืนผู้เสียหายภายในกำหนด ผู้เสียหายจะไม่เอาเรื่องทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น ไม่เป็นการยอมความโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการยอมความโดยมีเงื่อนไข การยอมความโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปก็ต่อเมื่อจำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว
หรือในความผิดฐานยักยอก เพียงแต่ได้ส่งเงินไปใช้ให้โดยไม่ปรากฏว่ามีการทำความตกลงระงับข้อพิพาทต่อกัน ศาลฎีกายังเคยตัดสินว่ามิใช่การยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
อย่างไรก็ตามในแต่ละข้อหาที่ถูกแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินคดีนั้น การที่เราจะทราบได้ว่าข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่นั้น ในเบื้องต้นประมวลกฎหมายอาญาจะระบุไว้ชัดเจนว่าการกระทำความผิดตามมาตรานั้นๆ เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยจะระบุไว้วรรคท้ายของมาตรานั้น ๆ หรือในตอนท้ายของหมวดความผิดนั้น ๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คดีฉ้อโกงลักษณะธรรมดาจะเขียนไว้ ว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ถ้าเป็นคดีฉ้อโกงประชาชน (คนหมู่มาก) จะไม่มีการเขียนไว้
ดังนั้นคดีฉ้อโกงประชาชนจึงเป็นความผิดต่อแผ่นดินคือยอมความไม่ได้ หรือคดีลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ในลักษณะธรรมดาหรือการลักทรัพย์ลักษณะฉกรรจ์จะไม่มีการเขียนระบุไว้ว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ทำให้คดีลักทรัพย์แม้จะเป็นการลักทรัพย์ในลักษณะธรรมดาเป็นคดีที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน จึงยอมความกันไม่ได้ เป็นต้น
ดังนั้นถ้าเป็นการแจ้งความบุกรุกธรรมดาก็อาจตกลงยอมความกันได้ แต่ถ้าแจ้งความบุกรุกในเวลากลางคืนหรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญและมีการแจ้งข้อหาลักทรัพย์มาด้วย คดีก็ไม่อาจตกลงยอมความกันได้
การกระทำผิดอาญาแผ่นดินที่มีการพูดคุยกันนอกรอบว่าคดีนี้สามารถตกลงกันให้คดีเลิกกันได้ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกให้เสียเงินเสียทอง และเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาด้วย.
หย่าแล้วยังอยู่ด้วยกัน
สามีเป็นคนเจ้าชู้มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ เมื่อแต่งงานกันแล้วก็ยังมีเรื่องผู้หญิงให้ดิฉันปวดหัวอยู่เป็นประจำ
ต่อมา สามีได้มาขอให้ดิฉันจดทะเบียนหย่ากันก่อน โดยอ้างว่าต้องประกอบธุรกิจหลายอย่าง หากวันหน้ามีหนี้สิน เจ้าหนี้อาจจะมายึดทรัพย์สินทำให้ครอบครัวเดือดร้อนได้ แต่ถึงจะหย่ากันเราก็จะอยู่กินกันเหมือนเดิมทุกอย่าง ทรัพย์สินที่จะหาได้ในวันข้างหน้าก็จะใส่ชื่อดิฉันเป็นเจ้าของคนเดียว
แต่ดิฉันไม่ค่อยเชื่อในเหตุผลของสามีเพราะทุกวันนี้สามีก็ยังคงมีผู้หญิงมาติดพัน และมีรายหนึ่งซึ่งสามีหลงใหลมาก และเธอเป็นคนมีหน้า มีตาในสังคม การที่เธอคบกับผู้ชายที่จดทะเบียนสมรสมีภริยาตามกฎหมาย อาจทำให้เธอถูกสังคมครหาได้
ดิฉันจึงต้องการคำชี้แนะในทางกฎหมายว่า การจดทะเบียนหย่าแล้วยังอยู่กินด้วยกันนั้นเจ้าหนี้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากภริยาที่หย่ากันแล้วได้จริงหรือ?
ปรานี
สำหรับสังคมที่ยึดถือทะเบียนสมรสเป็นสิ่งสำคัญในการสมรสนั้น จะพบกับปัญหาความสำคัญของการเป็นคู่สมรสตามกฎหมายในอีกด้านหนึ่ง เช่น กรณีของการที่คู่สมรสตกลงจดทะเบียนหย่ากันแบบหลอก ๆ ไม่ว่าจะใช้เหตุผลว่าเพื่อครอบครัวจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนจากการทำธุรกิจ หรือกล่าวง่าย ๆว่าเพื่อจะได้หลบเลี่ยงจากการต้องถูกบังคับชำระหนี้สินต่าง ๆ หรือจะเพื่อหมกเม็ดการได้มาซึ่งอิสระกับการจะได้มีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นโดยไม่ถูกร้องเรียนหรือรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี
การที่คู่สมรสตกลงหย่ากันแล้วยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาหลังการหย่าในทางกฎหมายนั้น อาจจะไม่มีผลทำให้การสมรสสิ้นสุดตามที่ได้จดทะเบียนหย่ากันแต่อย่างใด ซึ่งจะยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาเก่า ๆ มาให้ดูเป็นแนวทางประกอบการตัดสิน
ตัวอย่างที่ 1 กรณีที่ไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอก เจ้าหนี้เป็นบุคคลภายนอกเป็นโจทก์ที่นำคดีมาฟ้องทั้งสามีและภริยาเป็นจำเลยร่วมกันให้ชำระหนี้ โดยสามีภริยาอาจจะตกลงจดทะเบียนหย่ากันแล้ว แต่ยังอยู่กินกันฉันสามีภริยา การที่ต่อมาศาลได้พิพากษาให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ชนะคดี มีการบังคับให้ลูกหนี้ผู้เป็นจำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งการบังคับคดีนั้นอาจจะมีการยึดทรัพย์สินหลาย ชิ้นทั้งของลูกหนี้และไม่ใช่ของลูกหนี้ ถ้าทรัพย์สินรายการใดที่เจ้าหนี้นำยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าของที่แท้จริงก็สามารถร้องต่อศาลขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดออกจากการบังคับคดีได้
ดังนั้นถ้าสามีภริยาได้จดทะเบียนหย่ากันถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องบังคับหนี้สามี แต่ไปยึดทรัพย์สินบางรายการที่เป็นของภริยาที่หย่ากันไปแล้ว อดีตภริยาก็สามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่จะนำยึดมาบังคับคดีได้.
กลับกันถ้าเป็นการฟ้องและบังคับคดีกับสินสมรส ที่สามีภริยาเป็นเจ้าของร่วมกันคนละครึ่ง ถ้าเป็นการตกลงจดทะเบียนหย่ากันหลอก ๆ เพื่อสะดวกแก่การจะถ่ายเททรัพย์สินไม่ให้ถูกเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้ โดยยักย้ายไปไว้ที่ภริยา การที่ในความเป็นจริงทั้งคู่ยังอยู่กินกันฉันสามีภริยาเหมือนเดิม ผลในทางกฎหมายจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเพราะถือว่าการจดทะเบียนหย่าหลอก ๆ กันนี้ไม่อาจจะมีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกได้ ทำให้ทรัพย์สินที่นำยึดบังคับคดีถ้าหากเป็นสินสมรส ที่คู่สมรสมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สิน ภริยาที่หย่ากับสามีเพื่อหลอกบุคคลภายนอก
ในกรณีเช่นนี้ จะนำมาใช้ในการอ้างต่อศาล เพื่อขอให้ปล่อยทรัพย์ที่เจ้าหนี้นำยึด ว่าทรัพย์สินที่นำยึดเป็นของตนไม่ใช่ของสามีนั้นไม่ได้
ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2524 ซึ่งศาลฎีกาได้เคยพิพากษาไว้ว่า หนังสือข้อตกลงหย่าและการจดทะเบียนหย่า ผู้ร้องกับจำเลยแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างกันกระทำขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการกระทำขึ้นโดยสมยอม จึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดจึงเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ผู้ร้องไม่มีอำนาจมาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
ตัวอย่างที่ 2 กรณีที่ไม่มีผลผูกพันกันเอง สามีจดทะเบียนหย่ากับภริยาแต่ยังอยู่กินกันฉันสามีภริยา ต่อมาภายหลังสามีไม่ต้องการจะอยู่กินกับภริยาอีก โดยต้องการให้ภริยาออกจากบ้านเพื่อจะเอาผู้หญิงคนใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน ภริยาไม่ยอม ออก สามีจึงมาฟ้องขับไล่ภริยาออกจากบ้าน เช่นนี้ขับไล่ไม่ได้
ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา 2898/2525 ศาลพิพากษาว่า โจทก์จดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอยู่ร่วมเรือนเดียวกัน และร่วมสร้างเรือนพิพาทอยู่ด้วยกันอีก 1 หลัง ปรับปรุงที่พิพาทเป็นนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกต้นผลอาสินเยี่ยงสามีภริยา ต่างฝ่ายต่างไม่มีคู่ครองใหม่ พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าการจดทะเบียนหย่าก็โดยเจตนาไม่ประสงค์ให้มีผลผูกพันกัน จึงใช้บังคับกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งคู่ยังคงเป็นสามีภริยากันตลอดมา โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและเรือนพิพาทไม่ได้
ปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ยอมจดทะเบียนหย่าให้สามี แต่ยังอยู่กินกันเหมือนเดิม ต้องขมขื่นใจกับการช่วยเหลือสามีโดยการจดทะเบียนหย่าให้สามีได้มีอิสระ เนื่องจากสามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น ให้สามีได้นำทะเบียนหย่าไปแสดงต่อผู้หญิงอื่นที่สามีไปมีความสัมพันธ์ จะได้จดทะเบียนสมรสใหม่เพื่อแลกกับการที่สามีจะได้ไม่ถูกร้องเรียนหรือดำเนินคดี เพราะสามารถแสดงความรับผิดชอบกู้ศักดิ์ศรีให้แก่ผู้หญิงที่ตนไปล่วงละเมิดได้.
สิทธิยึดหน่วง
เมื่อตอนที่ผมประสบกับปัญหาเดือดร้อน มีเพื่อนของผมซึ่งผมเคยช่วยไว้เห็นใจ จึงได้แบ่งขายที่ดินของเขาให้แก่ผม ในราคา 2 แสนบาท ตอนนั้นผมยังไม่มีเงินพอ เขาจึงให้ผมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันไว้ และผมได้มอบเงินมัดจำให้เขาเพียง 2 หมื่นบาทก่อน และอนุญาตให้ผมพาลูกเมียเข้าไปปลูกบ้านอยู่ในที่ดินแปลงนี้ได้
ต่อมาเมื่อผมมีฐานะดีขึ้น ก็ได้ติดตามให้เขาโอนที่ดินให้ผมพร้อมจัดเตรียมเงินไว้พร้อม แต่จนถึงบัดนี้เจ้าของก็ยังไม่ได้โอนที่ดินให้แก่ผม ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือว่า ผมได้ทราบว่าเพื่อนได้ฝากคนบอกขายที่ดินทั้งหมดรวมทั้งแปลงที่ได้ขายให้ผมแล้ว
กรณีเช่นนี้ผมควรจะทำประการใด เพราะผมบอกให้เพื่อนไปจัดการโอนที่ดินให้ผม เขาก็เฉย ผมเกรงว่าเขาอาจจะเปลี่ยนใจไม่ยอมขายที่ดินแปลงนี้ให้ผมแล้ว ถ้าต้องฟ้องคดีที่ศาล สัญญาที่ทำไว้นานแล้วยังจะฟ้องคดีได้หรือไม่และผมพอจะมีทางชนะคดีได้หรือไม่
สุชาติ
การที่เพื่อนได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทไว้ กรณีนี้มีข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ ได้มีการมอบเงินมัดจำไว้แล้ว และ ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองตลอดมา เมื่อผู้ซื้อเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญามัดจำ ผู้ซื้อจึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 241)
ดังนั้นการที่แม้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายรายนี้จะได้ทำสัญญากันไว้นานมากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม แต่คดีก็ยังไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด
หากมีการฟ้องร้องคดี ข้อเท็จจริงที่ได้มีการเข้าอยู่ในที่ดินและมีการชำระเงินมัดจำไว้ทำให้รูปคดีของผู้จะซื้อค่อนข้างจะได้เปรียบ
สิ่งต้องรีบทำในตอนนี้คือ มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ผู้จะขายไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ก่อน หากได้ทวงถามให้ผู้จะขายไปจดทะเบียนโอนแล้ว แต่ผู้จะขายไม่ยอมไป ผู้จะซื้อจะต้องใช้สิทธิในทางศาล ฟ้องขอต่อศาลให้ผู้จะขายจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้จะซื้อต่อไป.
คุ้มครองชั่วคราวในคดีฟ้องหย่า
ดิฉันมีอาชีพเป็นแม่บ้าน เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมามีปัญหากับสามีเรื่องสามีมีผู้หญิงอื่น จึงได้หอบลูกออกจากบ้านมาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง และออกไปค้าขายหาเลี้ยงตัวเองและลูก ซึ่งยังเล็กไปวัน ๆ
ตอนนี้ดิฉันยังตกลงกับสามีเรื่องทรัพย์สินไม่ได้และสามีบอกว่าทุกบาททุกสตางค์ในการซื้อทรัพย์สินเป็นเงินของเขาทั้งนั้น สามีท้าให้ไปฟ้องศาล ดิฉันจึงอยากจะถามว่า
1. ถ้าก่อนแต่งงานสามีและดิฉันไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย ต่อมาเมื่อได้แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน สามีทำงานนอกบ้าน ส่วนดิฉันไม่ได้ทำงานมีรายได้ โดยสามีให้ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลลูกและสามี ทำให้ทรัพย์สินที่สมสร้างขึ้นมาระหว่างเราสองคนเป็นเงินที่มาจากรายได้ของสามีฝ่ายเดียว ดิฉันจะมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินเหล่านี้หรือไม่
2. ถ้าดิฉันมีสิทธิในทรัพย์สินตามข้อ 1 ด้วย ในระหว่าง การฟ้องร้องอาจต้องใช้เวลา จะมีวิธีป้องกันมิให้สามีนำทรัพย์สินไปขายได้หรือไม่
3. ในระหว่างนี้ถ้าจะขอให้เขานำเงินเดือนมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายดิฉันและลูกไปพลางก่อนจะได้หรือไม่
กนกพร
ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่างทำมาหาได้ในระหว่างการสมรส (ซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์ที่มีผู้อื่นยกให้หรือได้รับมรดกเป็นการส่วนตัวแล้ว) จะเป็นสินสมรสทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดได้มี/หรือไม่มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้นั้นหรือไม่
บางคนได้เปรียบเทียบการสมรสว่าเสมือนการเข้าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ สินสมรสจึงถือเป็นกำไรที่หุ้นส่วนหามาได้ จึงควรเป็นเจ้าของร่วมกันในที่นี้คือทั้งสามีและภริยา แม้ต่อมาสามีภริยาจะแยกกันอยู่ หรือบวชเป็นพระภิกษุ ตราบใดที่ยังไม่ได้หย่ากัน แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ไม่มีรายได้ ก็ต้องถือว่าทรัพย์สินที่หามาได้ในระหว่างการสมรสนั้นเป็นสินสมรส
ดังนั้นถ้าหากว่าการสมรสได้สิ้นสุดลง จะเป็นด้วยคู่สมรสฝ่ายใดตายหรือมีการหย่าหรือศาลมีคำพิพากษาให้การสมรสสิ้นสุดลง ก็ตามทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสทั้งหมดจะต้องมีการแบ่งกรรมสิทธิกันคนละครึ่ง
ในกรณีที่มีการฟ้องหย่า มีการขอแบ่งสินสมรส และขอค่าเลี้ยงชีพสำหรับคู่สมรสที่หากมีการหย่า และขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วยแล้ว หากคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดนั้น ถ้าระหว่างนี้กรณีอาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น ได้สืบทราบมาว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ตกลงจะขายสินสมรสที่อยู่ในความครอบครองของเขาให้ผู้อื่น ซึ่งอาจจะมีผลต่อรูปคดีได้ว่าหากต่อมาศาลพิพากษาให้แบ่งสินสมรสคนละครึ่ง คดีก็ไม่อาจจะบังคับคดีได้ เพราะไม่มีทรัพย์สินอยู่ในขณะที่มีการบังคับคดีแล้ว หรือเปลี่ยนไปใส่ชื่อญาติพี่น้องของตนเองไว้แทนเพื่อมิให้มีการบังคับคดีได้
ดังนั้นจึงสามารถยื่นต่อศาลขอให้มีการอายัดอสังหาริมทรัพย์หรือยึดสังหาริมทรัพย์ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันมิให้นำทรัพย์สินไปจำหน่าย หรือยักย้ายถ่ายเท ในระหว่างที่มีการดำเนินคดีได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1530 บัญญัติว่า ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างการพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจสั่งชั่วคราวให้จัดการตามที่เห็นสมควร เช่น ในเรื่องสินสมรส ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยา และการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร
ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาให้หย่า หรือได้จดทะเบียนหย่ากัน ต้องถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยายังมีอยู่ ซึ่งมีผลให้ยังต้องมีการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ดังนั้นการที่คู่สมรสฝ่ายใดไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมีเงินใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูตนเองและลูก ก็ย่อมมีสิทธิ ที่จะขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสที่มีรายได้เป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างคดีได้
และถึงแม้ว่าฝ่ายที่เดือดร้อนจะมีญาติพี่น้องที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ แต่บุคคลเหล่านั้นถือว่าเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ในระหว่างคดีคู่สมรสอีกฝ่ายซึ่งเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและลูก ย่อมจะใช้วิธีร้องขอต่อศาล ขอให้คู่สมรสที่มีรายได้ช่วยเหลือค่าอุปการะเลี้ยงดู โดยขอให้นำเงินมาวางที่ศาลเพื่อจะได้นำมาเป็นค่าจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ตนและบุตรก่อนศาลมีคำพิพากษาได้.
ใช้บัตรเครดิตเติมน้ำมัน
แม้ว่าจะได้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหารายนี้ไปแล้ว แต่มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้นำมาเล่าฝากเตือนท่านผู้อ่านทั้งหลายที่นิยมใช้บัตรเครดิตในการเติมน้ำมัน ยิ่งในยุคนี้ที่น้ำมันแพงลิตรละเกือบสามสิบบาทด้วยแล้ว คือผู้ที่ขับรถทั้งหลายเมื่อเติมน้ำมันแล้วมักจะส่งบัตรเครดิตให้พนักงานบริการนำไปเข้าเครื่องรูดคิดเงินแล้วนำมาให้เจ้าของบัตรเซ็นชื่อที่รถ แล้วเจ้าของรถก็ขับรถออกไปโดยสะดวก
ผู้อ่านรายนี้ได้เติมน้ำมันเต็มถังที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งคิดเงินจำนวน 1,200 บาท หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากพนักงานให้บริการเกี่ยวกับบัตรเครดิตของธนาคารผู้ใช้บัตรเครดิตสอบถามว่าเจ้าของบัตรใช้รถยนต์ยี่ห้ออะไร ทำไมในวันเดียวกันและปั๊มเดียวกันจึงเติมน้ำมันถึง 3 ครั้ง เป็นเงินรวมเกือบ 4,000 บาท
ผู้ใช้บัตรเครดิตจึงได้ติดต่อประสานไปที่พนักงานผู้นั้นจึงได้พบสลิปการใช้บัตรเครดิตรูดเติมน้ำมัน ซึ่งสลิปใบแรกจำได้ว่าเป็นลายเซ็นของตน แต่สลิปใบที่สองและสามไม่น่าจะใช่ลายเซ็นของเจ้าของบัตร การหาข้อเท็จจริงในทางลับจึงได้ย้อนกลับไปที่ปั๊มดังกล่าวอีกครั้ง
จึงได้ทราบว่าหลังจากมอบบัตรเครดิตให้แล้ว เด็กปั๊มได้รูดบัตรเครดิตไว้ 3 ครั้ง และเอามาให้เจ้าของบัตรเซ็นชื่อ หลังจากนั้นเมื่อมีผู้เติมน้ำมันรายอื่นเติมน้ำมันโดยใช้เงินสดจำนวน 1,000 บาท เด็กปั๊มคนนี้ก็เอาบัตรที่รูดไว้มาดูรูปลายเซ็นของเจ้าของบัตรเครดิตแล้วเซ็นชื่อในสลิปเก็บไว้ให้ปั๊มน้ำมันว่าลูกค้ารายที่เติมน้ำมัน 1,000 บาท ชำระเป็นบัตรเครดิต ส่วนเงินสด 1,000 บาท ก็เอาเข้ากระเป๋าตามระเบียบ และผู้เติมน้ำมันเงินสดรายต่อมาอีก 1,500 บาท ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่พนักงานบัตรเครดิตซึ่งมีหน้าที่แจ้งยอดการใช้เงิน เกิดความสงสัยว่า ทำไมเจ้าของบัตรเครดิตจึงเติมน้ำมันในวันเดียวกันและปั๊มเดียวกันเป็นจำนวนเงินเกือบ 4,000 บาท
แม้จะเอาผิดกับเด็กปั๊มในการดำเนินการตามกฎหมายได้แต่ยังมีเหยื่ออีกเป็นจำนวนมากที่อาจจะเอาเพียงเล็กน้อยเช่น วันละไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิตก็ไม่ได้สนใจรายการใช้บัตรเครดิตในแต่ละครั้งว่ามีความผิดปกติหรือไม่
ดังนั้นทางที่ดีในการส่งบัตรเครดิตเพื่อรูดใช้น้ำมันแต่ละครั้งจึงควรให้เครื่องรูดการ์ดอยู่ในสายตาของเจ้าของบัตร หากต้องนำไปรูดที่ไกล ๆ ก็ควรตามไปดู หรือใช้เงินสดจะปลอดภัยและสบายใจกว่า.
การกู้ยืมเงินของคู่สมรส
การที่ภริยาของผมกู้ยืมเงินก้อนหนึ่งจากเพื่อน โดยปลอมลายมือชื่อผมในหนังสือสัญญากู้เงิน ที่สำคัญคือเธอเอาโฉนดที่ดินบ้านที่เป็นสินสมรสไปเป็นหลักประกันโดยเขียนระบุไว้ในสัญญาว่าให้ผู้ให้กู้ยึดถือโฉนดที่ดินแปลงนี้ไว้เป็นประกันหนี้ ผมในฐานะสามีจะได้รับความเสียหายหากภริยาไม่ชำระหนี้ด้วยหรือไม่ และสามารถฟ้องเพิกถอนสัญญากู้นี้ได้หรือไม่
ภาคภูมิ
การที่กฎหมายกำหนดว่าในการจัดการสินสมรสของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งด้วยนั้น ปัญหาก็คือว่าการที่ภริยาไปกู้เงินเจ้าหนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามีนั้น จะทำให้สามีเสียหายหรือไม่เพราะเป็นการนำโฉนดที่ดินที่เป็นสินสมรสไปเป็นประกันการกู้ยืมเงินนี้ด้วย จะเห็นได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างภริยากับเจ้าหนี้ที่มีการปลอมลายมือชื่อสามีนั้นเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่าภริยากู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี ซึ่งเท่ากับว่าสัญญากู้ยืมเงินนี้ไม่สมบูรณ์ซึ่งก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับสินสมรสของสามีแต่อย่างใด
เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(4) บัญญัติไว้ในเรื่องของ การให้กู้ยืมเงิน ว่าสามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง พูดง่าย ๆ คือ กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสที่จะให้ผู้อื่นยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในการจัดการสินสมรส ส่วนการที่คู่สมรสเป็นผู้กู้ยืมเงินจากผู้อื่นเอง ศาลได้วางแนววินิจฉัยมาตราดังกล่าวไว้ว่าเป็นเรื่องการกู้ยืมมิใช่เรื่องการให้กู้ยืม จึงไม่ต้องห้ามในการที่จะต้องขอความยินยอมจากสามีแต่อย่างใด
ส่วนการที่ภริยานำโฉนดที่ดินที่เป็นสินสมรสไปเป็นประกันหนี้นั้น ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะฟ้องหนี้ในสัญญากู้และศาลมีคำสั่งให้นำโฉนดที่ดิน ฉบับนี้ส่งในชั้นศาลเพื่อการบังคับคดี ถ้าหากว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ฟ้องภริยานั้นสามีมิได้เป็นหนี้ร่วม กับภริยาแล้วจะยังไม่ถือว่าเป็นกรณีที่สามีได้รับความเสียหายหรือเป็นการโต้แย้งสิทธิของสามี การบังคับคดีเพื่อชำระหนี้จึงไม่กระทบกระเทือนสิทธิของสามีแต่อย่างใด เพราะเจ้าหนี้จะบังคับคดีหนี้ส่วนตัวของภริยาจากสินสมรสได้เพียงในส่วนของภริยาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับสินสมรสในส่วนที่เป็นของสามี
การทำนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินโดยเอาโฉนดที่ดินที่เป็นสินสมรสไปเป็นประกันหนี้ดังกล่าวจึง ไม่การกระทบสิทธิของสามีแต่อย่างใดและไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของสามี ถ้าสามีจะฟ้องต่อศาล เพื่อขอเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงิน ศาลอาจจะยก ฟ้องได้เพราะสามียังไม่มีอำนาจฟ้องด้วยเหตุผลข้างต้น (อ่านรายละเอียดในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2551).
หนังสือหย่า
ผมกับภริยาได้แยกกันอยู่และเมื่อเดือนที่แล้วได้ทำหนังสือหย่าถือกันไว้คนละฉบับ ซึ่งนัดกันไว้ว่าจะไปจดทะเบียนหย่ากันในเดือนนี้ ขณะนี้เธอโทรฯ มาบอกว่าเธอไม่ไปอำเภอเว้นแต่ว่าผมจะจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูเธอก้อนหนึ่งก่อน และเป็นเงินที่มากพอสมควร ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะผมไม่มี และทุกวันนี้เพื่อเห็นแก่ลูกผมก็ต้องใช้หนี้ที่เธอไปก่อไว้หลายราย ผมอยากทราบว่าหนังสือหย่าที่เรามีอยู่จะมีผลในทางกฎหมายแล้วหรือไม่ ผมนำหนังสือหย่าไปจดทะเบียนหย่าเองที่อำเภอได้หรือไม่เพราะผมกลัวว่าเธอจะไปสร้างหนี้มาให้ผมรับผิดชอบอีก
พิสุทธิ์
หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ การจดทะเบียนสมรสแล้ว ดังนั้นเมื่อการสมรสต้องกระทำโดยทางทะเบียน การหย่ามีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีการลบล้างทางทะเบียน เช่นกัน มิฉะนั้นการหย่าย่อมไม่สมบูรณ์ นั่นคือชายหญิงแม้ทำหนังสือหย่ากันไว้แต่ถือว่ายังมีฐานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย การทำหนังสือหย่ายังไม่มีผลทำให้การสมรสสิ้นสุดลง เหตุผลสำคัญที่กฎหมายยังไม่ให้หนังสือหย่ามีผลให้การสมรสสิ้นสุดเพราะเพื่อให้สามีภริยาได้มีโอกาสยับยั้งชั่งใจ ก่อนการจดทะเบียนหย่าอาจยังมีสิทธิเปลี่ยนใจหรือทบทวนหลาย ๆ ด้านซึ่งอาจมีสิทธิคืนดีกันได้
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำหนังสือหย่าไปอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อจดทะเบียนหย่าเองโดยตรงนั้น ถ้าพูดกันในภาษากฎหมายจะใช้คำว่า สภาพแห่งหนี้ยังไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทางแก้คือถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าให้ อีกฝ่ายหนึ่งหากประสงค์หย่าต้องฟ้องศาลเพื่อให้บังคับตามหนังสือหย่าให้ ซึ่งศาลจะตัดสินโดยใช้ถ้อยคำเช่น ให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ หลังจากนั้นจึงสามารถดำเนินการจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนได้ เมื่อนายทะเบียนได้จด ทะเบียนการหย่าให้แล้ว การหย่าจะมีผลสมบูรณ์นับแต่วันจดทะเบียนหย่าเป็นต้นไป.
บันทึกท้ายทะเบียนหย่า
สามีและดิฉันจดทะเบียนหย่าได้ 8 ปีแล้ว โดยมีทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา คือ ที่ดิน 2 แปลง สามีได้ตกลงไว้ท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินว่า ที่ดินแปลงแรกยกให้ดิฉัน แปลงที่ 2 ยกให้ลูก ซึ่งตอนหย่ากันลูกอายุเพียง 8 ขวบ แต่สามีก็มิได้ปฏิบัติตามสัญญาจดทะเบียนโอนตามที่ได้ตกลงกันไว้ขณะหย่า กลับเอาภริยาใหม่เข้ามาอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่ยกให้ดิฉัน ถ้าตอนที่ทำสัญญามิได้ให้ลูกเป็นคู่สัญญารับรู้ด้วย จะต้อง มีการฟ้องร้องเพื่อให้สามีปฏิบัติตามข้อตกลง ในทะเบียนหย่าได้หรือไม่
วรรณดี
กำหนดเวลาการฟ้องร้องคดีที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า อายุความ นั้น กฎหมายจะเขียนไว้ในแต่ละเรื่องว่ามีอายุความฟ้องคดีภายในกำหนดเวลากี่ปี และถ้ากรณีที่สัญญาใดไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความฟ้องร้องคดีไว้ ก็ต้องใช้อายุความฟ้องร้องคดีทั่วไป คือต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา
ข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างหนึ่ง เมื่อ
ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดอายุความการฟ้องร้องคดีไว้ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีอายุความที่ต้องมีการฟ้องร้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา ดังนั้นกรณีที่สามีได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่ายกทรัพย์ให้ภริยา คู่สัญญาในที่นี้คือ สามีฝ่ายหนึ่ง กับภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นภริยาในฐานะคู่สัญญาจะต้องฟ้องคดีให้สามีโอนที่ดินให้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา
แต่สำหรับข้อตกลงในท้ายทะเบียนหย่าที่จะยกทรัพย์สินให้ลูกนั้น จะเห็นได้ว่าลูกจะ มิได้เป็นคู่สัญญาด้วย แต่เมื่อได้มีข้อตกลงข้อหนึ่งที่ให้ลูกเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาด้วย ในทางกฎหมายจะถือว่าลูกเป็นบุคคลที่สามหรือบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญา จึงเรียกสัญญาประเภทนี้ว่า สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก อีกสัญญา
หนึ่งด้วย
โดยสิทธิของบุคคลภายนอกที่มิได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาตั้งแต่แรกจะยังไม่เกิด จนกว่าบุคคลภายนอกผู้นั้นจะได้แสดงสิทธิว่าตนจะเข้ารับประโยชน์จากสัญญา ดังนั้นอายุความ 10 ปีของบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สามผู้เข้ารับประโยชน์จากสัญญาจึงเริ่มนับ 1 ตั้งแต่เมื่อ
ได้แสดงให้เห็นว่าตนจะเข้ารับประโยชน์จากสัญญา เช่น ถ้าได้ทวงถามให้บิดาโอนที่ดินให้ลูกตามที่ตกลงกันไว้ ตั้งแต่เดือนมกราคา 2553 คดีก็จะขาดอายุความฟ้องร้องสำหรับการจะฟ้องศาลเพื่อให้บังคับคดีให้บิดาโอนที่ดินให้ลูกภายในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้น ดูตัวอย่างคดี
ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2551.
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
สามีอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่งมาก่อนและปัจจุบันก็ยังอยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและไม่มีลูกด้วยกัน ส่วนดิฉันกำพร้าพ่อแม่และสามีรับเป็นผู้อุปการะส่งเสียให้เรียน และรับดิฉันมาจากต่างจังหวัดจนดิฉันเรียนจบปริญญาตรี ต่อมาดิฉันสอบบรรจุข้าราชการได้ สามีจึงได้จดทะเบียนสมรสกับดิฉันเพราะดิฉันตั้งครรภ์ หลังจากคลอดลูกได้ประมาณ 2 เดือน จึงได้ทราบว่าผู้อุปการะของดิฉันมีภริยาอยู่แล้ว
สามียื่นเงื่อนไขว่าจะยอมหย่าถ้าดิฉันยกลูกให้สามีและผู้หญิงคนนั้น ซึ่งเขาทั้งคู่ร่ำรวยมากและไม่มีทายาท ดิฉันทราบเต็มอกว่าฝ่ายหญิงไม่ได้ต้องการลูกดิฉันเธออยากได้แต่ทะเบียนหย่า ดิฉันจึงได้ทำเรื่องขอย้ายกลับจังหวัดภูมิลำเนาเดิมโดยผู้ใหญ่ช่วยเหลือและแนะนำว่าต้องฟ้องหย่า สิ่งที่ดิฉันสงสัยคือถ้าฟ้องโดยไม่พูดถึงค่าอุปการะ เลี้ยงดูกัน วันข้างหน้าหากดิฉันลำบากจะขอค่าเล่าเรียนลูกจากเขาได้อีกหรือไม่
จิตราวดี
แม้การสมรสของสามีภริยาจะสิ้นสุดลง แต่ไม่ทำให้หน้าที่บิดามารดาจะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้นแม้ศาลจะตัดสินให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ยังมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ด้วย โดยศาลจะให้ฝ่ายใดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือทั้งสองฝ่ายต้อง ช่วยกันจ่ายค่าเลี้ยงดู ศาลจะดูจากความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบกัน และถึงแม้ศาลจะไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วย แต่ต่อมาถ้าฝ่ายนั้นมีพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ โดยอาจเพิ่ม ลด หรือกลับให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้
บางครั้งคดีที่ศาลตัดสินแล้วไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูไว้ แต่บิดามารดายังมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์เท่า ๆ กัน อธิบายตัวอย่างง่าย ๆ เช่น บิดามารดาหย่ากันโดยมิได้กล่าวถึงค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ถ้ามารดาเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียวจนเด็กบรรลุนิติภาวะ มารดาจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนบุตรบรรลุนิติภาวะได้ ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับศาลจะใช้ดุลพินิจ แต่การฟ้องเรียกค่าอุปการะย้อนหลังนั้น มีอายุความการฟ้องร้องด้วย คือเรียกคืนได้ภายในอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่ชำระไปแล้ว.