ใครรับรองความถูกต้องของงบการเงิน ?
อาจารย์นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ
สาธารณชนส่วนใหญ่รวมทั้งนักกฎหมายมักเข้าใจว่า ผู้สอบบัญชีเป็นผู้รับรองความถูกต้องของงบการเงิน ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ดังนั้นในบรรดากฎหมายเก่าๆ (เช่น ประมวลรัษฎากร) มักกล่าวว่า ผู้สอบบัญชีเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของงบการเงิน
บทความนี้ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับผู้รับรองความถูกต้องของงบการเงินว่าเป็นใคร ? และความถูกต้องดังกล่าวหมายถึงอะไร ? ตลอดจนงบการเงินที่รับรองแล้วมีประโยชน์จริงหรือ ?
1. ใครเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่องบการเงิน ?
พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (หรือนิติบุคคล หรือผู้บริหารซึ่งเป็นผู้กระทำการแทนนิติบุคคล) ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติและจัดทำงบการเงิน ผู้ทำบัญชี(นักบัญชี หรือผู้ลงนามในแบบ ส.บช.3) ต้องจัดทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีให้ตรงตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี ส่วนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องตรวจสอบงบการเงินและแสดงความเห็นต่องบการเงิน
ดังนั้นผู้บริหารจึงเป็นผู้รับผิดชอบในความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลในงบการเงิน ส่วนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญของงบการเงิน ตรงกับมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 200 วัตถุประสงค์และหลักการพื้นฐานของการสอบบัญชี และตรงกับรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่กำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบต่อการจัดทำและนำเสนอข้อมูลในงบการเงิน ส่วนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับผิดชอบในการแสดงความเห็นต่องบการเงิน
ประมวลรัษฎากรกำหนดให้นิติบุคคลต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ พร้อมงบการเงิน ซึ่งต้องมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินนั้นก่อนยื่นต่อกรมสรรพากร ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีกำหนดให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรมีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินตามแนวทางและวิธีการตรวจสอบที่กรมสรรพการกำหนด และเป็นผู้รับผิดชอบในการรายงาน (ไม่ใช่การแสดงความเห็น) ต่องบการเงินดังกล่าว ส่วนผู้บริหารของกิจการเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในงบการเงินเหล่านี้ ดังนั้นผู้บริหารจึงเป็นผู้รับผิดชอบในความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลในงบการเงิน ส่วนผู้สอบบัญชีภาษีอากรเป็นผู้รายงานเกี่ยวกับข้อตรวจพบ
ในเมื่อผู้สอบบัญชีภาษีอากรไม่ใช่ผู้รับรองความถูกต้องของงบการเงิน แล้วผู้สอบบัญชีภาษีอากรตรวจสอบงบการเงินไปทำไม คำตอบเพื่อให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรในฐานะผู้ที่มีความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความซื่อสัตย์สุจริตและความสามารถช่วยยืนยันหรือพิสูจน์สิ่งที่ผู้บริหารได้ให้การรับรองไว้เกี่ยวกับงบการเงิน
2. ความหมายของสิ่งที่ผู้บริหารได้ให้การรับรองไว้เกี่ยวกับงบการเงินคืออะไร ?
มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 200 วัตถุประสงค์และหลักการพื้นฐานของการสอบบัญชี ได้ให้ความหมายของสิ่งที่ผู้บริหารได้ให้การรับรองไว้เกี่ยวกับงบการเงิน(Managements assertions หรือ Financial Statements Assertions) ไว้ดังนี้
สิ่งที่ผู้บริหารได้ให้การรับรองไว้เกี่ยวกับงบการเงินหมายถึงการให้การรับรอง(ความถูกต้องครบถ้วนของงบการเงิน)โดยผู้บริหาร (representations by management) โดยการแสดงออกอย่างชัดเจนหรือไม่ก็ตามที่มีอยู่ในงบการเงิน
สิ่งที่ผู้บริหารได้ให้การรับรองไว้เกี่ยวกับงบการเงิน คือความถูกต้องและครบถ้วนเท่านั้นตามที่สาธารณชนเข้าใจกันใช่หรือไม่ คำตอบไม่ใช่ มันมีความหมายกว้างกว่านี้
3. ประเภทของการรับรองงบการเงินมีอะไรบ้าง ?
คำว่า ถูกต้องครบถ้วน ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีหมายความว่าอะไร คือถูกต้องตามควรในสาระสำคัญ แล้วความถูกต้องครบถ้วนดังกล่าวจำแนกออกเป็นกี่ประเภทหรือกี่อย่างมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 200 ได้จัดประเภทของการรับรองงบการเงินไว้ 7 อย่างดังนี้
(1) ความมีอยู่จริง (Existence)
(2) สิทธิและภาระผูกพัน (Right and Obligations)
(3) เกิดขึ้นจริง (Occurrence)
(4) ความครบถ้วน (Completeness)
(5) การตีราคา (Valuation)
(6) การวัดมูลค่า (Measurement)
(7) การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูล (Presentation and Disclosure)
ต่อไปจะอธิบายแต่ละประเภทของการรับรองงบการเงินข้างต้น พอสังเขป
(1) ความมีอยู่จริง
รายการในงบการเงิน ณ วันที่ใดวันที่หนึ่ง (ณ วันที่ในงบดุล) มีอยู่จริง หมายความว่า สินทรัพย์มีอยู่อย่างแท้จริง หนี้สินมีอยู่อย่างแท้จริง ดังนั้นส่วนของเจ้าของย่อมมีอยู่จริงอย่างแท้จริงด้วย เพราะว่า สมการบัญชีกำหนดว่า
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
หรือ ส่วนของเจ้าของ = สินทรัพย์ หนี้สิน (บางทีเรียกว่า สินทรัพย์สุทธิ)
ความมีอยู่จริงมุ่งเน้นไปยังยอดคงเหลือของบัญชี (account balance)หรือของรายการต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในงบดุล ณ วันสิ้นงวดบัญชี ความมีอยู่จริงไม่ได้หมายถึง ความมีตัวตนหรือจับต้องได้เท่านั้น สินทรัพย์บางรายการไม่มีตัวตน หรือจับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริงก็ได้ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ค่าความนิยม เป็นต้น
รายการใดในงบการเงินที่ไม่มีอยู่จริงจะไม่นำมาแสดงไว้ในงบการเงิน ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2544 ที่กำหนดในข้อ 3 ว่า ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของธุรกิจไม่มีรายการที่ต้องแสดงรายการย่อครบตามแบบที่กำหนดไว้ ก็ให้งดเว้นไม่ต้องแสดงรายการที่ไม่มีดังกล่าว
รายการใดในงบการเงินที่ไม่มีอยู่จริง แต่ผู้บริหารแสดงรายการนั้นไว้ในงบการเงิน นักกฎหมายเรียกว่า การบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงิน สาธารณชนเรียกว่า รายการปลอม (ไม่จริง)
(2) สิทธิและภาระผูกพัน
สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม หรืออำนาจที่จะกระทำการใดๆ ได้อย่างอิสระ โดย ได้รับการรับรองตามกฎหมาย
สินทรัพย์เป็นของกิจการ หรือกิจการมีสิทธิเหนือสินทรัพย์ หรือกิจการมีอำนาจควบคุมสินทรัพย์และใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้ ณ วันที่ใดวันที่หนึ่ง (ณ วันที่ในงบดุล) อนึ่งสินทรัพย์ (ทางการบัญชี) มีความหมายแตกต่างจากทรัพย์สิน (ทางกฎหมาย) เพราะว่า การพิจารณาสินทรัพย์มุ่งเน้นที่เนื้อหาและความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจ (อำนาจในการควบคุมหรือครองครองหรือใช้ประโยชน์) มากกว่ารูปแบบ (สัญญา) ทางกฎหมาย (พิจารณาจากกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของ)
ภาระผูกพัน หมายถึง ความผูกพันหรือหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่จะต้องกระทำการ (หรือปฏิบัติ) อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตกลงไว้
หนี้สินเป็นของกิจการ หรือกิจการมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายหรือชำระหนี้สิน ณ วันที่ใดวันที่หนึ่ง (ณ วันที่ในงบดุล)
ตามแม่บทการบัญชี กิจการจะรับรู้รายการ (หรือการรวมรายการเข้าเป็นส่วนหนึ่ง) ในงบการเงิน เมื่อรายการดังกล่าวเป็นไปตามคำนิยามขององค์ประกอบของงบการเงิน ดังนี้
สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีตซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต
หนี้สิน หมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการ ภาระผูกพันดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งการชำระภาระผูกพันนั้นคาดว่าจะส่งผลให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ
(3) เกิดขึ้นจริง
รายการ (รายการค้าหรือรายการบัญชี) หรือเหตุการณ์ (ทางเศรษฐกิจ) (ในอดีต) ของกิจการซึ่งได้บันทึกบัญชีไว้ (ได้)เกิดขึ้นจริงและเกี่ยวข้องกับกิจการ ในระหว่างงวด (หรือรอบระยะเวลาบัญชี โดยทั่วไปคือ 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม)
เกิดขึ้นจริงมุ่งเน้นไปยังรายการบัญชีทั้ง 5 หมวดบัญชี (หรือองค์ประกอบของงบการเงิน) คือสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้ และค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้น หรือรายการเคลื่อนไหว (เดบิตหรือเครดิต) ของบัญชีในช่วงหรือรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง แต่เนื่องจาก ณ วันสิ้นงวด องค์ประกอบของงบการเงิน 3 อย่างแรก (สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ) ได้หายอดคงเหลือ ณ วันสิ้นงวดบัญชี ไปแสดงไว้ในงบดุลตามที่กล่าวใน (1) ความมีอยู่จริง แล้ว จึงมักไม่กล่าวถึงในเรื่องเกิดขึ้นจริงอีก ส่วนองค์ประกอบของงบการเงิน 2 อย่างหลัง (รายได้และค่าใช้จ่าย)ได้หายอดคงเหลือ เพื่อปิดบัญชีและคำนวณหากำไร (ขาดทุน) สุทธิสำหรับงวดบัญชี ไปแสดงไว้ในงบกำไรขาดทุน จึงมักกล่าวถึงในเรื่องเกิดขึ้นจริง
ตามแม่บทการบัญชี กิจการจะรับรู้รายการในงบการเงิน เมื่อรายการดังกล่าวเข้าเงื่อนไขการรับรู้ คือ รายการนั้นมีความเป็นไปไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของรายการดังกล่าวจะเข้าหรือออกจากกิจการ คำว่าความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ หมายถึงอะไร ตอบคือความน่าจะเป็นหรือโอกาสที่รายการดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับค่อนไปทางข้างแน่ (ว่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน) มากกว่าค่อนไปทางข้างไม่แน่ (ว่าไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน)
4) ความครบถ้วน
สินทรัพย์ทุกรายการ หนี้สินทุกรายการ รายการ (รายการค้าหรือรายการบัญชี) ทุกรายการ หรือเหตุการณ์(ทางเศรษฐกิจ)ทุกเหตุการณ์ ได้บันทึกบัญชีไว้ทั้งหมด หรือเปิดเผยข้อมูลไว้ทั้งหมดในงบการเงินแล้ว
กล่าวคือ กิจการไม่มีการละเว้นการบันทึกบัญชี หรือมิได้เปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดเผยไว้ในงบการเงิน นักกฎหมายเรียกว่า ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงิน สาธารณชนเรียกว่าไม่หลงลืมรายการ
รายการใดเป็นไปตามคำนิยามขององค์ประกอบของงบการเงิน (ดูเรื่อง (2) สิทธิและผูกพัน) และเข้าเงื่อนไข 2 ข้อคือ
ก. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของรายการดังกล่าวจะเข้าหรือออกจากกิจการ (ดูเรื่อง (3) เกิดขึ้นจริง) และ
ข. รายการดังกล่าวมีราคาทุนหรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ (ดูเรื่อง (6) การวัดมูลค่า)
รายการนั้นต้องรับรู้ไว้ในงบการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การรับรู้คือการแสดงรายการในงบการเงินด้วยตัวอักษร (เช่น รายการย่อแต่ละบรรทัด) และจำนวนเงิน (ตัวเลขที่มีหน่วยเป็นบาท) พร้อมกับการรวมจำนวนเงินนั้นในยอดรวมของงบการเงินดังกล่าว การที่กิจการมิได้รับรู้รายการในงบการเงินทั้งที่เข้าเกณฑ์การรับรู้รายการถือว่าเป็นข้อผิดพลาด (ไม่ครบถ้วน) ที่ไม่อาจแก้ไขด้วยการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินหรือคำอธิบายเพิ่มเติม
ความครบถ้วนของข้อมูลในงบการเงินอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของความมีนัยสำคัญ (ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ) และต้นทุนที่เสียไปในการจัดหาข้อมูลในงบการเงิน (ควรต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากข้อมูลนั้น)
(5) การตีราคา
กิจการบันทึกสินทรัพย์ หรือหนี้สิน ในราคาที่เหมาะสม ณ วันที่ใดวันที่หนึ่ง (ณ วันที่ในงบดุล)
กล่าวคือ ณ วันสิ้นงวดบัญชี มาตรฐานการบัญชีแต่ละเรื่องจะกำหนดมูลค่าที่จะใช้วัดสินทรัพย์ หรือหนี้สินแต่ละอย่างแตกต่างกันไป เพื่อให้สินทรัพย์และหนี้สินสะท้อนมูลค่าหรือราคาที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น
- เงินลงทุนชั่วคราว (หลักทรัพย์เพื่อค้า) ต้องแสดงด้วยมูลค่ายุติธรรม
- ลูกหนี้การค้า ต้องแสดงด้วยมูลค่าสุทธิจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
- สินค้าคงเหลือ ควรตีตามราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
- ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ต้องแสดงด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ (แนวทางที่กำหนดให้ถือปฏิบัติ) หรือราคาที่ตีใหม่ (แนวทางที่อาจเลือกปฏิบัติ)
(6) การวัดมูลค่า
กิจการบันทึกรายการ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ในจำนวน(เงิน)ที่ถูกต้องเหมาะสม และกิจการบันทึกรายได้หรือค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีที่ถูกต้องหรือตรงตามงวดบัญชี และเป็นไปตามเกณฑ์คงค้าง (ในงบดุล และงบกำไรขาดทุน)
ตามแม่บทการบัญชี กิจการจะรับรู้รายการในงบการเงิน เมื่อรายการดังกล่าวเข้าเงื่อนไขการรับรู้ คือ รายการดังกล่าวมีราคาทุนหรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ ความเชื่อถือได้ของการวัดมูลค่า หมายถึงความเชื่อถือได้ของการกำหนดจำนวนเงินเพื่อรับรู้องค์ประกอบของงบการเงิน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้เกณฑ์ในการวัดมูลค่า เช่น ราคาทุนเดิม (มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่เกิดรายการ) ราคาทุนปัจจุบัน มูลค่าที่จะได้รับ มูลค่าปัจจุบัน เป็นต้น มาตรฐานการบัญชีส่วนใหญ่กำหนดให้รับรู้รายการเริ่มแรกด้วยราคาทุนเดิม
(7) การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูล
กิจการได้เปิดเผย จัดประเภท และบรรยายลักษณะของรายการในงบการเงิน ตามแม่บทการบัญชีที่เกี่ยวข้อง
ส่วนประกอบของงบการเงินที่สมบูรณ์มี 5 ส่วนคือ งบดุล งบกำไรขาดทุน งบใดงบหนึ่งระหว่างงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของหรืองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงิน
การแสดงรายการแต่ละบรรทัดในงบการเงิน ทั้งในหน้างบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ(หรือใช้งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จแทนก็ได้) และงบกระแสเงินสด
การเปิดเผยข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งมี 2 ส่วนคือ สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ และข้อมูลเพิ่มเติมอื่น
พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ได้กำหนดการแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำเป็นไปตามรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า พ.ศ. 2544 รวมทั้งมาตรฐานการบัญชีแต่ละเรื่องยังได้กำหนดการแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนั้นไว้ด้วย
การที่พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดรูปแบบของงบการเงินหรือให้จัดทำงบการเงินเปรียบเทียบ 2 งวดบัญชี จะทำให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถเปรียบเทียบงบการเงินของกิจการหนึ่งกับอีกกิจการหนึ่งได้ และสามารถเปรียบเทียบงบการเงินของกิจการเดียวกันของงวดบัญชีปัจจุบันกับงวดบัญชีก่อนได้
4. งบการเงินที่รับรองแล้วมีประโยชน์จริงหรือ ?
งบการเงินที่รับรองความถูกต้องโดยผู้บริหารและผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีภาษีอากร ย่อมจะมีลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน (คุณสมบัติที่ทำให้ข้อมูลในงบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน) 3 ประการตามแม่บทการบัญชี คือ
1. ความเชื่อถือได้ ประกอบด้วยลักษณะรอง 5 อย่างคือ
1.1 การเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรม
1.2 เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ
1.3 ความเป็นกลาง
1.4 ความระมัดระวัง
1.5 ความครบถ้วน
2. การเปรียบเทียบกันได้
3. ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (ความมีนัยสำคัญ)
แต่หากผู้ใช้งบการเงิน (เช่น กรมสรรพากร) ไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีที่ใช้ข้อมูลในงบการเงิน งบการเงินนั้นจะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดทั้งสิ้น แม่บทการบัญชีจึงถือว่าความเข้าใจได้ (ของผู้ใช้งบการเงิน) เป็นลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน ดังนั้นผู้ใช้งบการเงินควรมีความรู้ตามควรเกี่ยวกับธุรกิจ กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจและการบัญชี รวมทั้งมีความตั้งใจตามควรที่จะศึกษาข้อมูลในงบการเงินดังกล่าว จึงจะทำให้งบการเงินนั้นมีประโยชน์อย่างแท้จริง
5. ข้อชวนคิดส่งท้าย
เมื่อใครก็ตาม (เช่น ธนาคาร นายจ้าง สภาวิชาชีพบัญชี) ต้องการหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียน จะให้ผู้เขียนหรือใครผู้นั้นถ่ายสำเนาเอกสาร พร้อมทั้งให้ผู้เขียนลงลายมือชื่อ (หรือลายเซ็น) กำกับไว้ว่า รับรองสำเนาถูกต้อง ผู้เขียนรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับการลงลายมือชื่อในลักษณะเช่นนี้ทุกครั้ง เพราะว่า
1. บัตรประจำตัวประชาชน ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ออกโดยผู้เขียน (ผู้เขียนไม่ได้ทำบัตรนี้ ถ้าหากผู้เขียนทำบัตรนี้เองแสดงว่าเป็นบัตรปลอม) ดังนั้น ผู้เขียนรับรองบัตรนี้เองไม่ได้ ต้องให้กรมการปกครองเป็นผู้รับรอง แต่ผู้เขียนได้รับคำชี้แจงจากใครผู้นั้น (เช่น ธนาคาร นายจ้าง สภาวิชาชีพบัญชี) ว่าให้รับรองสำเนาเอกสาร ไม่ใช่รับรองบัตร (ว่าเป็น บัตรจริงหรือบัตรปลอม)
2. ให้ผู้เขียนรับรองสำเนาเอกสารนี้ไม่ได้อีก เพราะว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้ทำสำเนาเอกสารนี้ เครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อต่างๆ ต่างหากที่เป็นผู้ทำสำเนาเอกสารนี้ จึงต้องให้ผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อนั้นรับรองว่าเครื่องถ่ายเอกสารของเขาสามารถสำเนาเอกสารตรงกับต้นฉบับ (บัตร)
สรุปว่า ผู้เขียนจะไม่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารว่าถูกต้อง แต่ใครผู้นั้น (เช่นธนาคาร นายจ้าง สภาวิชาชีพบัญชี) ไม่ยอมรับสำเนาเอกสารที่ไม่มีลายมือชื่อรับรองของผู้เขียน ทั้งที่ผู้เขียนพยายามชี้แจงและอธิบายเหตุผลข้างต้น แต่ใครผู้นั้นไม่รับฟังหรือฟังแล้วไม่เข้าใจ และสงสัยว่าทำไมผู้เขียนจึงเรื่องมากอย่างนี้
ใครๆ เขาก็ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทั้งนั้น ในที่สุด เพื่อให้เรื่องยุติและดำเนินการต่อไปได้ ผู้เขียนต้องกล้ำกลืนฝืนใจลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารถูกต้องทุกครั้งไป ทั้งๆ ที่ผู้เขียนรู้แน่แก่ใจตนว่ายังไม่ได้ตรวจสอบให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสมเลย (ไม่มีการสอบถามหรือไม่ได้ขอหนังสือรับรองหรือไม่ได้ขอหนังสือยืนยันจากกรมการปกครองและบริษัทผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร แต่อย่างใด)
ผู้เขียนหวั่นวิตกเหลือเกินว่า ใครผู้นั้นขอตรวจสอบหลักฐานว่าเพียงพอเหมาะสมตามที่ผู้เขียนได้รับรองไว้หรือไม่ แต่ข้อเท็จจริง ผู้เขียนขอยอมรับว่าไม่มีหลักฐานใดๆในเรื่องนี้เลย เมื่อไม่มีหลักฐานแล้ว จะให้ผู้เขียนลงลายมือชื่อรับรองได้อย่างใด ถ้าผู้เขียนลงลายมือชื่อรับรองไป เท่ากับผู้เขียนรับรองเอกสารเท็จ สงสัยว่าสัญชาตญาณความเป็นผู้สอบบัญชีของผู้เขียนมารบกวนจิตใจของผู้เขียนเสียเอง ผู้เขียนสงสัยว่าผู้อื่นที่ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องนั้น เขาตรวจสอบและมีหลักฐานแล้วหรือจึงได้รับรองกัน ผู้เขียนสอบถามผู้อื่นว่ามีหลักฐานหรือ เขาตอบว่าไม่มี หลักฐาน ผู้อ่านคิดอย่างไรในเรื่องนี้ ผู้เขียนคิดมากไปหรือเปล่าครับ สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูล : นิตยสาร Tax & Business